จากการค้นหาสอบทานข้อมูลร่วมกันระหว่างหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รวมถึงภาคีเครือข่ายภาคราชการ เอกชน ประชาสังคม ข้อมูลครัวเรือนยากจนระดับพื้นที่ พ.ศ.2565 พบครัวเรือนยากจนในพื้นที่ อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ มีจำนวนทั้งสิ้น 321 ครัวเรือน ระดับวิกฤตความยากจนส่วนใหญ่ อยู่ในระดับอยู่ยาก จำนวน 253 ครัวเรือน
จึงเกิดโครงการแก้จน บนฐานทุน และเสริมศักยภาพการสร้างรายได้ ผ่านโรงเรียนปลูกผักแก้จน เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงที่ดินทำกิน ช่วยเหลือชาวบ้านหลุดพ้นความยากจน มีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีพ
การบริหารจัดการแบบธุรกิจแบบแปลงรวม
รวมถึงพัฒนาศักยภาพธุรกิจชุมชน เกิดแนวทางการดำเนินงานในการบริหารจัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน และเชื่อมโยงครัวเรือนยากจนในการพัฒนาอาชีพ ธนาคารชุมชน การปลูกผักปลอดจากสารพิษตามมาตรฐาน GAP สารชีวภัณฑ์ การบริหารจัดการแปลงรวม การแปรรูปผลผลิต การเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย รวมถึงการตลาดด้วย
อ่านข่าว : บพท.จับมือ ม.กาฬสินธุ์ แก้จนลดเหลื่อมล้ำใช้ข้อมูลจริงสร้างงาน-เสริมแกร่งฐานราก
ต้องลงมือทำให้ดู
นายประครอง แจ่มสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านดงสว่าง ต.สงเปลือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ เล่าว่า เมื่อมีโครงการโรงเรียนปลูกผักไร้จน ชาวบ้านก็มีความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการ และคนที่ไม่เห็นด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ลงมือทำเพื่อให้ชาวบ้านได้เห็น ว่าโครงการนี้ได้ผลจริง
แรกเริ่มไม่มีทุนก็ค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ และมีทาง ม.กาฬสินธุ์ สนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์
ประครอง แจ่มสุวรรณ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านดงสว่าง ต.สงเปลือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์
แรงจูงใจเกิดขึ้นเมื่อได้เห็นผักที่ปลูกเจริญงอกงาม จนทำให้ชาวบ้านเริ่มทำตามกันหลายครัวเรือน ครั้งแรกที่เริ่มทำก็ประสบปัญหาการขาดน้ำ และแก้ปัญหาโดยการเจาะบ่อบาดาล 1 บ่อ แต่น้ำก็ไม่เพียงพอ ต้องเจาะเพิ่มอีก 1 บ่อ
เดิมทีชาวบ้านมีอาชีพทำไร่ ทำนา เป็นหลัก แต่ก็ต้องเพิ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก ช่วงหน้าแล้งก็ต้องออกไปรับจ้างทำงานนอกพื้นที่ ทำไร่มัน ไร่อ้อย แต่ปัจจุบันชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ และสามารถมีรายได้ตลอดทั้งปี
โรงเรียนปลูกผักแก้จน
ปลูกผักรายได้เพิ่ม-ปลดหนี้
ธิติพร พิกุลหอม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 15 ต.สงเปลือย อ.นามน จ.กาฬสินธุ์ และผู้วางแผนการผลิตวิสาหกิจชุมชน เล่าถึงการจัดสรรพื้นที่ให้กับชาวบ้าน รวมทั้งหมด 38 แปลง จัดสรรให้ชาวบ้านไม่เกินคนละ 2 แปลง โดยจะมีพี่เลี้ยงในการดูแล และคอยให้คำแนะนำ
ชาวบ้านในพื้นที่ส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินจากการกู้ยืมเงินมาทำเกษตร จากการซื้อเมล็ดพันธุ์ จากปุ๋ยเคมี เมื่อมีโครงการปลูกผักแก้จนเข้ามา การทำงานมีระบบ มีการวางแผน ช่วยเหลือกัน
เมื่อขายผักได้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการเป็นหนี้ ลดเล่นการพนัน โดยรายได้ เฉลี่ยต่อคนอาทิตย์ละ 1 พันคน
ธิติพร พิกุลหอม ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ม.15
ผักที่ปลูก จะเป็นต้นหอม ผักชี ผักบุ้ง มะเขือ ผักสลัด และผักต่างๆ ที่หมุนเวียนไป ซึ่งเป็นผักปลอดสารพิษ ส่วนปุ๋ยใช้ปุ๋ยคอกที่มาจากการเลี้ยงสัตว์ของชาวบ้าน สำหรับผลผลิตที่ได้จะจำหน่ายทั้งในชุมชนและนอกพื้นที่ และยังส่งขายตามร้านค้าต่างๆ รวมถึงห้างสรรพสินค้าด้วย
นอกจากขายแล้ว ชาวบ้านได้บริโภคผักที่ตัวเองปลูกเอง ทำให้มั่นใจว่าปลอดสารเคมีแน่นอน
โดยในอนาคตอันใกล้มีการพัฒนาขยาย การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ไปสู่เกษตรกรที่ยั่งยืน รวมถึงการสร้างแบรนด์ของชุมชน
ได้ดึงเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วม จากคนที่หันหลังให้กัน ตอนนี้มาช่วยกันทำ ช่วยกันบริหาร
ใช้พื้นที่ของโรงเรียนที่รกร้างกว่า 10 ปี สร้างแปลงผัก
ต้นกล้าท้าจน
นายภูเบศ กุละอิ่ม อายุ 19 ปี หนึ่งในครอบครัวคนจนที่อยู่ในระบบข้อมูลสอบทาน เล่าว่า เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัว โดยรับจ้างทั่วไปได้รายได้วันละ 200-250 บาท
ปัจจุบันอาศัยอยู่กับย่า อายุ 70 ปี ภูเบศจึงไม่อยากออกไปทำงานต่างพื้นที่ไกลๆ เพราะเป็นห่วงย่า เมื่อทางมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์มีโครงการปลูกผักแก้จน จึงเข้าร่วมโครงการ โดยใช้พื้นที่บริเวณบ้านในการปลูกผักทั้งผักบุ้ง มะเขือ และผักอื่นๆ ตามฤดูกาล ก่อนที่จะมีการส่งเสริมให้มีการปลูกเห็ดนางฟ้า เลี้ยงปลา เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ภูเบศ กุละอิ่ม
ทั้งการปลูกผัก ปลูกเห็ด และเลี้ยงปลา จะมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ รวมถึงมีพี่เลี้ยงที่คอยดูแล และสนับสนุน รวมถึงสมาชิกในกลุ่มที่คอยช่วยเหลือและให้คำแนะนำต่างๆ ซึ่งปลูกผักกับโครงการปลูกผักแก้จนเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว
รู้สึกดีใจมาก ที่ทุกคนเห็นความสำคัญมาก คอยดูแล ช่วยเหลือตลอด เหมือนเป็นครอบครัวกัน
ภูเบศ กุละอิ่ม ปลูกเห็ดสร้างอาชีพ
จากที่ต้องออกไปรับจ้างนอกพื้นที่ไม่ว่าจะปลูกมัน ตัดอ้อย ตัดหญ้า รับจ้างทั่วไปที่มีคนจ้าง ออกจากบ้านตั้งแต่เช้า กว่าจะกลับเข้าบ้านก็เย็นมาแล้ว และเป็นการทำงานให้กับคนอื่น แต่ตอนนี้ปลูกผักอยู่ที่บ้านเป็นการทำเพื่อตัวเอง ปลูกผักไว้กิน และไว้ขาย มีรายได้เพิ่มขึ้น และที่สำคัญมีเวลาอยู่บ้านเพื่อดูแลย่า
ดีใจมากไม่คิดว่าจะสามารถแก้จนได้ขนาดนี้ ทำแล้วมีความสุข
นอกจากนี้กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ กศน.นานม และยังได้รับรางวัลคนดีศรีกาฬสินธุ์ ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และห่างไกลยาเสพติดอีกด้วย
รู้สึกภูมิใจที่ทำได้เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ เด็ก เยาวชน เพื่อนๆ พี่ๆ ยืนยันว่าไม่เลิกทำอาชีพเกษตรกรแน่นอน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ม.กาฬสินธุ์ สถาบันการศึกษารับใช้ชุมชน เร่งบูรณาการแก้ภัยแล้ง