หลายคนอาจจะคิดว่า “เห็ดเผาะ” ก็น่าจะเหมือน ๆ กันหมด Thai PBS Sci & Tech ขอพาไปรู้จัก “เห็ดเผาะ” ชนิดใหม่ซึ่งก็คือ “เห็ดเผาะสิรินธร” สะท้อนความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้อย่างน่าอัศจรรย์
“เห็ดเผาะสิรินธร” หรือ 𝘴𝘵𝘳𝘢𝘦𝘶𝘴 𝘴𝘪𝘳𝘪𝘯𝘥𝘩𝘰𝘳𝘯𝘪𝘢𝘦 Watling, C. Phosri, N. Suwannasai, A.W. Wilson & M.P. Martin จะมีขนาดใหญ่กว่า “เห็ดเผาะ” ทั่วไปประมาณ 2-3 เท่า ขนาดของดอกเห็ดบางดอกมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 5.5 เซนติเมตร เมื่อเจริญเติบโตผิวภายนอกจะแตกออกเป็นแฉกรูปดาว เห็ดเผาะสิรินธรเป็นเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา ซึ่งมีความสัมพันธ์กับไม้ในวงศ์ยาง (Dipterocarpaceae) สามารถนำมาบริโภคได้และเริ่มมีชาวบ้านเก็บหามาจำหน่าย โดยเรียกว่า “เห็ดเผาะผา” พบครั้งแรกของโลกในไทย และพบได้เพียง 2 แห่งเท่านั้น
ทั้งนี้ “เห็ดเผาะสิรินธร” ถูกค้นพบกระจายอยู่บนพื้นดินในป่าภูเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มในป่าธรรมชาติร่วมกับไม้วงศ์ยาง ในระหว่างการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของเห็ดขนาดใหญ่ในช่วงเดือน กรกฎาคม - กันยายน ปี 2555 จากผลการศึกษาและตรวจพิสูจน์เอกลักษณ์ทางพันธุกรรม ฯ ทำให้ยืนยันได้ว่าเห็ดชนิดนี้เป็นเห็ดชนิดใหม่ ซึ่งพบครั้งแรกของโลกในประเทศไทย
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อให้กับเห็ดชนิดใหม่นี้ว่า “เห็ดเผาะสิรินธร”
ในปัจจุบันพบ “เห็ดเผาะสิรินธร” ได้เพียง 2 แห่งในประเทศไทย คือ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และ ป่าชุมชนใกล้โรงเรียนประชานุเคราะห์ 31 อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
จากการสำรวจของกลุ่มงานกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ พบ “เห็ดเผาะสิรินธร” ที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ และศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้ที่ 1 (ลำปาง) อ.งาว จ.ลำปาง โดยได้นำไปทดสอบคุณค่าทางโภชนาการของเห็ดสดต่อน้ำหนัก 100 กรัม พบว่า “เห็ดเผาะสิรินธร” มีแคลเซียมสูงถึง 53.83 มิลลิกรัม เหล็ก 8.95 มิลลิกรัม ให้พลังงาน 54.83 กิโลแคลอรี ไขมัน 0.31 กรัม คาร์โบไฮเดรต 9.49 กรัม โปรตีน 3.52 กรัม วิตามินบี 1 0.030 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.127 มิลลิกรัม ใยอาหาร 7.86 กรัม ความชื้น 85.36 กรัม เถ้า 1.32 กรัม
อนึ่ง สปอร์มีลักษณะทรงกลม ขนาด 6-11 ไมโครเมตร มีหนามที่มีลักษณะคล้ายพีระมิด
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช