นวัตกรรมฝีมือคนไทย "OxyRock" วัสดุตกแต่งประกายวิบวับ จากขยะในอุตสาหกรรมอาหารอย่าง "เปลือกหอยแมลงภู่" ผสมกับเส้นพลาสติก เพื่อทำเป็นทรายประกายมุก ใช้ตกแต่งวัสดุต่าง ๆ เพิ่มมูลค่ามากขึ้น ที่สำคัญยังไม่เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างไมโครพลาสติกอีกด้วย
ปัจจุบันมีเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมอาหารทะเลหลายหมื่นตันต่อปี วิธีการกำจัดไม่สามารถเผาทำลายได้ ต้องกำจัดด้วยวิธีการฝังกลบ ทำให้เปลือกหอยแมลงภู่จำนวนหนึ่งถูกทิ้งในพื้นที่สาธารณะ สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงได้มีการคิดค้นแปรรูป "เปลือกหอยแมลงภู่" ขึ้นมา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะอาหารเหล่านี้
"OxyRock" เป็นนวัตกรรมที่นำเส้นพลาสติกที่ทำมาจากเศษพลาสติก (PLA) ที่เหลือทิ้งจากการพรินต์งาน 3D รวมกับทรายประกายมุกที่ผลิตจากเปลือกหอยแมลงภู่เหลือทิ้ง มาขึ้นรูปทรงตามที่ต้องการแล้วเคลือบด้วยไทเทเนียมที่ผสมกับทรายประกายมุกอีกครั้ง ทำให้รูปทรงดังกล่าวมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ ช่วยในการฟอกอากาศ
นายจีระศักดิ์ จิตรโรจนรักษ์ หัวหน้าโครงการสร้างสรรค์งานนวัตกรรม ศูนย์นวัตกรรมโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ กล่าวว่า ทางทีมงานได้นำมาทำเป็นเส้นพลาสติก เพื่อใช้เครื่องพิมพ์สามมิติขึ้นรูปทรง 2 แบบ คือ กระถางต้นไม้ โดยต้นไม้ช่วยฟอกอากาศได้ ขณะที่กระถางมีส่วนผสมของทรายประกายมุกที่ทำมาจากเปลือกหอยแมลงภู่มีคุณสมบัติในการดูดกลิ่นได้ด้วย จะช่วยทำให้ดูดกลิ่นและฟอกอากาศไปในตัว
จากนั้น ต่อยอดนำผลงานไปประกวดที่ฮ่องกง ซึ่งเป็นประเทศที่มีความเชื่อในการมูเตลู ชอบไหว้พระ จึงคิดไอเดียใช้เครื่องพิมพ์สามมิติพรินต์รูปทรงพระขึ้นมา และนำทรายประกายมุกมาเคลือบเหมือนจีวรทำให้ตัวองค์พระมีความสวยงามมากขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ ยังได้ลองใช้หลอดไฟใส่เข้าไปในองค์พระด้วย ทำให้พระดูมีมิติขึ้นมา
เส้นพลาสติก PLA นี้ สามารถนำไปขึ้นรูปทรงอะไรก็ได้ และสิ่งสำคัญคือ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าเมื่อไรเกิดการแตกหัก ทั้งหมดทำมาจากธรรมชาติ สามารถทิ้งลงไปในดินได้เลย โดยไม่เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และไม่สร้างไมโครพลาสติกด้วย
“เราได้รับรางวัล Grand Prize เหรียญทอง เป็น 1 ใน 6 ทีมที่ประเทศไทยส่งไปประกวดและได้รางวัลเหรียญทอง ได้รับการตอบรับอย่างดี ตอนที่ไปประกวดได้รับความสนใจเยอะ คนฮ่องกงชอบ ทำไมจู่ ๆ เราเอาพระมาวาง และก็มีคนอยากได้พระกลับด้วย แต่เนื่องจากยังเป็นต้นแบบอยู่ ก็เลยไม่ได้ให้ไป” นายจีระศักดิ์ เล่าถึงครั้งไปประกวดผลงาน
สำหรับผลิตภัณฑ์ชิ้นต่อไป มีแนวคิดขึ้นรูปทรงเป็น "ไม้กางเขน" เพราะมีแผนที่จะนำไปเสนอกับทางยุโรป ซึ่งมองพระเป็นเหมือนของตกแต่งบ้าน อาจจะไม่อินกับชาวพุทธอย่างเรา ก็ลองคิดว่าจะทำเป็นไม้กางเขน สามารถตกแต่งได้ ทรายสามารถแต่งสีแต่งกลิ่นได้ อาจจะทำเป็นเหมือนอโรมาเทอราปี ซึ่งขณะนี้กำลังลองตลาดอยู่ว่า คนสนใจอะไร ถ้าเป็นของอื่น ๆ อย่างของใช้ในบ้าน มีอะไรบ้างที่น่าสนใจ
นายจีระศักดิ์ ทิ้งท้ายฝากถึงหน่วยงานภาครัฐ โดยระบุว่า "อยากให้ช่วยหาตลาดให้กับนักประดิษฐ์ หรือนักวิจัย เพราะคนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มีความรู้ในเชิงธุรกิจมากนัก อาจจะต้องสำรวจก่อน ไม่เช่นนั้นผลงานก็จะอยู่แต่บนหิ้งไม่ได้ออกไปสู่ภายนอก แต่ถ้ามีตลาด หรืออย่างมีบูธ หรือเวที ให้นักประดิษฐ์ หรือนักวิจัย ได้มีโอกาสนำผลงานมาโชว์ให้คนได้เห็น เมื่อมีคนสนใจ แสดงว่าผลงานชิ้นนี้สามารถออกสู่ในเชิงพาณิชย์ได้"
รางวัลที่ได้รับ
• Grand Prize เหรียญทอง และ Special Award จากเวที The 3rd Asia Exhibition of Innovations and Inventions Hong Kong” (AEII) ที่ฮ่องกง
อ่านเรื่องอื่นเพิ่มเติม
"YES WHEELCHAIR" นวัตกรรมตรวจวัดการเคลื่อนไหว พัฒนาศักยภาพชีวิตของผู้ใช้งานวีลแชร์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
STORY : Thai PBS Sci & Tech
PHOTO : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน
EDITOR : วงศกานต์ จิรัฐิติกานต์