ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Take It Down แจ้งลบภาพลับส่วนตัว 18+ หรือคลิปหลุดของเด็กบนโลกออนไลน์


Logo Thai PBS
แชร์

Take It Down แจ้งลบภาพลับส่วนตัว 18+ หรือคลิปหลุดของเด็กบนโลกออนไลน์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/951

Take It Down แจ้งลบภาพลับส่วนตัว 18+ หรือคลิปหลุดของเด็กบนโลกออนไลน์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ปัจจุบันคนไทยมีเข้าการถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ส่งผลให้มีเด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากรไซเบอร์ มีการนำภาพหลุด ภาพ 18+ หรือภาพลับส่วนตัวของเด็กและเยาวชนไปเผยแพร่ต่อบนอินเทอร์เน็ต และข่มขู่เพื่อแลกกับผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงิน กิจกรรมทางเพศ อย่างกรณีครูหนุ่มวัย 28 ปี ที่ข่มขู่ปล่อยคลิปลับแบล็กเมลลูกศิษย์สาว ซึ่งการกระทำดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบอาชญากรรมที่เรียกว่า “การขู่กรรโชกทางเพศ” (Sextortion)

ไขปัจจัยที่ทำให้เด็กตกเป็นเหยื่อ Sexual Harassment

พ.ต.อ. รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท.บช.สอท. เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีการจับกุมดำเนินคดีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ไปแล้วกว่า 540 คดี โดยพบว่า ตั้งแต่หลังเกิดโรคโควิด-19 ระบาดในช่วงปี พ.ศ. 2563 มีเด็กนักเรียนเรียนออนไลน์กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตและใช้สื่อโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น ทำให้เกิดคดีการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) มีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับแผนประทุษกรรมที่อาชญากรมักจะใช้เป็นกลวิธีหลอกลวงเด็กและเยาวชนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบเจอบ่อย คือ “หลอกให้เงิน เชิญเป็นดารา ชวนให้แก้ผ้า ทักให้เปิดกล้อง”

• หลอกให้เงิน หรือไอเทมในเกม เวลาว่างของเด็กและเยาวชนบางคนมักจะชอบเล่นเกม ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนภายนอกได้ง่าย

• ชักชวนเป็นดารา ในส่วนของเด็กผู้หญิงมักจะถูกหลอกล่อจากการเชิญชวนให้ทำงาน เช่น การรีวิวครีมต่าง ๆ เพื่อให้ส่งภาพลับให้

• ชวนให้แก้ผ้า กรณีที่เป็นคู่รักออนไลน์ หรือคบกันทางไกล จะออกอุบายส่งความคิดถึง หลอกล่อให้ถ่ายรูปส่งมาให้

• ทักให้เปิดกล้อง

ขณะที่ คุณวีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการประจำโครงการฮัก ประเทศไทย (HUG Project) เพื่อช่วยเหลือเหยื่อการค้ามนุษย์ กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า กรณีเด็กที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งเป็นผู้สูงวัย ทำให้เข้าถึงสื่อออนไลน์ง่ายขึ้น และไม่มีใครคอยเฝ้าระวัง อาชญากรจึงใช้ช่องทางออนไลน์เข้าถึงเด็กได้อย่างง่ายดาย นอกจากนี้ ระบบอินเทอร์เน็ตของโรงเรียนบางแห่งก็ไม่ปลอดภัย โดยพบว่ามีการใช้อินเทอร์เน็ตในโรงเรียนเข้าถึงเว็บโป๊ 3,000 กว่าเว็บในหนึ่งสัปดาห์

ข้อจำกัดและความท้าทาย ทำไมยังป้องกันล่วงละเมิดเด็กไม่ได้ ?

พ.ต.อ. รุ่งเลิศ และ คุณวีรวรรณ แชร์ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา และวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ยังไม่สามารถป้องกันเด็กและเยาวชนถูกข่มขู่กรรโชกทางเพศได้ เช่น

• ในประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการตระเตรียมเด็กออนไลน์เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ (Online Grooming) หากจะแจ้งความเอาผิด จะต้องเกิดการกระทำความผิดก่อน กฎหมายป้องกันยังไม่มี

• เทคโนโลยีพัฒนาเร็วแต่กฎหมายยังตามไม่ทัน เมื่อไม่มีกฎหมายป้องกัน Sexual grooming ต้องไปใช้กฎหมายอื่นแทน เช่น การครอบครองสื่อลามกอนาจาร หรือ พ.ร.บ.คอมฯ เป็นต้น

• เหตุเกิดบนโลกออนไลน์ ทำให้พยานหลักฐานหายาก ถูกลบทิ้งเร็ว แต่บางครั้งผู้ต้องหาก็มักจะทิ้งร่องรอยอื่นไว้

• ตำรวจมีความรู้ในกฎหมายอาชญากรรมทางเทคโนโลยีน้อย ซึ่งคดีออนไลน์เกิดทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้กระทั่งต่างจังหวัดในชุมชนเล็ก ๆ

• การระบุตัวผู้ต้องหายาก เนื่องจากผู้ต้องหาใช้อวตารหลอกเหยื่อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จึงต้องประสานงานและขอความร่วมมือเพื่อยืนยันตัวตนของผู้กระทำผิด ซึ่งประเทศไทยยังขาดความร่วมมือกับแพลตฟอร์มในด้านนี้

• ปัจจุบันแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียมีการบล็อกคำที่อาจนำไปสู่การก่อเหตุร้ายกับเด็ก หรือการกระทำผิดกฎหมาย แต่อาชญากรเหล่านี้ ก็ปรับตัวตามแพลตฟอร์มด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างการใช้ #นัด... หากพิมพ์ตรงตัวระบบ AI ของแพลตฟอร์มจะตรวจเจอ และบล็อกได้ จึงเปลี่ยน # ไปเรื่อย ๆ เช่น นัดเย นัดยิ้ม ทำให้ระบบไม่สามารถบล็อกคำเหล่านี้ได้

“โครงการฮักเรารับแจ้งเหตุวันละ 1-2 เคส ขณะที่ จำนวนเจ้าหน้าที่ไม่สอดคล้องกัน ส่วนเด็กเล็กมีผู้ปกครองเข้ามาแจ้งเอง การเก็บหลักฐานน้อย บางครั้งผู้ปกครองไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเกิดปัญหากับเด็ก ทำให้มีข้อมูลน้อยมาก นอกจากนี้ บางคนไม่กล้าไปแจ้งตำรวจโดยตรง เพราะคิดว่าไปแจ้งความแล้วตัวเองจะโดนจับด้วย” ผอ.โครงการฮัก กล่าว

Facebook เข้ม 3 เดือน ลบโพสต์ละเมิดเด็ก 16 ล้านโพสต์

คุณมาลีนา เอนลุนด์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นและการดำเนินงานของบริษัทในการต่อสู้กับอาชญากรรมในรูปแบบการขู่กรรโชกทางเพศ (Sextortion) โดยระบุว่า จากรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนของ Meta ในช่วงตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มได้มีการนำเนื้อหาที่ละเมิดกฎและเกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กทั่วไปแล้วกว่า 16 ล้านเนื้อหาบน Facebook และกว่า 2.1 ล้านเนื้อหาบน Instagram

จากเนื้อหาที่มีการละเมิดกฎเหล่านี้ พบว่ามีความเกี่ยวข้องกับภาพโป๊เปลือยเด็ก มากกว่า 98% และแพลตฟอร์มได้ลบเนื้อหาออกก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามา โดยเป็นผลจากการตรวจจับด้วย AI ซึ่ง Facebook ได้มีระบบป้องกันการล่วงละเมิดเด็กและเยาวชน 4 ข้อ ได้แก่

• Photo & Video detection technology การตรวจจับรูปภาพและวิดีโอ

• Text based classifiers คำศัพท์ อิโมจิ รหัสลับเฉพาะ สามารถใช้ AI ตรวจจับได้

• Behavioural & metedata classisifiers สัญญาณพฤติกรรมการโพสต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวโยงกับเด็ก ระบบสามารถตรวจจับโดยมีผู้เชี่ยวชาญช่วยวิเคราะห์ว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมานั้น ฝักใฝ่ก่อเหตุคุกคามทางเพศเด็กหรือไม่

• Fan out แพลตฟอร์มสามารถดูเส้นทางเชื่อมโยงได้ว่าผู้ก่อเหตุมีความเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

“Take It Down” เครื่องมือช่วยลบภาพโป๊เปลือยในออนไลน์

“Take It Down” คืออะไร? เป็นนวัตกรรมที่ให้บริการลบรูปภาพส่วนตัวออกจากอินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผยแพร่ต่อบนโลกออนไลน์ สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่า ซึ่งเริ่มให้บริการเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนในปีที่ผ่านมา ปัจจุบันได้พัฒนาบริการให้ครอบคลุมกว่า 25 ภาษาทั่วโลกและขยายการดำเนินงานในหลากหลายประเทศเพิ่มเติม ทำให้สามารถเข้าถึงวัยรุ่นจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

ขณะเดียวกัน Facebook แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ในสังกัดของ Meta ขยายบริการ Take It Down ในประเทศไทย เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนไทยสามารถเข้าถึงการควบคุมรูปภาพส่วนตัวของตนเองได้อีกครั้ง และยับยั้งไม่ให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพที่เป็นอดีตแฟน หรือใครก็ตาม เผยแพร่รูปภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์ ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCMEC) กลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (TICAC) และโครงการฮัก ประเทศไทย

ผู้ที่สนใจสามารถใช้บริการ Take It Down ได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาและลบรูปภาพส่วนตัวออกจากอินเทอร์เน็ต หรือการช่วยยับยั้งการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวเหล่านั้นบนโลกออนไลน์ตั้งแต่แรก โดยบริการดังกล่าวเปิดให้บริการใช้งาน “ฟรี” สำหรับ

• เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่มีความกังวลว่ารูปภาพส่วนตัวจะถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์

• ผู้ปกครอง report แทนเด็กๆ ได้ โดยต้องเป็นผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับความไว้วางใจจากเด็กและเยาวชนในการจัดการกับรูปภาพส่วนตัวในนามของพวกเขา

• ผู้ใหญ่ที่กังวลว่ารูปภาพส่วนตัวของตนเองที่ถูกถ่ายไว้ก่อนอายุ 18 ปี ถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์ สามารถกด report ได้

ส่วนกรณีหากเป็นผู้ที่อายุมากกว่า 18 ปี สามารถใช้ช่องทาง https://stopncii.org นี้แทน

วิธีการใช้งาน Take It Down

  1. ไปที่เว็บไซต์ TakeItDown.NCMEC.org โดยไม่ต้องแจ้งชื่อหรือข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อยืนยันตัวตน
  2. ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุ เพื่อกำหนดตัวเลขเรียกว่า “ค่าแฮช” เปรียบเหมือนกับ Digital Footprint หรือลายนิ้วมือดิจิทัล ให้กับรูปภาพหรือวิดีโอ ทำให้แต่ละรูปภาพหรือวิดีโอมีตัวเลขที่ไม่ซ้ำกัน ทำให้เป็นส่วนตัวและปลอดภัย
  3. ส่งต่อค่าแฮชดังกล่าวเป็นตัวเลข โดยไม่ต้องส่งภาพหรือวิดีโอส่วนตัว ผู้เสียหายสามารถเบาใจได้ว่า Take It Down จะไม่มีการดึงภาพหรือข้อมูลออกมาจากอุปกรณ์ที่เราใช้งาน แต่จะใช้ “ค่าแฮช” แทนการระบุสำเนาของรูปภาพหรือวิดีโอนั้น และตรวจสอบเพื่อลบเนื้อหาดังกล่าว
  4. เมื่อค่าแฮชได้ถูกแชร์ให้กับศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCMEC) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าร่วมต่าง ๆ รวมถึง Meta ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีรูปหรือวิดีโอของผู้เสียหายอยู่บนแพลตฟอร์มใดหรือไม่
  5. เมื่อตรวจสอบพบ แพลตฟอร์มจะทำการลบรูปหรือคลิปดังกล่าวออก พร้อมยับยั้งไม่ให้ใครก็ตามสามารถข่มขู่ผู้อื่นว่าจะนำเนื้อหาดังกล่าวกลับมาโพสต์บนแพลตฟอร์มได้อีกด้วย
  6. อย่างไรก็ตาม บริการดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะภาพส่วนตัวโป๊ เปลือย อนาจารที่ถูกถ่ายในพื้นที่ส่วนตัว แต่ในกรณีใส่ชุดว่ายน้ำถ่ายที่ชายหาด หรือสระว่ายน้ำ ไม่ถือว่าภาพส่วนตัว

ที่สำคัญ ในการ Report ภาพโป๊เปลือย ผู้ Report จำเป็นต้องมีภาพดังกล่าวอยู่บนอุปกรณ์ของเราด้วย ถ้าเราไม่มีภาพนั้นก็จะไม่สามารถแจ้งตรวจสอบผ่าน Take It Down ได้ แต่รายงานไปที่ CyberTipline ผ่าน cybertipline.org แทน

วัคซีนหลักที่ต้องมี เพื่อป้องกันถูกขู่กรรโชกทางเพศ

• สร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็กและผู้ปกครอง เช่น หากมีคนทักมาอยากให้เงินต้องห้ามทันที

• สร้างเกราะป้องกันด้วยระบบนโยบายกับหน่วยงานคุ้มครองเด็ก การให้ความรู้ คำแนะนำ โดยใช้โซเชียลมีเดียช่วย หากตกเป็นเหยื่อต้องทำอย่างไร ขอความช่วยเหลือจากใคร และผลักดันกระบวนการยุติธรรมที่เป็นมิตรเพื่อช่วยเหลือเด็ก

• บทบาทของพ่อแม่ จะวางตัวอย่างไรบนโลกดิจิทัล เพื่อไม่ให้รุกล้ำความเป็นส่วนตัวของเด็กมากจนเกินไป

 

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech METAFacebookTake It Down
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด