อาจจะเป็นภาพที่ “คุ้นตา” แต่เชื่อว่า “ไม่คุ้นชิน” สำหรับภาพช้างป่าบุกพังครัวบ้านเรือนประชาชน หรือช้างที่ออกมาขวางทางรถยนต์ ดักปล้นอ้อย และรวมไปถึงช้างที่ประสบอุบัติเหตุอยู่เป็นระยะ ทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ คือสถานการณ์อันไม่ปกติที่เกิดขึ้นกับ “ช้างไทย” ที่ผู้คนในสังคมต่างรู้สึกเป็นกังวล บ้างสงสาร บ้างโกรธ บ้างไม่เข้าใจ ในพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับช้าง
วันที่ 13 มีนาคมของทุกปี ได้รับการยกย่องให้เป็น “วันช้างไทย” สัตว์คู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณ แต่สถานการณ์ในวันนี้ ช้างกำลังประสบกับปัญหาในหลากหลายมิติ ไทยพีบีเอสมีโอกาสได้พูดคุยกับ นายสัตวแพทย์ ภัทรพล มณีอ่อน หรือ “หมอล็อต” หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อร่วมกัน “ถอดรหัสปัญหา” ทำไมช้างป่าบุกรุกพื้นที่คน? พร้อมแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ “ช้าง” ได้หวนคืนกลับสู่ธรรมชาติของตัวเองอีกครั้ง...
สถานการณ์ “ปัญหาช้าง” ในเวลานี้...
หมอล็อตเริ่มต้นเล่าถึงปัญหาของช้าง ซึ่งถือเป็น “เรื่องใหญ่” ที่ผู้คนให้ความสนใจ ปัญหาที่เกิดมีด้วยกัน 2 ลักษณะ ลักษณะแรก เป็นปัญหาหลัก นั่นคือ ช้างป่าออกนอกพื้นที่ ส่วนลักษณะที่สอง คือปัญหาที่คาดไม่ถึง เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ เป็นต้นว่า ช้างบุกห้องครัวบ้านเรือนประชาชน ช้างดักปล้นอ้อย หรือแม้แต่ช้างที่ประสบอุบัติเหตุต่าง ๆ ทั้งหมดเหล่านี้ เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการแก้ไขควบคู่กันไป
“ตอนนี้ทางกรมอุทยานฯ มีการมอนิเตอร์ติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิด เราแอ็คชันเร็ว ตอบสนองเร็ว เรามีชุดเตรียมความพร้อม มีเครือข่าย มีเจ้าหน้าที่ในแต่ละพื้นที่ ในขณะเดียวกัน ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้เรามีการแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น คือการแจ้งเหตุจากภาคประชาชน อาจจะแจ้งในพื้นที่โดยตรง หรือแจ้งมายังส่วนกลาง เรามีสายด่วน 1362 เป็นสายด่วนหลักในการแจ้งเหตุทั่วประเทศ พอรับเรื่องแล้ว เราประสานไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อดำเนินการทันที จุดไหนติดขัด หรือสถานการณ์ไหนยากลำบาก เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางจะเข้าไปช่วยซัพพอร์ตให้”
หมอล็อตเล่าต่อว่า สูตรการทำงานของพวกเขา ง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน นั่นคือ ทำเวลา และต้องทำแข่งกับเวลา
“ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่า เป้าหมายในการแก้ไขปัญหาคืออะไร เพราะฉะนั้น ก็ต้องไปให้ไว แม้ว่าระหว่างเส้นทางอาจจะต้องเจอปัญหาอย่างอื่นที่คาดไม่ถึง แต่อย่าไหวหวั่น บางเรื่องทำแล้วไม่เห็นผล ก็ต้องอดทน เพราะปัญหากว่าที่มันจะเกิด ต้องผ่านเวลามาพอสมควร ดังนั้น การแก้ไขปัญหา บางอย่างก็ต้องใช้เวลาด้วยเหมือนกัน ทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มันมีกระบวนการคิด แก้ไข และหาทางออก ควบคู่กันไป”
“ช้าง” ไม่อยู่ในป่า ปัญหาคืออะไร?
ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ช้างบุกรุกพื้นที่คน หรือช้างออกมาขวางการสัญจรบนนถนน คำถามตั้งต้นคือ ทำไมช้างถึงไม่อยู่ในพื้นที่ของตนเอง? หมอล็อตตอบที่มาของปัญหาเหล่านี้ว่า เป็นเพราะป่า หรืออาจจะเรียกว่า “บ้านของช้าง” ไม่น่าอยู่แล้วนั่นเอง
“ถ้าบ้านน่าอยู่ ใคร ๆ ก็อยากอยู่บ้าน ถูกไหมครับ แต่ขณะนี้ ด้วยปัญหา climate change หรือสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง ส่งผลให้แหล่งน้ำในพื้นที่ป่า 400 กว่าแห่ง แห้งเหือดลงไป รวมไปถึงทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นแหล่งอาหารหลักของช้าง ก็หายไป หากดูจากภาพถ่ายดาวเทียม จะเห็นว่าพื้นที่โล่งที่เป็นทุ่งหญ้าหายไปเยอะมาก บางแห่งกลายเป็นป่าทึบ หรือมีพวกพืชต่างถิ่นขึ้นปกคลุม ซึ่งช้างไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และประการสุดท้าย แหล่งดินโป่ง ซึ่งเป็นแหล่งดินที่มีรสเค็ม และมีแร่ธาตุที่ช้างต้องการกว่า 15 ชนิด พลอยหายไปด้วย ทำให้ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ช้างจะออกนอกพื้นที่ และมาหาอาหารกินในชุมชน”
“อย่างที่เห็นเขาเข้าไปพังครัว นั่นคือ การหาสารอาหาร จากเกลือ จากซอสปรุงรส หรือที่เห็นเขาไปคุ้ยขยะ เพราะเขาต้องการสารอาหาร ที่ซ้ำร้ายคือ เขากินพลาสติกเข้าไป ซึ่งเวลากินของแปลกปลอมเหล่านี้เข้าไป ถ้าออกมาทั้งหมดก็ดีไป แต่ถ้ามันไปตกค้างในลำไส้ เขาก็อาจจะเจ็บป่วย นี่คือสถานการณ์ที่ไม่ดี และเป็นความผิดปกติที่เราต้องรีบแก้ไข”
เมื่อรู้ถึงที่มาของปัญหา หมอล็อตบอกว่า หน้าที่สำคัญของพวกเขา คือ ต้องนำช้างกลับบ้าน ให้จงได้
“เป้าหมายของกรมอุทยานฯ คือการทำบ้านให้น่าอยู่ โดยน้อมนำพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือการทำบ้านให้น่าอยู่ ถ้าบ้านน่าอยู่ ใคร ๆ ก็อยากกลับบ้าน ดังนั้น เราจะทำแหล่งทุ่งหญ้า ทำแหล่งน้ำ ทำแหล่งอาหารของช้างป่า ให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง”
ภารกิจนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย...และต้องอาศัยความร่วมมือ
หมอล็อตเล่าเรื่องภารกิจที่กำลังลงมือทำให้ฟัง เขายกตัวอย่าง “ปัญหาช้าง” ว่าเหมือนกับ “ก้อนไหมพรมที่มีหลายหลากสี” อธิบายง่าย ๆ คือปัญหามีหลากมิติ หน้าที่ของพวกเขา คือการค่อย ๆ แกะปมไหมพรมออกทีละเส้น แล้วนำมาถักทอใหม่ให้เป็นผืนไหมพรมที่ดูสวยงาม บูรณาการให้ชัดเจนมากกว่าเดิม
“เรื่องช้าง เป็นเรื่องที่หลายฝ่าย หลายหน่วยงานต้องร่วมมือกัน เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำตอนนี้คือ ทำไม่คิด เพราะมาตรการต่าง ๆ ถูกคิดไว้หมดแล้ว หน้าที่ของเราคือ ลงมือทำ และต้องทำแข่งกับเวลา ทำได้เร็วเท่าไร โอกาสที่ปัญหาจะถูกแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น”
หมอล็อตเล่าต่อว่า ที่ผ่านมา เขาวางมาตรการแก้ปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ โดยตั้งชื่อภารกิจให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “3 อึ้ง” อันประกอบไปด้วย การตรึง การขึง และการผึ่ง
“การตรึง เป็นระยะฉุกเฉินเร่งด่วน กรณีที่ช้างออกมานอกพื้นที่ คนต้องปลอดภัย ช้างต้องปลอดภัย โดยทางกรมอุทยานฯ มีการสนับสนุนเครือข่ายเฝ้าระวังช้างทั่วประเทศ จำนวน 124 เครือข่าย เราสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ให้เครือข่ายละ 5 หมื่นบาท เป็นค่าจัดเตรียมอุปกรณ์ ในการเฝ้าระวัง รวมถึงการผลักดันช้าง มีการยกระดับเครือข่ายเฝ้าระวังช้างทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น ชาวบ้าน ต่างมาช่วยกัน ป้องกันให้ทั้งคนและช้างปลอดภัย”
“เครือข่ายเหล่านี้ ต้องทำให้มีมาตรการเดียวกัน หลักการคือ หนึ่ง มีความสามัคคี บางพื้นที่ต้องยอมเป็นพื้นที่ในการผลักดันช้างกลับป่า ไม่ใช่ผลักกันไปผลักกันมา สองคือ ต้องมีแผนที่อันเดียวกัน จะได้วางแผนงานเป็นภาพเดียวกัน ทำให้รู้ว่าควรผลักดันช้างไปทิศทางไหน และสาม ต้องมีระบบการสื่อสารที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารทางวิทยุ ทางไลน์ เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น เช่น เดี๋ยวจะมีการผลักดันช้างไปหมู่บ้านตรงนั้นตรงนี้ แจ้งเตือนทุกคนไม่ควรออกมานะ เพื่อความปลอดภัย”
“มาตรการต่อมาคือ การขึง หรือการทำแนวป้องกันช้างออกนอกพื้นที่ เรามีด้วยกันหลายแบบ แบบแรกคือ การขุดคูกันช้าง ซึ่งได้ผลดี แต่ก็ยังมีบางจุดที่ช้างหลุดออกมาได้ เนื่องจากดินรอบคูมีการหลุดร่นลงมา ต่อมาเราจึงเพิ่มด้วย รั้วกันช้าง โดยทำเป็นรั้วเหล็ก สามารถช่วยกั้นช้างได้อีกระดับหนึ่ง แต่รั้วเหล็กมีปัญหาเวลาเจอแดดเจอฝน สภาพก็ไม่แข็งแรงไปตามเวลา ต่อมาเราจึงคิดทำแนวกั้นแบบผสมผสาน คือเป็นคูด้วย เป็นรั้วด้วย ตรงไหนมีคู เราก็ทำรั้วเสริมขึ้นไปอีก ตรงไหนมีปัญหาดินร่นดินสไลด์ เราก็ปลูกหญ้าแฝก เพื่อให้ดินแน่นขึ้น ซึ่งสิ่งที่ได้กลับมาคือ มีแนวเขตป้องกันช้างที่ชัดเจน บางจุดเราสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงซาฟารีก็ยังได้ในอนาคต”
“มาถึงมาตรการสุดท้าย คือการผึ่ง เป็นการผึ่งแดด เปิดหน้าดิน ถางดินทำพื้นที่ที่เคยรก ที่ช้างไม่สามารถอยู่ได้ ให้กลับกลายเป็นทุ่งหญ้า รวมทั้งทำแหล่งน้ำ แหล่งดินโป่งให้อุดมสมบูรณ์ นี่คือนิยามของคำว่า ผึ่ง ซึ่งเมื่อไรที่มาตรการตรึง ขึง และผึ่ง มันพัฒนาจนครบถ้วน เราจะพาช้างกลับบ้าน แต่ในมุมกลับกัน ถ้าสภาพบ้านเขายังไม่พร้อม ต่อให้เอากลับไป เดี๋ยวเขาก็ออกมาอีกอยู่ดี”
แก้ว 3 ประการ...ตัวช่วยพาช้างกลับบ้าน
หมอล็อตเล่าต่อว่า ภารกิจเร่งด่วนในเวลานี้ คือเรื่องการดูแลความปลอดภัย ทั้งคน และช้าง เบื้องต้นมีระบบเฝ้าระวัง จัดชุดสนับสนุนที่เป็นเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งหมด 124 เครือข่าย รวมทั้งยังมีระบบการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีช้างป่าบุกรุกพื้นที่ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ ถือเป็นความโชคดีที่มีองค์กรและหน่วยงานสำคัญ ได้เข้ามาช่วยเหลืออีกทาง ไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาช้าง โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ และศูนย์แก้ไขปัญหาช้างและสัตว์ป่า ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช
“นี่คือ ‘แก้วสามประการ’ ในการแก้ปัญหาคนกับช้าง” หมอล็อตบอกอย่างนั้น
“ปัจจุบันเรามี 3 ตัวช่วยด้วยกัน ตัวช่วยแรก คณะกรรมการอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาช้าง ที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน โดยคณะกรรมการชุดนี้ ประกอบไปด้วยนักวิชาการ และผู้ทรงคุณวุฒิหลายคน ซึ่งกลไกสำคัญที่สุดของคณะกรรมการชุดนี้คือ เรื่องงบประมาณ มีการมอบเงินชดเชย เงินค่ารักษาดูแล ซึ่งทำเป็นหลักการเดียวกัน ตรงนี้ถือว่าช่วยบรรเทาความเดือดรอนให้กับประชาชน และทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาช้างร่วมกับเจ้าหน้าที่อีกด้วย”
“ตัวช่วยต่อมาคือ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ อันเป็นโครงการในพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ซึ่งถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ทรงให้ความห่วงใย ติดตามแก้ไขปัญหาเรื่องช้างตลอดมา มีการบูรณาการการแก้ไขทุกภาคส่วน และเป็นการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน”
“มาถึงตัวช่วยที่สาม ทางกรมอุทยานฯ ตั้งศูนย์แก้ไขปัญหาช้างและสัตว์ป่าขึ้นมา โดยเป็นการดำเนินงานแก้ไขปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ รวมไปถึงการดูแลรักษาพยาบาลช้างป่าที่บาดเจ็บ นอกเหนือจากนี้ ยังมีมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ที่ตั้งขึ้นโดยพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นโครงการอนุรักษ์ป่าในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออกของประเทศ"
"มูลนิธิแห่งนี้ทำหน้าที่สนับสนุนหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ที่แก้ปัญหาเรื่องของช้าง รวมทั้งสนับสนุนบุคลากร ให้ทุนการศึกษา บุตร หรือดูแลเจ้าหน้าที่ที่บาดเจ็บ และส่งเสริมภารกิจการปรับปรุงแหล่งน้ำ แหล่งอาหารสำหรับช้างและสัตว์ป่า ทั้งหมดถือเป็นตัวช่วยให้การทำงานแก้ไขปัญหาของเจ้าหน้าที่ สามารถดำเนินการไปได้ด้วยดี”
เหนือกว่าปัญหาช้างออกนอกพื้นที่ คือปัญหาช้างไทยที่อาจสูญพันธุ์ได้ทุกวินาที
แม้เรื่องช้างบุกรุกพื้นที่คน จะเป็นเรื่องน่ากังวล แต่ในฐานะสัตวแพทย์ที่ติดตามเฝ้าระวังปัญหาสัตว์ป่ามาตลอด หมอล็อตบอกว่า ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน นั่นคือ คุณภาพประชากรช้าง
“ผมพูดมาตลอดว่า ไม่ว่าช้างจะมีจำนวนเยอะหรือน้อย แต่ช้างเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ได้ทุกวินาที เนื่องจากประชากรช้างไม่มีคุณภาพ ช้างไม่มีความแข็งแรงทางพันธุกรรม นี่คือเรื่องใหญ่ เพราะช้างป่าส่วนใหญ่ในประเทศ เขาอาศัยตามพื้นที่ที่เป็นเกาะ ดังนั้น เขาไม่สามารถข้ามไปผสมพันธุ์กับช้างในพื้นที่อื่น ๆ ได้เลย ซึ่งมันมีโอกาสในการเกิด in breeding หรือการผสมพันธุ์เลือดชิด ในกลุ่มเครือญาติกันเอง”
“ผลพวงในการเกิดเลือดชิด คือหนึ่ง โครงสร้างของลูกที่เกิดมา มีร่างกายผิดรูป หรือพิการ สอง เกิดปัญหาเรื่องภูมิคุ้มกันด้อย หากเกิดโรคติดต่อ หรือแม้แต่โรคอุบัติใหม่ขึ้นมา ช้างเหล่านี้จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ที่สำคัญ เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ยิ่งทุกวันนี้ ปัญหา climate change รุนแรงขึ้น โอกาสที่จะเกิดโรคระบาดมีสูง ผมถึงบอกว่า ช้างสามารถสูญพันธุ์ได้ทุกวินาที”
“ส่วนผลกระทบเรื่องที่สาม คือเรื่องระบบสืบพันธุ์มีปัญหา การผสมพันธุ์ติดลูกยาก หรือลูกแท้งตายก่อนคลอด อัตราการเกิดใหม่ลดลง นี่เป็นผลจากเลือดชิดเหมือนกัน ทางออกของปัญหาเหล่านี้คือ ต้องพัฒนาคุณภาพช้าง สร้างความหลากหลายทางพันธุกรรมให้มากขึ้น โดยมีวิธีการคือ หนึ่ง การทำคอริดอร์ (corridor) ให้ช้าง เหมือนอย่างที่อุทยานแห่งชาติทับลาน เราทำทางให้ช้างข้ามไปหาหากันได้ กรณีที่มีพื้นที่ป่าติดกัน แล้วมีถนนคั่น เราสามารถทำคอริดอร์ให้ช้างไปมาหาสู่กันได้”
“ส่วนวิธีการที่สอง คือเคลื่อนย้ายช้างตัวเป็น ๆ จากป่าหนึ่งไปอีกป่าหนึ่ง และวิธีที่สาม เคลื่อนย้ายทางเซลล์สืบพันธุ์ ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งทุกวันนี้ สัตวแพทย์ไทยมีความเชี่ยวชาญมากขึ้น ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยในเรื่องพันธุกรรมที่จะส่งผลต่อคุณภาพประชากรช้างต่อไป”
มีปัญหาต้องช่วยกันแก้ไข เพราะสุดท้าย “ช้าง” กับ “คน” ต้องอยู่ร่วมกันและเกื้อกูลกัน
เพราะทุกปัญหามีทางออก และปัญหาของคนกับช้าง ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ หมอล็อตบอกว่า เจ้าหน้าที่มิได้นิ่งนอนใจ และพยายามหาทางช่วยเหลือ ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ทั้งช้าง และคน ต่างได้รับความปลอดภัย
“ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เขาเดือดร้อนจริง ๆ ฉะนั้น เราก็ต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา เราเข้าใจความรู้สึก เข้าใจอารมณ์ที่เขาถูกกระทำ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็ต้องมีช่องทางอธิบายสร้างความเข้าใจ หาทางออกร่วมกัน เพื่อให้คนและช้างป่าอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืน”
คำว่า สมดุลและยั่งยืน ในบริบทของหมอล็อต เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า ทั้งคนและช้าง ต่างต้องเกื้อกูลซึ่งกันและกัน
“คนอยู่บ้าน ช้างอยู่ป่า โดยคนและช้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล และพึ่งพากัน ช้างต้องอยู่ในป่าดำรงชีพเพื่อรักษาสมดุลป่า ส่วนคนก็อยู่นอกป่าไม่ไปบุกรุกทำลายป่า หรือรบกวนช้างป่า แต่สถานการณ์ตอนนี้คือ บ้านของช้างป่าได้สูญเสียความอุดมสมบูรณ์ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แหล่งทุ่งหญ้าลดน้อยลง แหล่งน้ำแห้งหาย ดินโป่งเจือจาง บางพื้นที่ช้างป่าเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับล้น ช้างป่าจึงต้องออกมาหากินอาหารและแหล่งน้ำนอกพื้นที่ป่า”
“เมื่อป่าเปลี่ยนแปลง คนก็ต้องเข้าไปฟื้นฟู ให้บ้านกลับมาน่าอยู่และรองรับช้างป่าได้ ส่วนความเสียหายนั้น การชดเชยความเสียหายที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็น ควบคู่กับระบบการสร้างความปลอดภัยของคนและช้างป่า เร่งทำเวลา จนกว่าเราจะเดินไปถึงเป้าหมายสูงสุด คือช้างป่าได้อยู่ในที่เหมาะสม ไม่บุกรุกคน”
เพราะทุก ๆ ชีวิตย่อมอยากมีบ้านที่น่าอยู่ และหากเลือกได้ คงไม่มีใครอยากเบียดเบียนกันและกัน…
“เขาอยากอยู่บ้าน เวลาเขาอยู่นอกบ้าน เขาไม่มีความสุข ช่วยทำบ้านเขาให้น่าอยู่ แล้วเขาจะกลับไปอยู่บ้าน แล้วเมื่อไรที่เขากลับไปอยู่ที่บ้าน มนุษย์ก็จะได้ต้นไม้ จะได้ป่า เมื่อมีป่า ก็จะมีน้ำ เมื่อมีน้ำ ก็จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ เพราะฉะนั้น เอาช้างกลับไปอยู่บ้าน ให้เขากลับไปเป็น รปภ.รักษาสิ่งแวดล้อมให้กับมนุษย์กันดีกว่าครับ”
ถ่ายภาพโดย : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน