โรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของสมองส่วนหน้า ทำให้มีอาการอยู่ไม่สุข หงุดหงิดง่าย ขี้หลงขี้ลืมอยู่บ่อย ๆ ถึงแม้โรค ADHD จะเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงจิตเวชเด็ก แต่แท้จริงแล้ว วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ก็สามารถเป็นโรคนี้ได้เหมือนกัน ภัยร้ายใกล้ตัวที่ไม่ควรชะล่าใจ
แม้ว่าความรู้เกี่ยวกับ ADHD ในวัยผู้ใหญ่จะยังมีไม่มากนัก เมื่อเทียบกับในผู้ป่วยเด็ก แต่การศึกษานี้โดย “Penn Adult ADHD Treatment and Research” โครงการของโรงเรียนการแพทย์เพเรลแมน มหาวิทยาลัยแพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ได้บ่งชี้ว่า “โรคสมาธิสั้น” หรือ “ADHD” นั้น สามารถเกิดในผู้ใหญ่เช่นกัน ทั้งยังมีอาการที่แตกต่างจากกลุ่มเด็ก และส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำงานอย่างมาก โดยมีหนึ่งในสำเหตุการณ์เกิดที่สำคัญ “เทคโนโลยี”
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี ค.ศ. 2006 มีผู้ป่วยช่วงอายุ 3-19 ปี จำนวน 3.5 ล้านคน และผู้ป่วยช่วงอายุ 20-64 ปี จำนวน 1.5 ล้านคน ที่ได้รับการสั่งจ่ายยา Psychostimulant (เป็นยากระตุ้นประสาท ที่มักถูกใช้ในการรักษาโรคสมาธิสั้น)
อาการที่พบเห็นโดยทั่วไปและสามารถสังเกตได้ มีดังนี้
• ปัญหาด้านสมาธิ คือ มีความวอกแวกง่าย ฟังอะไรจับใจความไม่ค่อยได้ ทำงานผิดพลาดบ่อย
• ปัญหาด้านอารมณ์ คือ มีอารมณ์แปรปรวน โกรธง่าย หายเร็ว เครียด หงุดหงิดง่าย เบื่อง่าย หุนหันพลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ หรือบางคนมีอาการซึมเศร้า
• ปัญหาด้านการบริหารจัดการ คือ ไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ ทำงานไม่เสร็จในเวลาที่กำหนด ชอบผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ยอมเริ่มทำงาน ไปทำงานสายเป็นประจำ
• ปัญหาด้านการใช้ชีวิต คือ ไม่สามารถรออะไรได้นาน ๆ มีความวิตกกังวล นอนไม่หลับ มีปัญหากับคนรอบข้างบ่อย ๆ และมีปัญหาเรื่องการขับรถและประสบอุบัติเหตุได้ง่ายกว่าคนปกติ
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้น มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ดังนี้
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การศึกษาเกี่ยวกับ ADHD ในผู้ใหญ่นั้นมีไม่มากนัก แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่อาจเกี่ยวข้องกับการกำเนิดของโรค ADHD ได้แก่
• ปัจจัยทางพันธุกรรม กล่าวคือ โรคสมาธิสั้นสามารถเกิดขึ้นได้ในครอบครัว และจากการศึกษาระบุว่า ยีนอาจมีบทบาทในการทำให้เกิด ADHD
• ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ มารดามีประวัติสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดระหว่างตั้งครรภ์ หรือการได้รับสารตะกั่วในวัยเด็ก
• ปัญหาระหว่างการพัฒนา กล่าวคือ ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง
ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นนั้น ก็อาจมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน เพราะ ADHD อาจมีสาเหตุมาจากความเชื่อมโยงต่าง ๆ กับเหตุการณ์ที่เจอในแต่ละวัน กล่าวคือ ปัญหาทางการเงิน ปัญหาการว่างงาน ชีวิตในการเรียนหรือผลงานไม่ดี ความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคง หรือภาพลักษณ์ตัวเองไม่ดี เป็นต้น
อีกหนึ่งสาเหตุสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ “เทคโนโลยี”
ในปัจจุบัน “เทคโนโลยี” มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะใช้เพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งาน อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม ส่งแชต หรือใช้เพื่อการทำงานในชีวิตประจำวันก็ตามแต่ การใช้เทคโนโลยีมากเกินไป อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นได้ ซึ่งจากการศึกษาที่ถูกเผยแพร่ในวารสาร “Journal of the American Medical Association” ระบุว่า มีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงให้มีอาการ ADHD เกือบ 10%
จอห์น เรตีย์ (John Ratey) แพทย์และนักประสาทวิทยา รองศาสตราจารย์คลินิกด้านจิตเวชศาสตร์ที่โรงเรียนการแพทย์ของฮาร์วาร์ด กล่าวว่า “เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย ที่จะพิจารณาความเป็นไปได้ในการเกิดโรคสมาธิสั้น” โดยเขาตั้งข้อสังเกตว่า ผู้คนในปัจจุบันถูกผลักดันให้ทำงานหลายอย่างพร้อมกันมากเกินไป และได้รับสื่อจากเทคโนโลยีเกือบตลอดเวลา ทั้งยังสร้างให้มีพฤติกรรมการติดหน้าจอ สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่สมาธิที่สั้นลงได้”
หากมีอาการ ADHD ในผู้ใหญ่ ควรปฏิบัติอย่างไร ?
กรมสุขภาพจิต ได้เสนอวิธีการปฏิบัติตัวหรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
• วางแผนและจัดการเวลาให้เป็นนิสัย เช่น การจดลิสต์ เขียนโน้ตเตือน หรือวางกรอบเวลาชัด ๆ
• นอนให้มีคุณภาพ เช่น กำหนดเวลานอนให้เป็นปกติ กำหนดเวลาเข้านอน และรักษาพื้นที่การนอนหลับให้สบาย และสงบ
• ลดการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น หลังใช้งานเสร็จก็วางอุปกรณ์เหล่านี้ลงบ้าง เพื่อให้ตัวเองได้พักจากสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังพุ่งเข้าหา และลดความฟุ้งซ่านลง
• จัดการความกังวลอย่างเป็นเวลา กล่าวคือ สิ่งที่ควรจัดการคือพยายามจัดการความกังวลให้จบลงในช่วงเวลาอันสั้น ไม่ลากยาวจนรบกวนเรื่องอื่น ๆ ที่ต้องทำ
• ออกกำลังกาย ซึ่งอาจเริ่มจากการเดินข้างนอกวันละ 20-30 นาที ก็ช่วยให้อารมณ์ดีขึ้นและช่วยเพิ่มสมาธิ
เมื่อไหร่ที่รู้สึกว่าตัวเองมีอาการหรือคนใกล้ชิดเป็นโรค ADHD ไม่ควรนิ่งนอนใจ การรีบพบ “จิตแพทย์” เพื่อประเมิน วินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกต้อง เป็นทางออกที่ดีที่จะช่วยให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งนี้การรักษา “โรคสมาธิสั้น” รักษาได้ด้วยยาและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Nationalgeographic, mayoclinic, rama.mahidol, dmh, rama.mahidol