“ภาพข่าว” ถือเป็นส่วนสำคัญของการนำเสนอข่าวในปัจจุบัน และหลาย ๆ ครั้ง ประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคมก็เกิดจากภาพข่าวเพียงใบเดียว
แต่ภาพเพียงใบเดียวนั้น กว่าจะได้มา... ต้องยอมรับว่า “ไม่ง่าย” อย่างที่คิด ทุก ๆ สถานการณ์ ทุก ๆ บริบท มีทั้งจังหวะที่วางไว้แล้ว จังหวะที่มาแบบบังเอิญ ซึ่งในระหว่างทางล้วนมี “อุปสรรค”
Thai PBS Photo พาย้อนเรื่องราว “ข้างหลังภาพ” ผ่านภาพข่าวในอดีตที่หลาย ๆ คนอาจเคยเห็นผ่านตา…
“พิธา” เปิดใจ ! หลังได้สมาชิกสภาพ สส. กลับคืนมา
วันที่ 24 มกราคม 2567
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เปิดใจครั้งแรก หลังศาลรัฐธรรมนูญตัดสินจบลงและคืนสมาชิกสภาพ สส. กลับคืน
เบื้องหน้าอาจเป็นเพียงภาพถ่ายการให้สัมภาษณ์แหล่งข่าวธรรมดา แต่ในเบื้องหลังเลนส์กล้องนั้น เต็มไปด้วยสื่อมวลชนหลายสำนักฯ ที่พร้อมเพรียงมาเฝ้ารอตั้งแต่เวลา 09.00 น. เมื่อมาถึงก็ต่างรีบจับจองพื้นที่ ขาตั้งกล้องรวม ๆ กันแล้วมีทั้งหมด 3 ชั้นด้วยกัน ซึ่งในส่วนช่างภาพ Thai PBS Photo เช่นผมนั้น ไม่มีขาตั้งกล้อง ทำให้การถ่ายภาพและการหาจังหวะภาพที่ดีเป็นเรื่องยากมาก เสี่ยงต่อภาพสั่นไหวและมุมที่ได้อาจไม่ตรงกลางพอดี ต้องถือกล้องค่อนข้างนาน ราว ๆ 1-2 ชั่วโมง จนถึงจังหวะที่ “พิธา” ออกมา ต้องรีบกดชัตเตอร์ทันที
“ทักษิณ” กลับไทย
วันที่ 22 สิงหาคม 2566
หลายสัปดาห์ก่อนหน้านั้น แม้จะได้รับคำยืนยันจาก “แพทองธาร ชินวัตร” บุตรสาวของ “ทักษิณ ชินวัตร” ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ที่จากแผ่นดินไทยไปนานกว่า 17 ปี จะเดินทางกลับมาไทยถาวร กลับมีข่าวลือหนาหูว่า นี่อาจเป็นเพียงข่าวหลอกเท่านั้น
จนกระทั่งถึงวันตามกำหนดการณ์ แม้จะมี สส. พรรคเพื่อไทย และมวลชนคนเสื้อแดงจำนวนมากไปปักหลักรอที่สนามบินดอนเมืองตั้งแต่วันก่อนหน้า แต่ก็ยังมีคำถามคาใจว่า “เขาจะกลับมาจริงใช่ไหม ? จะลงเครื่องที่นี่จริงหรือไม่ ? เวลาอะไร ?”
แม้ช่วงเวลานั้นจะเต็มไปด้วยคำถาม ก็ยังคงต้องมีการวางแผนรองรับและเดินทางไปจุดหมายอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ได้มุมที่ดีที่สุด ไม่ว่า “ทักษิณ” จะกลับมาจริงหรือไม่ก็ตาม และในที่สุด ณ เวลา 09.30 น. “ทักษิณ” ก็ได้ออกมาปรากฏตัว และด้วยสื่อมวลชนจำนวนมากที่มายืนรอทำข่าวในครั้งนี้ การจะได้ภาพที่ดีที่สุดนั้นย่อมเป็นจังหวะที่ “ทักษิณ” มองกล้อง ซึ่งการจะทำให้มองกล้องของตัวเองได้นั้น สิ่งหนึ่งที่ทำได้ คือ การตะโกนร้องเรียกชื่อ “ทักษิณ ชินวัตร”
การสบตาผ่านเลนส์และการกดชัตเตอร์เกิดขึ้นเพียงเสี้ยวนาที ท้ายที่สุด ผมก็ได้ภาพที่ตั้งใจไว้ นั่นคือ “ทักษิณ” หน้าตรง ตามองตรงมาข้างหน้า และเห็นใบหู 2 ข้างอย่างชัดเจน
“ครม. เศรษฐา 1”
วันที่ 5 กันยายน 2566
เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ ภาพข่าวที่ผู้คนเฝ้ารอย่อมหนีไม่พ้น ภาพหมู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่นั่งเรียงรายอยู่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล หลาย ๆ คนที่ได้เห็นภาพนี้ อาจจะมองว่าการถ่ายไม่น่ายากอะไรนัก เพราะทุกคนที่อยู่ในภาพล้วนนั่งนิ่ง ๆ ไม่ได้ขยับเขยื้อนไปที่ไหน แต่ความเป็นจริงแล้ว การถ่ายภาพใบนี้ สิ่งสำคัญ คือ “จังหวะเวลาและความไว” ด้วยการจัดพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาล ที่จะให้ช่างภาพสามารถถ่ายภาพใบนี้ได้บนสแตนด์เพียงเท่านั้น จึงทำให้มุมที่ดีที่สุด คือ “มุมตรงกลาง” ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกจับจองกันอย่างล้นหลาม การจะได้มาอยู่ตรงจุดนี้ หลายคนตั้งมาตั้งแต่ก่อนฟ้าสว่างกันเลยทีเดียว และด้วยเวลาที่จำกัดของการถ่ายภาพใบนี้ที่ทางเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลมีเวลาให้เพียง 10 นาทีเท่านั้น ใครมาก่อนก็จะได้มุมที่ดีก่อน
เก่ากำลังจะไป ใหม่มาแล้ว
วันที่ 26 กันยายน 2566
หลังจากพิธีอำลาตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 13 จบสิ้นลง ก็ถึงคราวอำลา รถประจำตำแหน่งของ ผบ.ตร. คนที่ 13 พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ จอดเทียบหน้าอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และเสียงกดชัตเตอร์เพื่อถ่ายภาพเป็นที่ระลึกก็รัวขึ้นทันทีทันใด
แต่ในจังหวะนั้น กลับพบอีกบุคคลที่เข้ามาร่วมฉากอำลาอย่างไม่ตั้งตัว เกิดเป็นคำว่า “ถูกที่ถูกเวลา” นั่นเพราะจังหวะที่รถประจำตำแหน่ง ผบ.ตร. คนที่ 13 กำลังเคลื่อนตัวออกไปนั้น ในมุมของกระจกรถยนต์ ประกอบกับการถ่ายภาพด้วยเทคนิครีเฟลกชันหรือถ่ายภาพเงาสะท้อน ทำให้ผมได้เห็นภาพ ผบ.ตร. คนที่ 14 พล.ต.อ. ต่อศักดิ์ สุขวิมล กำลังโค้งคำนับส่งท้ายการทำงานของ ผบ.ตร. คนที่ 13 อย่างสมเกียรติพอดิบพอดี
ส่งผลให้กลายเป็นภาพหนึ่งในความทรงจำที่หากใครตาไว มือไว ก็จะได้ฉากประทับใจนี้ไป โดยผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ภาพใบนี้ ซึ่งได้กลายเป็นภาพที่ได้รับรางวัลภาพข่าวยอดเยี่ยม รางวัลอิศรา อมันตกุล ในสาขาภาพข่าวออนไลน์
“ฮุน เซน” เยี่ยม “ทักษิณ” ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567
ใครจะไปคิดว่า “ฮุน เซน” จะเดินทางมาไทยเพื่อเยี่ยมเพื่อนรักอย่าง “ทักษิณ ชินวัตร” เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนก็ยังคงเตรียมไปปักหลักรอ
จนกระทั่งวันที่ 21 ก.พ. 67 เวลา 09.00 น. จากข่าวลือสู่เรื่องจริง สื่อมวลชนทุกสำนักฯ มารวมตัวกันที่บ้านจันทร์ส่องหล้า โดยเฟซบุ๊ก Samdech Hun Sen of Cambodia มีการเคลื่อนไหวโพสต์ภาพของ “สมเด็จฮุนเซน” ที่อยู่บนเครื่องบินเจ็ตส่วนตัว เป็นการยืนยันว่าตนนั้นจะมาหาเพื่อนอย่าง “ทักษิณ” ตามข่าวจริง ๆ
และในที่สุดเวลาประมาณ 11.00 น. ท่ามกลางสื่อมวลชนทุกสำนักฯ ที่มารวมตัวกันอย่างล้นหลามท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดถึง 35-38 องศาเซลเซียส ขบวนรถของสมเด็จฮุนเซนก็มาถึง ใช้เวลาไม่เกิน 1 นาที ก็เลี้ยวเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้าไป และด้วยฟิล์มกระจกรถยนต์ของสมเด็จฮุนเซนที่มืดสนิทจึงไม่มีใครสามารถถ่ายภาพของสมเด็จฮุนเซนที่อยู่ภายในรถยนต์ได้ แต่ ณ วันนั้น ก็นับเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ควรแก่การจดจำและบันทึกไว้
“แอนนา เสืองามเอี่ยม” กลับไทย
วันที่ 18 มกราคม 2566
การชิงพื้นที่กับสื่อมวลชนด้วยกันเองนั้นถือว่ายากแล้ว แต่การชิงพื้นที่กับเหล่าแฟนคลับนางงามพร้อมกับสื่อมวลชนด้วยกันนั้นก็ยากเช่นกัน เพราะเหล่าแฟนคลับนางงามที่มารอรับ "แอนนา เสืองามเอี่ยม" Miss Universe Thailand 2022 เดินทางกลับประเทศไทยก็มาเช้าไม่แพ้กับบรรดาสื่อมวลชนเลย พวกเขาเหล่านั้นก็อยากเจอ อยากเก็บภาพ และอยากใกล้ชิดกับนางงามที่ตนเองนั้นชื่นชอบอยู่แล้ว ทำให้ช่างภาพรู้สึกเกรงใจเหล่าบรรดาแฟนคลับ และอยากให้ทุกคนได้ภาพถ่ายของนางงามในมุมดี ๆ เช่นกัน "รวดเร็ว และรีบถอยออกมา" จึงเป็นคอนเซปต์ของภาพใบนี้
“รวดเร็ว” หมายถึง ถ่ายให้เร็วที่สุด และให้ได้มุมภาพที่ดีที่สุดตามที่เราวางแผนเอาไว้
และ “รีบถอยออกมา” เพื่อให้เหล่าแฟนคลับได้มีเวลาร่วมกับ “แอนนา เสืองามเอี่ยม” อย่างเต็มที่
ซึ่งการได้ภาพ “แอนนา” แบบเต็มตัวและอยู่ในท่วงท่าก้าวเดินท่ามกลางแฟนคลับ ถือเป็นภาพที่สะท้อนความเป็นนางงามอันเป็นที่รักของคนไทยได้อย่างลงตัว