แชร์

Copied!

ตรวจสอบแล้ว คลิปโผล่อ้างแผ่นดินไหวเชียงใหม่ทำตึกถล่ม

22 เม.ย. 6815:33 น.
สิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติ#ข่าวปลอม
ตรวจสอบแล้ว คลิปโผล่อ้างแผ่นดินไหวเชียงใหม่ทำตึกถล่ม

ตรวจสอบพบคลิป TikTok ปลอม อ้างตึกถล่มในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา จากเหตุแผ่นดินไหว ตรวจสอบพบเป็นเพียงคลิปเก่า ขณะที่คนไม่ทราบหลงแชร์ข่าวนับร้อย

Thai PBS Verify ตรวจสอบพบคลิป TikTok เก่า อ้างตึกถล่มในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา จากเหตุแผ่นดินไหว ตรวจสอบพบเป็นเพียงคลิปเก่า ขณะที่คนไม่ทราบหลงแชร์ข่าวนับร้อย

แหล่งที่มา : TiKTok

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงคลิปปลอม

คลิปของผู้ใช้บัญชี TikTok ชื่อ copyphashen โพสต์คลิปเหตุการณ์ตึกถล่มลงมาจนกลุ่มควันฟุ้งกระจาย ท่ามกลางประชาชนที่วิ่งหนีกันอย่างโกลาหล โดยในคลิปดังกล่าวระบุข้อความว่า "เชียงใหม่ตึกถล่ม วันนี้ที่ 21 เม.ย. 68"

จากการตรวจสอบด้วยการค้นหาภาพย้อนหลังพบว่า คลิปดังกล่าวไปตรงกับคลิปของผู้ใช้บัญชี TikTok อีกหลายราย เช่น นี่ และ นี่ (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

เราได้นำคลิปดังกล่าวมาทำการตรวจสอบโดยใช้คีย์เฟรมจากเครื่องมือตรวจสอบดิจิทัล InVid-WeVerify พบว่า เมื่อนำหนึ่งในภาพคีย์เฟรมมาตรวจสอบกับ Google Map พบว่าภาพของสถานที่ในคลิปดังกล่าว ตรงกับภาพของศูนย์การค้า เจเจมอลล์ จตุจักร

ภาพบันทึกหน้าจอคลิปปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพศูนย์การค้า เจเจมอลล์ จตุจักร (ขวา)

ภาพแสดงแผนที่ศูนย์การค้า เจเจมอลล์ จตุจักร

นอกจากนี้จากการเปรียบเทียบกับคลิปเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่ม ที่ถูกบันทึกเอาไว้ได้เมื่อวันที่ 28 มี.ค. 68 พบว่า คลิปดังกล่าวถูกบันทึกภายในบริเวณตลาดปลาจตุจักร ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าใน จ.เชียงใหม่ แต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอคลิปปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพศูนย์การค้า เจเจมอลล์ จตุจักร (กลาง) และภาพอาคาร สตง. (ขวา)

 

ภาพแผนที่จุดถ่ายคลิปซึ่งอยู่ภายในตลาดปลาจตุจักร

ในส่วนของรายละเอียดของคลิปดังกล่าวพบว่า มีการนำคลิปมาจากผู้ใช้บัญชี TikTok ชื่อ Ya Ya ซึ่งพบว่าคลิปดังกล่าวมีผู้แชร์ต่อกว่า 10,000 ครั้ง อย่างไรก็ตามล่าสุดคลิปดังกล่าวได้ถูกรายงาน และถูกปิดกั้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ลิงก์บันทึก)

สำหรับเหตุแผ่นดินไหวในประเทศไทยและใกล้เคียง ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 68 ที่ผ่านมา จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น 22 ครั้ง โดยแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดในวันดังกล่าวคือแผ่นดินไหวขนาด 4.3 ในประเทศเมียนมา ขณะที่แผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุด ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในวันดังกล่าว คือที่ ต.แม่นาเติง อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเวลา 02.07 น. โดยมีขนาด 2.7 ซึ่งไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้นในพื้นที่ประเทศไทยแต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)

กระบวนการตรวจสอบ

  • ใช้การค้นหาด้วยคำสำคัญทาง Google ด้วยคำว่า "ตึก สตง. ถล่ม" ในการค้นหาคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเพื่อนำมาเปรียบเทียบ
  • การค้นหาภาพย้อนหลังด้วยคีย์เฟรมจากเครื่องมือตรวจสอบภาพดิจิทัล InVid-WeVerify
  • การค้นหาสถานที่จาก Google Map
  • การค้นหาข้อมูลจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

แม้เหตุการณ์จะผ่านมาแล้วกว่า 3 สัปดาห์ ที่มีการเผยแพร่คลิปดังกล่าว แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนวันที่ 28 มี.ค. 68 ก็ยังคงสามารถทำให้ผู้คนเกิดความตื่นตระหนก และเมื่อมีการเผยแพร่คลิปปลอมนี้เกิดขึ้น ทำให้คลิปดังกล่าวถูกแชร์ไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นการก่อให้เกิดความเข้าใจผิดซ้ำ หรือตื่นตระหนกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือเป็นการเผยแพร่ข่าวปลอมสู่สาธารณะ โดยเราพบว่ามีผู้หลงเชื่อคลิปดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าชมคลิป

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

1. เช็กแหล่งที่มา – ดูว่าใครเป็นผู้เผยแพร่ และเชื่อถือได้หรือไม่

2. ดูวันที่ – ตรวจสอบว่าคลิปเป็นเหตุการณ์ล่าสุดหรือเก่าแล้ว

3. ใช้เครื่องมือออนไลน์ – เช่น InVID, Google Reverse Image Search

4. เปรียบเทียบกับสื่อหลัก – ดูว่ามีสื่อที่เชื่อถือได้รายงานเหตุการณ์นี้หรือไม่

5. ระวังอารมณ์ – ถ้าคลิปกระตุ้นอารมณ์แรง ๆ อาจเป็นการจงใจหลอก

6. กดรายงาน – เพื่อป้องกันไม่ให้คลิปปลอมเหล่านี้ถูกเผยแพร่ต่อไป