สถานที่ที่ “หิมะตกหนัก” ที่สุดในโลก หลาย ๆ คนมักคิดว่าต้องเป็นสถานที่ที่หนาวสุดขั้วอย่าง “ขั้วโลกใต้” หรือ “ขั้วโลกเหนือ” อย่างแน่นอน แต่กลับกันในความเป็นจริงพื้นที่ที่มีปริมาณ “หิมะ” ตกสะสมเฉลี่ยต่อปีมากที่สุดในโลกกลับไม่ใช่สถานที่เหล่านั้น แต่กลับเป็นจังหวัดเล็ก ๆ จังหวัดหนึ่งทางตอนเหนือของ “ญี่ปุ่น” ที่มีปริมาณหิมะตกเฉลี่ยทั้งปีมากที่สุดในโลกแทนต่างหาก
“หิมะ” อาจจะเป็นสิ่งที่คนไทยอาจจะไม่คุ้นชินกันสักเท่าไหร่ ในมุมมองของคนไทยที่มองประเทศที่หิมะตก มันเป็นบรรยากาศที่หนาวเย็น สวยงาม ชวนฝัน แต่สำหรับผู้ที่ใช้ชีวิตในพื้นที่ที่มีหิมะตกเป็นประจำ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า หิมะน่ะสวย ถ้ามันตกน้อย ๆ เพราะเมื่อไรที่มันตกเยอะ มันคือสิ่งที่สร้างความน่ารำคาญและปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างมากเลยทีเดียว
การที่หิมะจะตกในสถานที่สถานที่หนึ่งได้นั้นประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความเร็วของกระแสลมในช่วงเวลานั้น ยังไม่รวมถึงความสูงของฐานเมฆที่สร้างหิมะนั้นมีความสูงที่เหมาะสมแก่การก่อตัวกันของผลึกหิมะในอากาศหรือไม่อีกด้วย นั่นทำให้หิมะคืออีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยากมากที่สุดในเอกภพนี้ เท่าที่ทราบในตอนนี้มีเพียงโลกของเรา ดาวอังคาร และดวงจันทร์ไททันเท่านั้นที่สามารถพิสูจน์ได้ว่ามีปรากฏการณ์หิมะตกจริง
เมื่อปัจจัยที่จะทำให้เกิดการก่อตัวของหิมะนั้นไม่ได้มีเพียงแค่อุณหภูมิที่หนาวจนติดลบเพียงอย่างเดียว คำถามต่อมาคือแล้วจุดไหนบนโลกบ้างที่หนาวจัดแต่หิมะกลับไม่ตก

หนึ่งในสถานที่นั้นคือขั้วโลกใต้ ถึงแม้เรามักเหมารวมแอนตาร์กติกาว่ามันคือขั้วโลกใต้ แต่แอนตาร์กติกานั้นคือทวีปที่ใหญ่มาก และความใหญ่โตของมันกินพื้นที่เข้าไปถึงจุดที่เราเรียกว่าขั้วโลกใต้
ในพื้นที่รอบชายฝั่งของแอนตาร์กติกาซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่อาศัยของเหล่านกเพนกวินและสัตว์ต่าง ๆ บริเวณนั้นจะยังคงมีทั้งฝนและหิมะที่ตกอยู่ เช่น พื้นที่คาบสมุทรแอนตาร์กติกา ที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหลักของเหล่านกเพนกวินในแอนตาร์กติกา เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปริมาณหยาดน้ำฟ้า (ฝน หิมะ หมอก ลูกเห็บ และน้ำในรูปของเหลวหรือของแข็งที่ตกจากฟ้าลงสู่พื้นดิน) ตกเฉลี่ยตลอดทั้งปีมากที่สุดในทวีปแอนตาร์กติกา ซึ่งเหตุผลที่เป็นเช่นนั้นเพราะบริเวณนั้นเป็นบริเวณติดทะเลทำให้ได้รับความชื้นจากมหาสมุทรที่พัดเข้ามาประกอบกับเป็นพื้นที่ราบสูงและแนวเทือกเขากักกั้นเมฆและความชื้น ทำให้มีปริมาณหยาดน้ำฟ้าบริเวณนี้สูง
กลับกันพื้นที่ด้านในของทวีปแอนตาร์กติกา เช่น พื้นที่ใจกลางขั้วโลกใต้ มันกลับถูกจำแนกให้อยู่ในกลุ่มของพื้นที่ทะเลทราย เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นบริเวณที่มีปริมาณหยาดน้ำฟ้าสะสมที่น้อยกว่า 25 เซนติเมตรต่อปี ซึ่งแปลว่าแอนตาร์กติกาถูกจัดว่าเป็นทะเลทรายที่แห้งแล้งที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลก กินอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่าทะเลทรายสะฮาราเกือบสองเท่าเลยทีเดียว
เมื่อเราทราบแล้วว่าแอนตาร์กติกาไม่ใช่พื้นที่ที่มีหิมะตกหนักที่สุดในโลก แต่กลับกันมันคือสถานที่ที่มีปริมาณหยาดน้ำฟ้าตกสะสมตลอดทั้งปีน้อยที่สุดในโลก คำถามต่อมาคือแล้วพื้นที่ไหนที่มีปริมาณหิมะตกสะสมมากที่สุดในโลก
คำตอบนั้นไม่ใช่พื้นที่ที่หนาวเย็นและห่างไกลอย่างไซบีเรียเหมือนกับที่หลายคนคิด แต่มันคือประเทศญี่ปุ่น
สาเหตุที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นพื้นที่ที่มีปริมาณหิมะตกมากที่สุดในโลก เนื่องมาจากตำแหน่งที่ตั้งของญี่ปุ่นนั้นอยู่ใกล้กับพื้นที่ของไซบีเรีย ทำให้ได้รับอิทธิพลกระแสลมหนาวจากไซบีเรียพัดพาความหนาวเย็นมาที่ญี่ปุ่น ประจวบกับญี่ปุ่นนั้นมีภูมิประเทศที่เป็นเกาะ ถูกคั่นกลางระหว่างแผ่นดินใหญ่กับตัวเกาะด้วยทะเลญี่ปุ่น ซึ่งนั่นทำให้กระแสลมที่พัดพาความหนาวเย็นจากไซบีเรียหอบเอาความชื้นจากน้ำทะเลในทะเลญี่ปุ่นเข้ามายังตัวแผ่นดินของประเทศญี่ปุ่นด้วย และด้วยปัจจัยอย่างที่กล่าวไปตั้งแต่ต้น การที่หิมะจะตกนั้นไม่ได้มีเพียงปัจจัยเดียวคือความหนาวเย็นแต่มีเรื่องของปัจจัยความชื้นในอากาศและภูมิประเทศเข้ามาร่วมด้วย นั่นทำให้ประเทศญี่ปุ่นครองแชมป์ของพื้นที่ที่มีหิมะตกหนักมากที่สุดในโลกถึง 3 อันดับไปโดยปริยาย
และจังหวัดที่หิมะตกสะสมเฉลี่ยทั้งปีมากที่สุดในโลกก็ไม่ใช่จังหวัดเหนือสุดอย่างฮอกไกโดอย่างที่หลายคนคิดเอาไว้อีก แต่เป็นจังหวัดอะโอะโมริ จังหวัดที่อยู่ทางเหนือสุดของเกาะฮนชูของญี่ปุ่น เนื่องด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์ของจังหวัดอะโอะโมริที่ถูกขนาบข้างด้วยทะเลทั้งสามทิศทาง อิทธิพลกระแสอากาศเย็นจากไซบีเรีย อิทธิพลจากการที่กระแสน้ำร้อนและกระแสน้ำเย็นไหลมาบรรจบกัน และที่สำคัญที่เป็นปัจจัยทำให้จังหวัดอะโอะโมริมีหิมะตกสะสมมากที่สุดในโลกคือ จังหวัดอะโอะโมรินั้นเป็นจังหวัดที่เป็นจุดสิ้นสุดของเทือกเขาโออุ (Ōu-sanmyaku) เทือกเขาที่ยาวที่สุดในญี่ปุ่น ลากยาวจากภูมิภาคคันโตยาวมาถึงเหนือสุดของเกาะฮนชู เทือกเขานี้มีความสำคัญอย่างมากกับการตกของหิมะเนื่องจากเป็นเทือกเขาที่ขวางกั้นกระแสลมและก้อนเมฆ ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนั้นทำให้จังหวัดอะโอะโมริเป็นพื้นที่ที่หิมะตกสะสมเฉลี่ยมากที่สุดในโลก
ปริมาณหิมะตกเฉลี่ยของจังหวัดอะโอะโมริอยู่ที่ 8 เมตร โดยจุดที่มีการสะสมของหิมะตกเฉลี่ยตามฤดูกาลมากที่สุดที่เคยมีการจดบันทึกในญี่ปุ่นคือที่ Sukayu Onsen บ่อน้ำพุร้อนที่ตั้งอยู่กลางภูเขาฮักโกดะ (Hakkōda Mountains) จากข้อมูลที่เก็บบันทึกจากปี 1981-2010 เฉลี่ยบริเวณนี้จะมีหิมะตกสะสมต่อปีเฉลี่ยที่ 17 เมตร และในฤดูกาลของปี 2013 สามารถบันทึกได้ว่าที่จุดนี้มีปริมาณหิมะตกสะสมมากถึง 23.7 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณหิมะตกสะสมภายในหนึ่งฤดูกาลที่มากที่สุดในประเทศญี่ปุ่น
และนั้นทำให้จังหวัดอะโอะโมริกลายเป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายในการทำความสะอาดหิมะมากที่ถึงปีละ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอย่างที่กล่าวไป หิมะน้อย ๆ นั้นสวยงาม แต่เมื่อไรที่มันเยอะเกินไป มันสร้างปัญหาและความน่ารำคาญให้กับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก
เรียบเรียงโดย : จิรสิน อัศวกุล
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล: edition.cnn, maphill, data.jma, tohokukanko
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech