ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องเล่าจาก “คนสารคดี” โอกาสและการเติบโต “สารคดีไทย”


Insight

22 ม.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

เรื่องเล่าจาก “คนสารคดี” โอกาสและการเติบโต “สารคดีไทย”

https://www.thaipbs.or.th/now/content/710

เรื่องเล่าจาก “คนสารคดี” โอกาสและการเติบโต “สารคดีไทย”
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

แม้ชื่อ “สารคดี” จะเป็นผลงานเฉพาะด้าน ที่อาจไม่ได้กินความหมายสำหรับผู้คนหมู่มากนัก แต่คำว่า “สารคดี” ก็มีมนตร์ขลังเพียงพอ ที่ดึงดูดให้คนอีกมากมาย ก้าวเข้ามาสัมผัส ทั้งในมุม “คนทำ” และในมุมของ “ผู้เสพผลงานสารคดี”

มีคำถามมากมายเหลือเกินในโลกแห่งสารคดี อาทิ ทำไมสารคดีถึงดูยาก ? เสน่ห์ของสารคดีอยู่ที่ตรงไหน ? หรือแม้แต่คำถามสำคัญ สารคดีไทยมีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะในยุค 2024 ที่โลกหมุนแบบเร็วรี่เช่นนี้ สารคดีไทยมีโอกาสไปเชิดฉายในสายตาระดับนานาชาติหรือไม่ ?

ทั้งหมดทั้งมวล มีคำตอบรออยู่ จากปากคำของ “คนทำสารคดี” ระดับแถวหน้าของเมืองไทย อาทิ ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ, นัท สุมนเตมีย์, บารมี เต็มบุญเกียรติ, พลพิชญ์ คมสัน, ชุตินันท์ โมรา, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล, สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ และ วัชรบูล ลี้สุวรรณ

ตามไปฟังคำบอกเล่าของพวกเขากัน ว่าเส้นทางแห่งสารคดีมีความงดงามอะไรซ่อนอยู่ ตลอดจนการเดินทางบนเส้นทางนี้ เขาได้ถอดบทเรียนออกเป็นคุณค่าแบบไหนอย่างไรกัน

เสน่ห์ของ “สารคดี” คืออะไร ?

“งานสารคดีทำให้เราได้เรียนรู้ตลอดเวลา” สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ “นิ้วกลม” เจ้าของหนังสือดังมากมาย รวมทั้งเป็นพิธีกรรายการแนวสารคดี “พื้นที่ชีวิต” ที่มีผู้คนติดตามกันมานับสิบปี นิยามเสน่ห์ของงานสารคดีที่เขาสัมผัสได้ให้ฟัง

สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ (นิ้วกลม)

“จริง ๆ งานทุกงานมีโอกาสได้เรียนรู้ แต่สารคดีพาเราไปสู่พื้นที่ใหม่ ๆ เสมอ ถ้าเราสนใจเรื่องไหน เราก็สามารถที่จะเจาะลึกลงไปได้ สารคดีเหมือนผลักเส้นรอบวงเรื่องความรู้และความเข้าใจของเรา ออกไปให้กว้างขึ้น นี่คือเสน่ห์ที่ทำแล้วมีความสุขมาก”

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ด้าน วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เจ้าของรายการสารคดีท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง “เถื่อน Travel” เผยถึงเสน่ห์ที่เขาสัมผัสได้จากงานสารคดีว่า มันคือความสนุกที่ได้ลงมือทำ 

“สิ่งหนึ่งที่สารคดีมีให้แก่คนทำคือ คนทำมักจะสนุกกับมัน เพราะว่าเราได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อยู่ในเรื่องจริง ที่เราสนใจ เราไม่ต้องนั่งคิดอะไรไปก่อน เราแค่นั่งสังเกตการณ์ แล้วบันทึกมันออกมาเป็นเรื่องราวให้ได้ เพื่อส่งต่อให้คนดู ดังนั้น สารคดีจึงมักเท่ากับ ประสบการณ์จริง ของผู้ถ่ายทำเสมอ”

โน้ต-วัชรบูล ลี้สุวรรณ นักแสดงหนุ่มที่ผันตัวเองมาเป็นช่างภาพสัตว์ป่า จากแวดวงบันเทิง เขาตกหลุ่มรัก “งานสารคดี” เช่นเดียวกัน

วัชรบูล ลี้สุวรรณ

“สำหรับผม มันคือการได้อยู่กับตัวเอง ได้มีสมาธิ ได้รู้จักตัวเอง ได้พูดคุยกับตัวเอง เพราะในป่ามันเงียบ แต่ขณะเดียวกัน ในเชิงชีววิทยา มนุษย์เราพอกลับไปสู่ป่า มันเหมือนเราได้กลับไปสู่ต้นกำเนิดของตัวเอง สภาพแวดล้อมที่เราคุ้นเคย เสียงที่เราคุ้นหู กลิ่นที่เราคุ้นเคย เวลาชีวิตที่มันเป็นธรรมชาติของคนจริง ๆ”

“บทเรียน” ที่ได้จากสารคดี

เมื่อต้อง “ถอดบทเรียน” จากการทำงานสารคดี โน้ต-วัชรบูล บอกว่า สารคดีสอนให้เขารู้จักกับวัฏจักรของธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

“งานสารคดีทำให้เรารู้สึกว่า ตัวเราแค่เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อม และสัตว์ป่าสอนให้เรารู้จักอยู่กับวัฏจักรชีวิตของธรรมชาติ เราไม่สามารถไปบีบบังคับ หรือไม่สามารถไปสั่งมันได้ เช่น เสือต้องเดินออกมาตอนนี้นะ เพราะแสงสวยมาก เราทำแบบนั้นไม่ได้ ดังนั้น เราจึงต้องยอมรับความจริงว่า เราทั้งหมดล้วนเป็นแค่ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ”

ด้าน เอ๋-สราวุธ ถอดบทเรียนที่ได้จากการทำงานสารคดีของเขามาตลอดสิบปีว่า ทำให้เขา “ตัวเล็กลง” ในโลกใบนี้

“คือเราไม่ได้ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางอีกต่อไป เนื่องจากการทำสารคดี ทำให้เราไปเจอชีวิตในรูปแบบอื่น ๆ อย่างตอนทำรายการพื้นที่ชีวิต เราได้ไปเจอผู้คนในต่างวัฒนธรรม ต่างศาสนา ต่างภูมิประเทศ พอได้สัมผัส พูดคุย ทำให้เราใจกว้างขึ้น ทำให้เราตัวเล็กลง และไม่ได้ยึดเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง สิ่งเหล่านี้คือการเปิดโลกตัวเองออกไป ทำให้เราเห็นว่าเราไม่ใช่ความจริงหนึ่งเดียว โลกนี้มีอย่างอื่นเยอะแยะมากมายเต็มไปหมดเลย”

ทำไมเราถึงต้องดูสารคดี ?

มีเหตุผลมากมายในความชื่นชอบงานสารคดี แต่สำหรับ นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงสารคดีไทยมากว่า 30 ปี เขาให้เหตุผลสั้น ๆ ง่าย ๆ ถึงสาเหตุว่าทำไมคนถึงต้องดูสารคดี 

“สารคดีมีไว้เพื่อไม่ให้คนโง่ครับ” นัท บอกอย่างนั้น ก่อนขยายความต่อ “คือทุกวันนี้เราดู Short Video ในโซเชียลมีเดีย บางทีจุดมุ่งหมายอาจไม่ได้ต้องการสื่อความรู้อะไรมากนัก มันเป็นเพียงการสร้าง Engagement แต่สำหรับรัฐ หรือประเทศที่ต้องการพัฒนาคน ควรจะมีการลงทุนเพื่อให้ความรู้กับเยาวชนในทุก ๆ ด้าน และสารคดีคือส่วนหนึ่งที่จะทำให้พลเมืองมีความรู้มากขึ้น”

นัท สุมนเตมีย์

นัท ยังย้ำอีกด้วยว่า สารคดีไม่จำเป็นต้องน่าเบื่อ หรือมีแต่เรื่องวิชาการเสมอไป

“เราสามารถทำสารคดีให้สนุกได้ เพียงแต่ว่า พื้นฐานของสารคดีที่ดี ควรจะมาจากความรู้ และความเข้าใจ โดยนำเสนอเรื่องราวออกไปอย่างถูกต้อง ส่วนวิธีการนำเสนอ ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตแต่ละคนที่อาจจะมีเทคนิคที่ไม่เหมือนกัน”

พลพิชญ์ คมสันต์ และ ชุตินันท์ โมรา

ด้าน เอ้-พลพิชญ์ คมสัน และ มีน-ชุตินันท์ โมรา สองช่างภาพใต้น้ำแห่งทีม Digitalay มีมุมมองของความเป็นสารคดีที่ดี โดย มีน-ชุตินันท์ บอกว่า สารคดีที่ดี ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง และไม่แต่งเรื่อง

“มันคือการเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริง คือเรื่องจริงในชีวิตประจำวันของทุกคน หรือแม้แต่เรื่องสัตว์ป่า เรื่องของธรรมชาติ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ มีความดรามาในตัวอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องแต่งเติมเพื่อให้มันเกินจริง ต้องเล่าเรื่องความเป็นจริงให้ได้มากที่สุด”

เอ้-พลพิชญ์ เสริมต่อว่า “สารคดีต้องเล่าเรื่องด้วยความเป็นกลาง นอกจากจะจริงแล้ว ต้องกลางด้วย เพราะถ้าเรามานั่งดูมีเดีย หรือดูสื่อปัจจุบัน มันมี bias หรือเรียกว่ามีการเทข้างใดข้างหนึ่งได้ แต่ผมคิดว่าสารคดีที่ดีต้องไม่ทำตรงนั้น ต้องนำเสนอทุกอย่างอย่างเป็นกลาง แล้วให้คนดู หรือผู้ที่เสพสารคดี ตัดสินใจเองว่า สิ่งที่เขาได้รับ มันคืออะไร แล้วอะไรดี อะไรไม่ดี เราไม่ควรจะชี้นำ ผมคิดว่าสารคดีควรจะเป็นเช่นนั้น”

สารคดีทำหน้าที่ถ่ายทอดความเป็นจริง ไม่ตัดสิน และตั้งอยู่บนความเป็นกลาง ซึ่ง ก้อง-บารมี เต็มบุญเกียรติ ช่างภาพสัตว์ป่า ที่คว่ำหวอดในแวดวงสารคดีไทยมาหลายสิบปี ยังช่วยตอกย้ำถึงความเป็นจริงเหล่านี้เช่นกัน

“ทุกวันนี้เราอาจจะเซิร์ชอะไรก็ได้ในอินเทอร์เนต หรือให้เอไอสร้างอะไรก็ได้ แต่ทั้งหมดคือการสร้างจากจินตนาการ มันเป็นความจริงไม่ได้ งานสารคดี หรืองาน documentary คืองานที่เป็นความจริง ซึ่งความจริงนำไปสร้างให้เป็นจินตนาการได้นะ แต่จินตนาการบางอย่าง มันสร้างยังไงก็คือจินตนาการ”

ความเปลี่ยนแปลง จากสารคดีในอดีต สู่ปัจจุบัน

ก้อง-บารมี ให้ความเห็นเรื่องความแตกต่างของการทำงานสารคดีในอดีตกับปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อเขาหันมาจับงานภาพยนตร์สารคดี ที่มีขั้นตอนในการทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น

“เมื่อก่อนเราเป็นคนถ่ายภาพนิ่ง เราคิดแค่ว่า ถ่ายภาพให้ออกมาดีที่สุด แต่พอมาทำภาพยนตร์สารคดี โดยเฉพาะเรื่องราวของธรรมชาติ มันเปลี่ยนวิธีคิดเรา การทำงานต้องมีการลำดับภาพ มีแก่นสารที่เราอยากจะเล่า เรื่องต้องมีที่มาที่ไป แม้จะถ่ายภาพมา 10-20 ปี แต่มันเป็นเรื่องใหม่มากกับการทำภาพยนตร์สารคดี”

บารมี เต็มบุญเกียรติ

อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของคนทำงานสารคดีสัตว์ป่ายุคปัจจุบัน คือการเสริมเรื่องราวทางธรรมชาติวิทยา เพื่อให้ผู้ชมได้ศึกษามากขึ้น แม้ในหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนสำหรับคนทำสารคดี นั่นคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจ

“สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ การทำงานยากตลอด เพราะเราทำงานกับสัตว์ มันควบคุมไม่ได้ เรานัดกับสัตว์ไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่คนทำสารคดีต้องมีอยู่เสมอคือ ความเพียร”

โอกาสและการเติบโตของสารคดีไทย

พลพิชญ์ คมสัน

“ผมว่าคนดูเริ่มเข้าใจว่า สารคดีมันไม่ใช่แค่หนังยาวๆ 1 ชั่วโมง มีเสียงพูดทุ้มๆ ต่ำ ๆ หรือมีภาพพร้อมเพลง ภาพจำเหล่านั้นมันเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว คนเริ่มเข้าใจว่า สารคดีสั้นก็มี ความยาวแค่ 2-3 นาที ก็ทำให้เรารู้เรื่องธรรมชาติได้ หลังจากนั้นเขาจะไปต่อยอด ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม แล้วในที่สุด คนก็จะเข้าถึงสารคดี” 

เอ้-พลพิชญ์ สะท้อนมุมมองของวิถีการเสพงานสารคดีในปัจจุบัน ซึ่งเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงงานสารคดีได้มากกว่าแต่ก่อน ด้าน วรรณสิงห์ เสริมต่อในมุมนี้ว่า หากอยากให้สารคดีเข้าถึงผู้คนให้มากขึ้นกว่านี้ ผู้ผลิตเองก็ต้องยกระดับผลงานให้ดีที่สุด

“สังคมไทยทุกวันนี้ ผู้คนเสพสื่อความรู้มากขึ้นเยอะ แต่ว่าเขาเลือกเสพในรูปแบบสื่อสรุปความรู้ ดังนั้น งานสารคดีจึงยังอยู่ในจุดที่ค่อนข้างลำบาก เราไม่สามารถมากำหนดว่า สารคดีคือศาสตร์อันสูงส่ง ที่ผู้ที่กระหายความรู้จำเป็นต้องมาหาเรานะ นักทำสารคดี ไม่ใช่ดอกเตอร์ ไม่ใช่ศาสตราจารย์ ยังไงต้องมีคนรู้เรื่องที่เราถ่ายทำที่ดีกว่าอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถถือว่าเราเป็นผู้ที่ลึกซึ้งที่สุดในสาขาวิชานั้นได้ สิ่งที่เราต้องกำหนดตัวเองก็คือ อาสาทำหน้าที่เอาองค์ความรู้มาย่อย แล้วส่งต่อให้คนดู ซึ่งงานตรงนี้ต้องทำให้ดีที่สุด”

วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

พูดถึงโอกาสการเติบโตของงานสารคดี ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ช่างภาพสัตว์ป่าแถวหน้าของเมืองไทย รวมทั้งเป็นพี่ใหญ่แห่งแวดวงคนทำสารคดี ได้สะท้อนมุมมอง โดยเขายกเอา 3 ปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยสนับสนุนให้งานสารคดีดี ๆ มีโอกาสเติบโตต่อไป

“ผมยกเอา 3 ปัจจัย ที่เชื่อว่าจะทำให้งานสารคดีไทยไปได้ไกล และมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ปัจจัยแรก ต้องมีผู้สนับสนุน หรือมีผู้เปิดโอกาสให้ทำ ปัจจัยต่อมาคือ การเล่าเรื่อง การจะเล่าเรื่องอะไร เราต้องเข้าใจมันอย่างจริงจังเสียก่อน ผมโชคดีอยู่กับสิ่งที่ทำมา 30 ปี มันเหมือนผมกลายเป็นสิ่งนั้นไปแล้ว ผมก็เลยพูดในสิ่งที่ผมรู้"

"ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือ หาวิธีการเล่าเรื่อง เล่าอย่างไร แบบไหน ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และทำให้คนดูเชื่อในสิ่งที่เราเล่าให้มากที่สุด ผมเชื่อว่าทั้ง 3 ปัจจัยนี้ จะช่วยส่งเสริมให้งานสารคดีไทยเดินหน้าไปได้อย่างมีคุณภาพ”

วิถีสารคดีไทย จากวันนี้และวันต่อไป

เอ่ยคำว่า “สารคดี” ผู้คนมักติดภาพว่าเป็น “ยาขม” หรือของดูยาก แต่ในมุมมองของคนทำสารคดีแล้ว งานสารคดีจะดูยากหรือง่าย ขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ของคนทำเป็นที่ตั้ง

“สารคดีที่ดี มันควรจะง่าย แต่ทีนี้มันก็อยู่ที่ว่า คนเสพเขาอยู่ในระดับไหน เขามีความรู้พื้นฐานขนาดไหน ถ้าเขารู้เยอะ การที่ไปเสนอเรื่องพื้นฐาน เขาอาจจะเบื่อได้ แต่ถ้าเขายังไม่ทราบอะไรเลย เราเสนอเรื่องพื้นฐานไป เขาก็อาจจะอินเพิ่มขึ้น อันนี้ก็แล้วแต่ว่าทาร์เกตกรุ๊ปคืออะไร” เอ้-พลพิชญ์ บอก

“จริง ๆ ทุกวันนี้มีหนังสารคดีที่ดูง่าย หลากหลายมากขึ้น คือคำว่าดูยาก บางทีเราไปติดกับสารคดีโบราณแบบเดิม แต่ว่าถ้าเราลองเปิดใจ เลือกดูงานใหม่ ๆ ที่มีวิธีการเล่าเรื่องหลากหลายรูปแบบ บางเรื่องดูง่ายมาก สนุกด้วย” มีน-ชุตินันท์ ช่วยเสริม

ชุตินันท์ โมรา

ไม่ว่าสารคดีจะยาก หรือง่าย คุณค่าที่แท้จริงของมัน คือ ความรู้และประสบการณ์ที่ผู้ชมจะได้รับ มากไปกว่านั้น คือเหล่าความเป็นจริงที่จะช่วยยกระดับสังคมให้มีคุณภาพมากขึ้น

“ถ้าผมเป็นผู้ลงทุนทำสารคดี แล้วต้องการผลตอบแทนในรูปแบบของ  Engagement หรือว่าตัวเลข ผมเอาเงินไปทำอย่างอื่น คุ้มกว่าครับ แต่ถ้าคิดว่า การทำสารคดี ทำให้คนไม่โง่ แถมสิ่งเหล่านั้นยังเป็นอนาคตพลเมืองของชาติ แบบนั้นให้มาลงทุนกับงานสารคดีเถอะครับ”

นัท ตอกย้ำถึงคุณค่างานสารคดี ที่การลงุทนด้วยเม็ดเงิน อาจไม่ได้ผลลัพธ์เป็นเม็ดเงินเสมอไป หากแต่เป็นความจริง ความรู้ และความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม

“ผมอยากให้เราอยู่ในสังคมที่ทุกคนตระหนักรู้ในเรื่องราวรอบ ๆ ตัว ทุกวันนี้ผู้คนมักจะพูดถึงเรื่องราวของธรรมชาติ การอนุรักษ์ หรืออะไรหลาย ๆ อย่าง แต่ลองสืบเข้าไปดูจริง ๆ สิครับ ความรู้พื้นฐานของคนไทยในเรื่องธรรมชาติ ผมว่าน้อยมากนะ ผมเองไม่ได้เป็นคนที่รู้ดีกว่าคนอื่น ความรู้ของผม อาจจะเป็นระดับเฉลี่ยของเด็กมัธยมต่างประเทศสักคนหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ผมเชื่อว่างานสารคดีดี ๆ ช่วยยกระดับสังคมได้ แต่มันคือการลงทุนที่จะส่งผลในระยะยาวเท่านั้นเอง”

การเดินทางภายในจิตใจ (Mind Traveller) ของนักทำสารคดี 

“มันคือการเดินทางเข้าไปในจิตใจของตัวเอง ทุกอย่างที่เป็นทั้งประสบการณ์ดี และไม่ดี แต่พอเราเข้าไปแล้วเรียนรู้ มันก็คือการเรียนรู้จิตใจตัวเอง ให้นำพาตัวเราไปในทิศทางอื่น ๆ ต่อไป” บารมี เต็มบุญเกียรติ

“ความคิดของคนเราเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา พอเราเติบโตขึ้น เรามองโลกเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนเราอาจไม่เข้าใจว่า ทำไมคนหนึ่งถึงทำแบบนี้ แต่เมื่อเราเติบโตขึ้น เราก็เข้าใจมากขึ้นว่า มันเป็นอย่างนี้เพราะอะไร มันเป็นการเดินทางที่เราพาตัวเองไป แล้วโลกก็หมุนพาเราเดินทางไปด้วย” นัท สุมนเตมีย์

“มันคือการเดินทางทางจิตใจ ของคนๆ หนึ่งที่คลุกคลีและทำงานสายนี้มาตลอดชีวิต ผมว่ามันเป็นการตกตะกอนกับชีวิต ว่าชีวิตคืออะไร สัตว์ป่าคืออะไร ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเขากับสัตว์ป่า เป็นอย่างไร” วัชรบูล ลี้สุวรรณ

“ผมว่านักเดินทางทุกคน ถึงจุดหนึ่ง มันไม่ได้จบแค่ว่าเราอยู่ตรงไหนบนโลก ไม่ว่าจะอยู่ในป่า หรือตรงไหนในประเทศไทย ถ้าการเดินทางที่ผ่านมามันสัมฤทธิ์ผล มันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขับเคลื่อนข้างในเสมอ” วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล

“เวลาที่เราอยู่ในโลกใบนี้ บางคนเปรียบเทียบว่า เราเป็นนักเดินทาง ซึ่งการเดินทางในโลกใบนี้ มีสองมิติด้วยกัน นั่นคือ เราเดินทางทางกายภาพ หรือเดินทางทางโลกภายนอก แต่ในทุกการเดินทางของเรา เราจะเดินทางอยู่ในโลกภายในของเราด้วยเสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อกายเราเดินทาง จิตใจเราก็เดินทางด้วยเช่นกัน” สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์

“มันคือการเดินทางภายในจิตใจของเรา การที่เราเข้าไปในป่า แล้วเราก็เจอสัตว์ป่า เราเรียนรู้จากพวกมัน ได้รับบทเรียนจากมัน จนทำให้สภาวะภายในของเราเติบโต เหมือนได้ออกเดินทางไกล ซึ่งผมเชื่อว่า  การทำงานของคน ถ้างานมันไม่ได้สอนให้เราโตขึ้น มันไม่มีประโยชน์อะไร ทำงานไปวัน ๆ เท่านั้นเอง แต่งานมันควรจะทำให้เราได้เป็นอะไรสักอย่างด้วย ในสิ่งที่เราทำ” ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

โลกแห่งสารคดียังเดินหน้า และเต็มไปด้วยสาระที่คนทำสรรหามาบอกเล่า แม้ไม่อาจทำหน้าที่เปลี่ยนโลกได้ทั้งใบ แต่สารคดีคือการจุดประกายชั้นดี ที่ทำให้ผู้คนลุกขึ้นมาทำสิ่งดี ๆ เพื่อให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบงานสารคดี ร่วมติดตามภาพยนตร์สารคดี Mind Traveller เฉพาะวันเสาร์ที่ 20 และ 27 ม.ค. 67 ทางไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3 เท่านั้น และรับชมสารคดีตัวเต็มทั้ง 8 ตอน ได้แล้วทาง www.VIPA.me หรือคลิก https://watch.vipa.me/9c3ZmVSonGb 

ถ่ายภาพโดย สุภณัฐ รัตนธนาประสาน

อ่านบทความเกี่ยวข้อง

-คุยกับ “ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ” ผ่าน 10 ภาพถ่าย Mind Traveller
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สารคดีสารคดีไทยนักทำสารคดีคนสารคดีMind Traveller
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด