ตรุษจีน 2567 เปิดเรื่องราว “แซ่” ในหมู่ชาวจีน


Lifestyle

9 ก.พ. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรุษจีน 2567 เปิดเรื่องราว “แซ่” ในหมู่ชาวจีน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/791

ตรุษจีน 2567 เปิดเรื่องราว “แซ่” ในหมู่ชาวจีน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ชนชาติจีน เป็นหนึ่งในชนชาติที่มีประชาชนมากที่สุดในโลก มากไปกว่านั้น คืออัตลักษณ์ความเป็นจีน ที่เป็นภาพจดจำต่อผู้คนทั่วโลก และหนึ่งในอัตลักษณ์สำคัญของหมู่ชาวจีน นั่นคือ การใช้ “แซ่จีน” 

“แซ่” ในหมู่ชาวจีนมีความเป็นมาอย่างไร ตลอดจนมีความสำคัญแค่ไหน Thai PBS มีเรื่องราวน่ารู้ของการใช้แซ่ นับจากอดีตสู่ปัจจุบัน มาบอกกัน เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลตรุษจีนที่มาถึงในปีนี้

“แซ่” คืออะไร ?

“แซ่” เป็นภาษาจีน มีความหมายว่า นามสกุล แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า "แซ่" ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อใด แต่เชื่อว่ามีการใช้สืบต่อกันมายาวนานเป็นเวลาหลายพันปี ยังมีคำใกล้เคียงกับแซ่อีกคำ นั่นคือ “สี” แต่มีความหมายใช้ต่างกัน กล่าวคือ แซ่ กินความหมายถึง โคตรวงศ์เก่าแต่โบราณ ส่วน สี คือตระกูลย่อย ที่แยกสาขามาจากแซ่ หรือโคตรวงศ์โบราณ นั่นเอง

ที่มาของการตั้ง “ชื่อแซ่”

ชาวจีนมี “แซ่” จำนวนนับหมื่นแซ่ ทั้งนี้ แซ่ส่วนมาก มักมีพยางค์เดียว อาทิ แซ่ตั้ง แซ่ลิ้ม แซ่เฮ้ง ฯลฯ ส่วนชื่อแซ่ 2 พยางค์มีจำนวนไม่มาก และชื่อแซ่เกิน 2 พยางค์ขึ้นไป มักเป็นแซ่ของชนส่วนน้อยของจีน

นอกจากนี้ การตั้งชื่อแซ่ของชาวจีน ยังมีที่มาจากหลากหลายต้นกำเนิด อาทิ ตั้งตามชื่อราชวงศ์, ชื่อเมืองที่อาศัย, ชื่อแคว้น, ชื่อยศถาบรรดาศักดิ์, ชื่ออาชีพ หรือแม้แต่ชื่อจากสิ่งที่บูชา เช่น มังกร ภูเขา ต้นไม้ แม่น้ำ ดอกไม้ 

ด้วยบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการเมืองในหลายยุคหลายสมัย ส่งผลให้การใช้ชื่อแซ่ในหมู่ชาวจีน เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แซ่โบราณที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์มาเนิ่นนาน อาจไม่มีใช้แล้วในยุคปัจจุบัน รวมทั้งยังมีแซ่ที่เกิดขึ้นใหม่ และยังใช้กันอยู่ตราบถึงปัจจุบันอีกเป็นจำนวนมาก

“แซ่” ที่มีผู้ใช้มากที่สุด มีอะไรบ้าง ?

แซ่ ที่มีผู้ใช้มากที่สุดในโลก 10 อันดับแรก ได้แก่

  1. แซ่จาง 
  2. แซ่หวาง 
  3. แซ่หลี่ 
  4. แซ่จ้าว 
  5. แซ่หลิว 
  6. แซ่เฉิน 
  7. แซ่หยาง 
  8. แซ่หลิน 
  9. แซ่สวี่ 
  10. แซ่โจว

จาก 10 แซ่ดังกล่าวนี้ มีผู้ใช้รวมอยู่ทั้งสิ้นราว 250 ล้านคนทั่วโลก แต่หากนับเฉพาะผู้ที่ใช้ชื่อแซ่ที่อาศัยอยู่ในประเทศจีน จากข้อมูลของศูนย์วิจัยภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงความมั่นคงสาธารณะของสาธารณรัฐประชาชนจีน มีอยู่ 10 แซ่ที่มีผู้ใช้มากที่สุด ได้แก่

  1. แซ่เฮ้ง  จำนวนราว 94 ล้านคน คิดเป็น 7.10 % ของประชากรจีน
  2. แซ่ลี้ จำนวนราว 92 ล้านคน คิดเป็น 6.96% ของประชากรจีน
  3. แซ่เตียว,เตีย จำนวนราว 85 ล้านคน คิดเป็น 5.16% ของประชากรจีน
  4. แซ่เล่า จำนวนราว 68 ล้านคน คิดเป็น 6.42% ของประชากรจีน
  5. แซ่ตั้ง จำนวนราว 56 ล้านคน คิดเป็น 4.26% ของประชากรจีน
  6. แซ่เอี้ย จำนวนราว 39 ล้านคน คิดเป็น 2.97% ของประชากรจีน
  7. แซ่อึ้ง จำนวนราว 28 ล้านคน คิดเป็น 2.16% ของประชากรจีน
  8. แซ่เตี๋ย จำนวน 27 ล้านคน คิดเป็น 2.03% ของประชากรจีน
  9. แซ่โง้ว จำนวนราว 25 ล้านคน คิดเป็น 1.88% ของประชากรจีน
  10. แซ่จิว จำนวนราว 23 ล้านคน คิดเป็น 1.78% ของประชากรจีน
     

ส่วนประเทศไทย มีแซ่ที่มีผู้นิยมใช้ 10 อันดับ ได้แก่

  1. แซ่ตั้ง (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่เฉิน)
  2. แซ่ลิ้ม (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่หลิน)
  3. แซ่ลี้ (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่หลี่) 
  4. แซ่อึ๊ง (ภาษาจีนกลางคือ แซ่หวง)
  5. แซ่โง้ว (ภาษาจีนกลางคือ แซ่อู๋)
  6. แซ่โค้ว (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่สวี่)
  7. แซ่เตีย (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่จาง)
  8. แซ่แต้ (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่เจิ้ง)
  9. แซ่เล่า (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่หลิว)
  10. แซ่เฮ้ง (ในภาษาจีนกลางคือ แซ่หวัง)

วิวัฒนาการใช้ “แซ่” ในประเทศไทย

ตามบันทึกทางประวัติศาสตร์ ชาวจีนเข้ามาตั้งรากฐานในประเทศไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา เมื่อเวลาผ่านไป ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “พระราชบัญญัติขนานนามสกุล พระพุทธศักราช 2456” โดยมีพระราชประสงค์ให้คนไทยมีชื่อตัวและชื่อสกุล เพื่อให้ทราบเทือกเถาเหล่ากอ และสามารถจัดทำทะเบียนคนเกิด คนตาย และการจดทะเบียนสมรสได้ 

ทั้งนี้ทรงมีพระบรมราชาธิบายเรื่องการเปรียบเทียบนามสกุลกับแซ่  โดยมีนัยยะสำคัญคือ ผู้ร่วมแซ่อาจไม่ได้เป็นสายโลหิตเดียวกันก็ได้ แต่ผู้ร่วมสกุล ถ้าไม่ได้เป็นสายโลหิตต่อกันโดยแท้แล้ว ร่วมสกุลกันไม่ได้ นอกจากรับเป็นบุตรบุญธรรมเป็นกรณีพิเศษเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ คนไทยเชื้อสายจีน หลายคนอาจเคยเจอคนที่นามสกุลเหมือนกันแต่ไม่ได้รู้จักกัน ด้วยที่มาของแซ่ที่หลากหลาย และมีต้นกำเนิดมาจากที่เดียวกันคือประเทศจีน จึงมีโอกาสที่จะเจอผู้ที่มีแซ่เดียวกันได้

การเปลี่ยน “แซ่” เป็น “นามสกุล” ในสังคมไทย

แม้ปัจจุบันจะยังมีผู้ที่ใช้แซ่กันอย่างแพร่หลาย แต่ในคราวเดียวกัน ในหมู่คนไทยเชื้อสายจีน มีการเปลี่ยนจากการใช้ชื่อแซ่ มาเป็นชื่อนามสกุล ด้วยเหตุผลหลายประการ อาทิ ต้องการให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น หรือเพื่อสะดวกต่อการสมัครงาน 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนจากชื่อแซ่มาใช้นามสกุลของคนไทยเชื้อสายจีน ยังคงมีความพยายามเชื่อมโยงนามสกุลใหม่กับชื่อแซ่เก่า เป็นต้นว่า นำชื่อแซ่เก่า มาเป็นคำขึ้นต้นนามสกุล เช่น แซ่ตัน เปลี่ยนมาเป็นนามสกุล ตันเจริญ หรือ แซ่ลิ้ม เปลี่ยนมาเป็นนามสกุล ลิ้มทองกุล 

อีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการนำชื่อแซ่มาแปลเป็นความหมายภาษาไทย เพื่อตั้งเป็นนามสกุล เช่น แซ่เบ๊ หรือแซ่หม่า ในสำเนียงจีนกลาง ซึ่งแปลว่า ม้า เมื่อนำมาตั้งเป็นนามสกุล จึงกลายเป็น ศิลปอาชา หรือเหล่านามสกุลที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “อัศว” ก็เช่นเดียวกัน

บทสรุป การใช้ “แซ่” กับเจตนารมณ์แห่งความรักสามัคคี

ยุคสมัยเปลี่ยนแปลง วิถีของผู้คนเปลี่ยนไป เรื่องการใช้ “แซ่” ในหมู่ชาวจีน โดยเฉพาะในเมืองไทย มีความเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่หากมองย้อนกลับไป การใช้ “แซ่” ยังคงซ่อนเจตนารมณ์ของการสร้างชาติ รวมถึงการสร้างความเป็นปึกแผ่นในหมู่คนเชื้อสายจีน 

ยิ่งกับ “ชาวจีนโพ้นทะเล” ในยุคอดีต ที่ต้องรอนแรมเดินทางอพยพออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ ระบบตระกูลแซ่ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการรวมชนชาติจีนเข้าด้วยกัน จึงเป็นที่มาของความเชื่อที่ว่า ทุกแซ่ล้วนสืบสายและเป็นลูกหลานชาวจีนเช่นเดียวกัน 

นอกจากนี้ หากเป็นระบบตระกูลแซ่ที่เข้มแข็ง ยังทำให้สมาชิกของตระกูลในรุ่นลูกหลาน สามารถเดินทางกลับไปเยี่ยมเยียน หรือสืบค้นรกรากของบรรพชนยังแผ่นดินจีนได้อยู่เสมอ

แซ่จีน นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ที่บ่งบอกได้ทั้งภูมิลำเนา และแนวคิดการนับถือบรรพชน อีกทั้งยังสะท้อนเรื่องราวของชาวจีนโพ้นทะเลที่พลัดถิ่นฐาน ความเป็นสายเลือดมังกรที่ยังเชื่อมโยงกันเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตามที และนี่อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่า…

ทำไมชนชาติจีนจึงมีความยิ่งใหญ่ และถ่ายทอดความยิ่งใหญ่เหล่านี้ จากรุ่นสู่รุ่น มาจนถึงทุกวันนี้…

แหล่งข้อมูล

-“แซ่” นามสกุลของคนจีนมีที่มาจากไหน “แซ่” บอกอะไร

-ตำนานแซ่คนจีน แนวเหยียนตี้-หวงตี้คือพี่น้องกัน แตกสาขาแล้วเป็นแซ่ของลิโป้-ทักษิณ

-www.hakkapeople.com

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แซ่จีนคนจีนคนจีนโพ้นทะเลตระกูลคนจีนแซ่ดังในคนจีนตรุษจีน
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด