นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกาให้ข้อสรุปเกี่ยวกับการดื่มนมที่มีแล็กโทส (Lactose) ในปริมาณที่มากขึ้นช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน ประเภท 2 ได้ถึง 30% ในคนบางกลุ่มได้
"โรคเบาหวาน" สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีน้ำหนักเกิน การออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ และพันธุกรรม ซึ่งที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคนมกับโรคเบาหวานประเภท 2 เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิจัยถึงความเชื่อมโยงในการป้องกันหรือการเพิ่มความเสี่ยงของโรคเบาหวาน
แต่งานวิจัยใหม่จากนักวิจัยในสหรัฐอเมริกาได้ข้อสรุปว่า นมที่มีแล็กโทสสามารถลดความเสี่ยงโรคเบาหวานประเภท 2 ได้ในบางคน ซึ่งขึ้นอยู่กับพันธุกรรม
ในการศึกษาผู้ใหญ่ชาวอเมริกันเชื้อสายสเปนและลาติน มากกว่า 12,000 คน ซึ่งความสัมพันธ์ของการบริโภคนมกับโรคเบาหวานเกิดขึ้นแค่ในบุคคลที่มียีนจำเพาะต่างกันออกไป โดยยีนดังกล่าวจะเข้ารหัสเอนไซม์แล็กเทส (Lactase deficiency) ซึ่งจำเป็นต่อการสลายน้ำตาลในนม บางคนผลิตแล็กเทสตลอดชีวิต แต่บางคนก็หยุดผลิตมันหลังเป็นทารกเมื่อเลิกดื่มนมแม่แล้ว บุคคลเหล่านี้จึงประสบปัญหาในการย่อยน้ำตาลในนม ซึ่งในหลายกรณีอาจส่งผลให้เกิดการแพ้แล็กโทสได้
นักวิจัยพบว่า การบริโภคนมในปริมาณที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงโรคเบาหวานที่ลดลง 30% ในบุคคลที่แพ้แล็กโทส แต่จะไม่มีการลดความเสี่ยงในบุคคลที่ดื่มนมเป็นประจำแต่ไม่มีตัวแปรของยีน
การวิจัยพบว่าบุคคลที่ไม่ทนต่อแล็กเทสจำนวนมากยังสามารถบริโภคแล็กโทสได้มากถึง 12 กรัมต่อวัน เทียบได้กับปริมาณในนมแก้วใหญ่ โดยไม่ต้องทรมานจากอาการแพ้ในบุคคลเหล่านี้ การดื่มนมมีความเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของแบคทีเรียในลำไส้ที่ดี ซึ่งมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ลดลงของโรคเบาหวานประเภท 2 และการบริโภคนมยังสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของระดับเมแทบอไลต์ในเลือดในกลุ่มที่ไม่ได้ผลิตแล็กเทสเมื่อโตเต็มวัยอีกด้วย
ที่มาข้อมูล: newsweek, newatlas, medicalxpress
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech