ช่วงนี้ “พายุฤดูร้อน” มักมีในคำ “พยากรณ์อากาศ” โดย “กรมอุตุนิยมวิทยา” แทบจะรายวัน แล้วคำดังกล่าวที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Thunderstorms” นั้นเกิดจากอะไร ทำไม ? จึงเกิดช่วงนี้ แล้วส่งผลกับเราอย่างไรบ้าง บทความนี้หาคำตอบมาให้แล้ว
“พายุฤดูร้อน” คืออะไร ?
จากการให้ความรู้โดย “กรมอุตุนิยมวิทยา” ให้ความหมายดังนี้ “พายุฤดูร้อน” หรือ “พายุฟ้าคะนอง” (Thunderstorm) เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน มักเกิดในราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงกลางเดือนพฤษภาคมหรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน “พายุฤดูร้อน” นั้นจะทำให้การหมุนเวียนของอากาศ แปรปรวนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ลมพายุกระโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเกิดขึ้น หรือในบางครั้งอาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย
ฝนที่เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุฤดูร้อนมักจะตกไม่นาน บางครั้งเกิดขึ้นเพียง 15-30 นาที และเกิดขึ้นในพื้นที่แคบ ๆ ประมาณ 10-20 ตารางกิโลเมตร
ด้าน สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายเรื่องพายุฤดูร้อนไว้ว่า พายุฤดูร้อน หรือ พายุฟ้าคะนองจะเกิดขึ้นในฤดูร้อน หรือในช่วงก่อนเริ่มต้นฤดูฝน ขณะที่อุณหภูมิในภาคต่าง ๆ เริ่มสูงขึ้น เนื่องจากแกนของโลกเริ่มเอียงเข้าหาดวงอาทิตย์ และดวงอาทิตย์จะเคลื่อนมาอยู่ที่บริเวณเส้นศูนย์สูตร ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวและชื้นในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและตอนบนของภาคกลาง
อากาศที่อยู่ใกล้ผิวพื้นจะมีอุณหภูมิสูง ประกอบกับลมที่พัดเข้าสู่ประเทศไทยเป็นลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดมาจากอ่าวไทยและทะเลจีนใต้ ในระยะนี้ถ้ามีลมเหนือ (อากาศเย็น) พัดลงมาจากประเทศจีนคราวใด จะทำให้อากาศสองกระแสกระทบกัน ทำให้การหมุนเวียนของอากาศแปรปรวนขึ้นอย่างรวดเร็วและฉับพลัน เป็นเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างแรงและรวดเร็ว มีฟ้าแลบ (Lightning) ฟ้าร้อง (Thunder) และฟ้าผ่ารวมอยู่ด้วย นอกจากนี้มักจะมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเกิดขึ้น บางครั้งยังมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้นมีน้อยครั้งที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมง
โดยทั่วไปพายุฤดูร้อนนี้ มักเกิดขึ้นในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากการแผ่ลิ่มของความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ลงมาบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังนั้นในขณะที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนและชื้น มีการยกตัวของมวลอากาศอยู่บ้างแล้ว แต่เมื่อมีอากาศเย็นจากบริเวณความกดอากาศสูง ซึ่งมีลักษณะจมตัวลงและมีอุณหภูมิต่ำกว่า ทำให้มวลอากาศร้อนยกตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและเมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ที่ก่อตัวขึ้นก็จะเจริญขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอุณหภูมิยอดเมฆต่ำกว่า -60 ถึง 80 องศาเซลเซียส จึงทำให้เกิดลูกเห็บตกได้
“สาเหตุ” ของการเกิด “พายุฤดูร้อน”
“พายุฤดูร้อน” ก่อตัวจากเมฆคิวมูลัสก่อน เมื่อเมฆคิวมูลัสขยายตัวขึ้นและมีกระแสลมแนวตั้งแรงขึ้นก็จะขยายตัวสูงใหญ่เป็นเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งเป็นเมฆพายุฟ้าคะนอง การเกิดเมฆพายุฟ้าคะนองในบรรยากาศต้องมีเงื่อนไข คือ
- อากาศร้อนและมีความชื้นมาก
- อากาศไม่มีเสถียรภาพ (ไม่สามารถทรงตัวอยู่ได้ คือ อากาศมีการลอยตัวขึ้น)
- มีปัจจัยที่ก่อให้เกิดการลอยตัวขึ้นของอากาศ เช่น อุณหภูมิสูงที่พื้นดิน มวลอากาศเคลื่อนตัวสูงขึ้นเมื่อพัดผ่านภูเขาหรือมีการปะทะกันของมวลอากาศที่แตกต่างกัน
ในช่วงฤดูร้อนของประเทศไทยตอนบน จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุม ทำให้มีอุณหภูมิสูงและได้รับความชื้นจากลมตะวันออกเฉียงใต้ หรือลมใต้ซึ่งพัดจากอ่าวไทย ขณะเดียวกันถ้ามีบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ซึ่งเป็นมวลอากาศเย็น หรือบางครั้งมีคลื่นกระแสลมตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนมาเสริม จะก่อให้เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นจากประเทศจีน และมวลอากาศร้อนชื้นที่ปกคลุมประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการยกตัวของอากาศขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ก่อให้เกิดพายุฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง หรืออาจมีลูกเห็บตกมาด้วย ประเทศไทยตอนบนจึงมีโอกาสเกิดพายุฤดูร้อนได้มาก ส่วนภาคใต้ก็มีโอกาสเกิดได้แต่น้อย
ลักษณะอากาศก่อนเกิดพายุฤดูร้อน
- อากาศร้อนมาหลายวัน และในวันที่จะเกิดพายุฤดูร้อนอากาศจะร้อนอบอ้าวมากขึ้น
- ลมสงบ
- ท้องฟ้ามัว ทัศนวิสัยไม่ดี
- มีเมฆทวีมากขึ้นในท้องฟ้า ลักษณะที่ฝนจะตกมีมากขึ้น
- ลมเริ่มพัดแรงขึ้นในทิศทางใดทางหนึ่ง มีลักษณะเป็นลมกระโชกเป็นครั้งคราว
- เมฆก่อตัวหนาแน่นอย่างรวดเร็ว และมีฟ้าแลบ และมีฟ้าคะนองในระยะไกล
รู้จัก 3 ระยะ การเกิดและการพัฒนาของพายุฝนฟ้าคะนอง
1. ระยะเจริญเติบโต
อากาศที่มีอุณหภูมิและความชื้นสูงลอยตัวสูงขึ้น ทำให้มีการลดลงของอุณหภูมิตามความสูง และไอน้ำในอากาศเกิดการควบแน่นเป็นละอองน้ำอย่างต่อเนื่อง เกิดเป็นเมฆขนาดใหญ่
2. ระยะเจริญเติบโตเต็มที่
ยอดของเมฆปะทะกับรอยต่อของชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) และชั้นสตราโตสเฟียร์ (Stratosphere) ทำให้ไม่สามารถลอยตัวสูงขึ้นไปได้อีก ยอดเมฆจึงเกิดการแผ่ออกด้านข้างในแนวราบ ต่อมาเกิดฝนตกหนัก ลมแรง เกิดฟ้าแลบ ฟ้าผ่า และอาจเกิดลูกเห็บตก
3. ระยะสลายตัว
ฝนค่อย ๆ หมดไป ทำให้ลมที่พัดลงสู่พื้นโลกมีอัตราเร็วลดลง เมฆเริ่มสลายตัว
ความรุนแรงและผลกระทบ
ความรุนแรงของพายุเกิดจากความแตกต่างกันของอุณหภูมิของอากาศร้อนและอากาศเย็นที่ปะทะกัน ความรุนแรงนี้จะปรากฏออกมาในลักษณะของพายุลมแรง ฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า และลูกเห็บตก ผลกระทบมีดังนี้
- แผ่นป้ายโฆษณาและต้นไม้ยักษ์โค่นล้ม
- บ้านเรือนที่ไม่แข็งแรงพังทลาย กระเบื้องหลังคาหลุดปลิวเป็นอันตรายต่อผู้คน
- ฝนตกหนักในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง
- มีลูกเห็บตกได้ในกรณีที่พายุมีกำลังแรง ๆ
- ขณะเกิดจะมีฟ้าคะนอง ฟ้าผ่า ซึ่งอาจทำให้คนและสัตว์เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
รู้จัก 8 การปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยจาก “พายุฝนฟ้าคะนอง”
1. อาคารสูงควรติดตั้งสายล่อฟ้าป้องกันฟ้าผ่า
สิ่งหนึ่งที่มักมาพร้อมกับพายุฤดูร้อน คือ ฝนฟ้าคะนอง มีฟ้าแลบฟ้าร้อง ฟ้าผ่า ดังนั้น อาคารสูงที่อยู่สิ่งที่ควรทำ คือ การติดตั้งสายล่อฟ้าป้องกันฟ้าผ่า เพื่อลดอันตรายจากการฟ้าผ่า
2. ไม่ควรใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดเมื่อเกิดฝนฟ้าคะนอง
อุปกรณ์ไฟฟ้า มักจะมีโลหะที่เป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เมื่อเกิดฝนฟ้าคะนองนอกจากจะเสี่ยงทำให้เกิดอันตราย เสี่ยงต่อฟ้าผ่าแล้ว ยังอาจจะทำให้อุปกรณ์ไฟฟ้านั้น เสียหายได้เหมือนกัน
3. ติดตั้งสายดินที่อุปกรณ์ไฟฟ้า
การไม่ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง เป็นวิธีป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่าง ๆ จากฝนฟ้าคะนองได้ดีระดับหนึ่ง แต่เพื่อเป็นการป้องกันในภาพรวมทั้งหมด ควรติดตั้งสายดินที่อุปกรณ์ไฟฟ้า เพื่อลดอันตรายต่าง ๆ ได้แม้จะเป็นในยามปกติด้วย
4. ไม่ติดตั้งเสาอากาศวิทยุ-โทรทัศน์ใกล้สายไฟฟ้า
การติดตั้งที่ปลอดภัยจะต้องไม่อยู่ในจุดที่ใกล้กับสายไฟฟ้า เพราะมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายและเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้า ในช่วงฝนฟ้าคะนองได้ด้วย
5. ตรวจสอบความแข็งแรงของบ้าน โครงสร้าง-ส่วนต่อเติม
สิ่งที่แต่ละบ้านควรทำก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงฤดูร้อน คือ การตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารบ้านเรือน รวมถึงส่วนที่มีการต่อเติมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงจอดรถ กันสาด หรือแม้แต่โครงสร้างของบ้านในจุดต่าง ๆ หากพบว่ามีส่วนใดชำรุด หรือไม่แข็งแรงเพียงพอ จะต้องรีบดำเนินการ
6. สำรวจต้นไม้รอบบ้าน-ตัดแต่งกิ่งไม้ให้เรียบร้อย
นอกจากตัวบ้านที่ต้องมีความแข็งแรงแล้ว สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลย คือ ต้นไม้ใหญ่บริเวณรอบบ้าน ที่จะต้องตรวจสอบดูด้วยว่ามีกิ่งแห้ง หรือกิ่งไม้ที่อยู่ใกล้กับตัวบ้าน หรืออาคารหรือไม่ เราต้องตัดแต่งกิ่งไม้เหล่านั้น เพื่อที่จะลดความเสี่ยงจากการหักโค่นลงมาทำอันตรายต่อตัวบ้าน หรือส่วนต่าง ๆ ของอาคาร
7. กรณีอยู่กลางแจ้ง เข้าไปในอาคารหรือที่กำบังที่มั่นคงแข็งแรง
กรณีไม่ได้อยู่ที่บ้าน และต้องอยู่กลางแจ้ง ให้รีบเข้าไปในอาคารหรือที่กำบังที่มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันอันตรายจากลมแรงและฟ้าผ่า ไม่หลบพายุในพื้นที่เสี่ยงอันตราย โดยเฉพาะบริเวณต้นไม้ใหญ่ ป้ายโฆษณา เสาไฟฟ้า หรือสิ่งปลูกสร้างไม่มั่นคงแข็งแรง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า อยู่ให้ห่างจากวัตถุที่เป็นโลหะหรือสื่อนำไฟฟ้า อาทิ รางรถไฟ เพิงสังกะสี รั้วลวดหนาม ประตูโลหะ งดใช้เครื่องมือสื่อสารและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด เพราะแบตเตอรีมีส่วนผสมของโลหะจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้า ทำให้เสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ไม่พกพาหรือสวมใส่เครื่องประดับที่เป็นสื่อนำไฟฟ้า อาทิ เงิน ทอง นาก ทองแดง และร่มที่มียอดเป็นโลหะ
8. ติดตามข่าวสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ติดตามประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติหรือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น เช่น น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ถนนตัดขาด เป็นต้น
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมอุตุนิยมวิทยา, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech