ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

5 เรื่องจดจำ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ว่าที่ผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5


Insight

19 มี.ค. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

5 เรื่องจดจำ “วลาดิเมียร์ ปูติน” ว่าที่ผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5

https://www.thaipbs.or.th/now/content/943

5 เรื่องจดจำ  “วลาดิเมียร์ ปูติน” ว่าที่ผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ยังคงอยู่ในความขัดแย้งของ “สงครามรัสเซีย – ยูเครน” ผลการเลือกตั้งจากฝั่งรัสเซียก็ยังคงปรากฏชื่อของ “วลาดิเมียร์ ปูติน” แม้จะได้ชื่อว่าเป็นผู้นำที่ประกาศให้ประเทศเข้าสู่สงคราม ตลอดจนมีแรงต้านจากหลายฝ่าย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้นำคนนี้มีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองโลกตลอดมา Thai PBS รวบรวม 5 เรื่องราวของ (ว่าที่) ผู้นำรัสเซียสมัยที่ 5 ไปดูกันว่า ที่ผ่านมา เราจดจำ “ปูติน” ในบทบาทและเหตุการณ์ไหนกันบ้าง

1. การส่งไม้ต่อ จาก “สายลับเคจีบี” สู่ “ผู้นำรัสเซีย”

ปูตินเติบโตผ่านความขัดแย้งในยุคสงครามโลกในฐานะเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแห่งคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐ หรือที่เรียกว่า “สายลับเคจีบี” เขาขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานความมั่นคง หรือเอฟเอสบี ที่ได้รับการแต่งตั้งโดย “บอริส เยลต์ซิน” ประธานาธิบดีคนแรกของรัสเซีย แล้วเส้นทางชีวิตผู้นำของปูตินก็เริ่มต้นขึ้น...ในปี 1999  โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากนั้นไม่นาน เยลต์ชินก็ประกาศลาออกแบบฟ้าผ่า เปิดทางให้ปูตินขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรักษาการ ก่อนจะได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการในปี 2000

นับจากนั้นการปกครองรัสเซียในรูปแบบของปูตินก็เริ่มต้นขึ้น ทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจและอิทธิพลอีกมากมายที่เปลี่ยนรัสเซียไปโดยสิ้นเชิง ภาพการจับมือของปูติน ในฐานะหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง กับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเยลต์ชิน จึงเป็นเสมือนการส่งต่ออำนาจที่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตการเป็นผู้นำทั้งหมดของปูตินในเวลาต่อมา

สู่ “ผู้นำรัสเซีย”

2. การพารัสเซียก้าวกระโดดและมีบทบาทในเวทีโลก

ก่อนการขึ้นมารับตำแหน่งในฐานะผู้นำของปูติน สภาพเศรษฐกิจของรัสเซียโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะวิกฤติ การมาถึงของเขานำเสถียรภาพทางการเมืองมาสู่รัสเซีย มีนักวิเคราะห์มองกันว่าปูตินปรับการบริหารประเทศจากเดิมทีที่เป็นแบบ “ทุนนิยมแบบพวกฟ้อง (crony capitalism)” สู่ “รัฐทุนนิยม (state capitalism)” ความมั่นคงทางเศรษฐกิจจึงเกิดขึ้นสะท้อนผ่านตัวเลขจีดีพีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2000 ที่ปูตินขึ้นมามีบทบาทผู้นำ จากจีดีพีติดลบสู่การเติบโตมากกว่า 7 % ระหว่างปี 2000 – 2004 

อีกนโยบายที่เปลี่ยนโฉมรัสเซียคือการหันหน้าเข้าหาเอเชีย หรือ Pivot to Asia โดยหันมากระชับความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างอินเดีย จีน ญี่ปุ่น รวมถึงพยายามเข้ามายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองกันว่า นโยบายต่างประเทศของรัสเซียทำให้เกิดสมดุลบางอย่างขึ้น ระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทั้งอำนาจทางการเมืองและทางการทหาร 

อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มองข้ามไม่ได้ และทำให้ภาพลักษณ์ของรัสเซียยิ่งโดดเด่นในสายตาชาวโลก คือการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 ที่ได้รับผลตอบรับในเชิงบวก ถือเป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งที่ประกาศให้โลกรับรู้ถึงการเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลก 
เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018

3. ภาพลักษณ์ของชายผู้แข็งแกร่ง

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ภาพหนึ่งที่ชาวโลกมักได้เห็นจากปูติน นั่นคือ ภาพลักษณ์ของการเป็นชายผู้แข็งแกร่ง สิ่งนี้เกิดจากทั้งบุคลิกลักษณะส่วนตัวและเป็นภาพลักษณ์ที่ปูตินตั้งใจสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายต่าง ๆ ที่มีการปล่อยออกมา เพื่อสะท้อนจิตวิญญาณแห่งความเป็นชายรัสเซียแท้ (Russian muzhik) เช่น ภาพการขี่ม้า เล่นกับหมี เล่นกับเสือ รวมถึงการใช้ชีวิตกลางแจ้งต่าง ๆ ภาพปูตินขี่ม้าโดยถอดเสื้อท่อนบนเผยให้เห็นกล้ามเนื้อ กลายเป็นภาพดังที่ผู้คนต่างพูดถึง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาพลักษณ์ดังกล่าวนอกจากจะมีความโดดเด่นแล้ว ยังสะท้อนไปถึงอุดมการณ์ทางการเมืองของปูติน ที่มุ่งเน้นการเป็นผู้มีอำนาจในการกำเนิดสิ่งต่าง ๆ อยู่เสมอ

จิตวิญญาณแห่งความเป็นชายรัสเซียแท้ (Russian muzhik)

4. ภาพผู้นำกับสงคราม และคำถามที่เกิดขึ้นในประชาคมโลก

สงครามรัสเซีย – ยูเครนนับจากวันแรกที่มีการประกาศเริ่มต้นอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ถึงตอนนี้ดำเนินมาเกิน 2 ปีแล้ว ทั่วโลกรวมถึงชาวรัสเซีย ต่างตั้งคำถามกับการตัดสินใจของปูตินที่นำประเทศเข้าสู่สงคราม สถานการณ์ดังกล่าวยังคงเป็นโจทย์ยาก มีการสูญเสียเกิดขึ้นมากมายอันเป็นผลสืบเนื่องจากสงคราม

มีการประเมินกันว่าอาจมีทหารรัสเซียเสียชีวิตแล้วมากกว่าหนึ่งแสนคน นอกจากนี้รัสเซียยังต้องเผชิญหน้ากับมาตรการคว่ำบาตรจากทั่วโลก นำมาซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อไปทั่วโลกอีกด้วย  ทว่าหลังผ่านมา 2 ปี มีการวิเคราะห์กันว่าวิกฤติในด้านของเศรษฐกิจที่เกิดกับรัสเซียเหมือนจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีหลายประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมกับการคว่ำบาตรที่เกิดขึ้น พร้อมกับการกลับมาสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของปูติน ชวนให้ตั้งคำถามว่า อนาคตของสงครามและโลกจะเป็นอย่างไร หลังคะแนนเสียงนั้นยิ่งสะท้อนความชอบธรรมบางอย่างให้กับตัวผู้นำที่นำประเทศเข้าสู่สงครามคนนี้
 ภาพผู้นำกับสงคราม

5. การขึ้นแท่นผู้นำรัสเซียยาวนานที่สุด

จากการคว้าชัยชนะสานต่อตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยของ “วลาดิเมียร์ ปูติน” จะส่งผลให้เขากลายเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซียยาวนานที่สุด โดยดำรงตำแหน่งต่อเนื่องสลับกันระหว่างตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” และ “ประธานาธิบดี” ได้นานกว่า “โจเซฟ สตาลิน” ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียต ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 28 ปี

ถึงตอนนี้ปูตินดำรงตำแหน่งผู้นำมายาวนานถึง 25 ปีแล้ว (นับตั้งแต่ปี 1999) เป็นที่คาดการณ์กันว่าด้วยชัยชนะครั้งล่าสุดนี้ เขาจะดำรงตำแหน่งผู้นำต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 6 ปี และทำลายสถิติที่มีมานานถึง 200 ปีนี้ลงได้สำเร็จ

ภาพขณะกล่าวหาเสียงในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา

อ้างอิง
- จับตามหาอำนาจรัสเซีย: ยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศ เศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคง และวัฒนธรรม
- ผลคะแนนเลือกตั้งชี้ "ปูติน" คว้าเก้าอี้ ปธน.รัสเซียสมัย 5
- คาด “ปูติน” ครองอำนาจ “รัสเซีย” ถึงปี 2036 ทุบสถิติ “สตาลิน”

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วลาดิเมียร์ ปูตินปูตินรัสเซียกองทัพรัสเซียสงครามรัสเซีย-ยูเครนเลือกตั้งรัสเซีย
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด