YES Wheelchair นวัตกรรมตรวจวัดการเคลื่อนไหว พัฒนาศักยภาพชีวิตของผู้ใช้งานวีลแชร์ ให้สามารถติดตามสถานะสมรรถภาพได้เหมือนคนทั่วไป ผลงานโดยอาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์ ไปคว้ารางวัลใหญ่เวทีนานาชาติมาแล้ว
ผศ.ดร.สายรัก สอาดไพร อาจารย์สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและการพัฒนากีฬา คณะสหเวชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการคิดค้น "YES WHEELCHAIR" ว่า ในวงการกีฬาของไทย จะเห็นได้ว่านักกีฬานักกีฬาคนพิการยังขาดตัวช่วยเพิ่มสมรรถภาพร่างกาย จึงได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ขึ้นมา
สำหรับ "YES WHEELCHAIR" เป็นตัวที่ใช้วัดการเคลื่อนไหวของรถเข็นวีลแชร์ คล้ายกับสมาร์ตวอตช์ ที่คนทั่วไปใช้วัดว่าแต่ละวันมีสมรรถภาพเป็นอย่างไรบ้าง ร่างกายเผาผลาญไปกี่แคลอรี หรือมีการเคลื่อนไหวกี่นาที มีระยะทางเท่าไร ความเร็วและความเร่งเป็นอย่างไร
วิธีการใช้งานนั้น มีอุปกรณ์ 2 ชิ้น เป็นเซนเซอร์ที่ติดตั้งไว้กับล้อรถเข็นวีลแชร์ 1 ชิ้น และเซนเซอร์ติดที่ข้อมือ 1 ชิ้น เพื่อวัดการเคลื่อนไหวร่างกายส่วนบน การทำงานของเครื่องจะส่งสัญญาณผ่าน Bluetooth เพื่อติดตามสถานะรายงานผลผ่านทางโทรศัพท์ หรือบนคอมพิวเตอร์ ให้กับโค้ชหรือผู้ฝึกสอน และติดตามการเคลื่อนที่ของนักกีฬาได้ตลอดเวลา
นอกจากนี้ยังมี ระบบตรวจจับการล้มของวีลแชร์ (Fall Detection Systems) เมื่อนักกีฬาเกิดการล้มลง เซนเซอร์จะส่งข้อมูลไปแสดงผลบนจอแจ้งเตือนเป็นสีแดง และเซนเซอร์ที่ข้อมือใช้วัดอัตราการเต้นของหัวใจและปริมาณออกซิเจนในเลือด ซึ่งข้อมูลจะแสดงผลขึ้นมาเป็นกราฟบนหน้าจอ
ด้าน ผศ.ดร. ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ อธิบายถึงอุปกรณ์ "YES WHEELCHAIR" โดยระบุว่า สมาร์ตวอตช์ทั่วไป ข้อมูลต้องเข้าแอปพลิเคชันเฉพาะ และนำออกมาใช้ไม่ได้ แต่ "YES WHEELCHAIR" พัฒนาขึ้นโดยการเขียนซอฟต์แวร์ เพื่อเก็บข้อมูลจากเซนเซอร์ ตรวจจับการเคลื่อนไหว และรายงานผล โดยข้อมูลจะถูกแปรความหมายและตีความออกมา เนื่องจากข้อมูลจากเซนเซอร์ไม่มีความหมายในเชิงของกีฬา สมรรถนะของคน ซึ่งนำข้อมูลมาตีความร่วมกันว่าจะทำงานกันอย่างไร
สำหรับในเฟสแรกพัฒนากว่า 2 ปี จะใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลสมรรถนะร่างกายเบื้องต้นก่อน ดูเรื่องความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นหลัก และกำลังพัฒนารุ่น 2 เพื่อดูสมรรถนะในเชิงของความว่องไว ซึ่งจะมีความท้าทายมากขึ้น เพราะเรื่องความว่องไว อุปกรณ์ต้องมีการขยับจริง วิธีตีความจะไม่เหมือนเดิม เซนเซอร์อาจจะไม่พอ อาจจะต้องเพิ่มกล้องขึ้นมาด้วย
นอกจากนี้อาจจะต้องเพิ่มความทนทานด้วย เพราะแต่ละชนิดกีฬาใช้ร่างกายแตกต่างกัน การตีความก็แตกต่างกันด้วย ซึ่งมองว่าต้องพัฒนาไปอีกหลายรุ่น เพื่อที่จะนำไปใช้สนับสนุนการแข่งขันระดับโลกได้
"จุดที่เห็นร่วมกันคือ วงการกีฬาคนพิการหลาย ๆ ด้าน การสนับสนุนน้อยมาก เครื่องมือก็ไม่ค่อยมีให้ใช้ มองว่าเป็นจุดที่อยากทำงานร่วมกันเพื่อสร้างตัวช่วยให้กับนักกีฬาคนพิการ เพราะเรามองว่าเขามีศักยภาพ แต่หากไม่ได้รับการสนับสนุนก็อาจจะแพ้ทางต่างประเทศได้" ผศ.ดร. ศุภชัย กล่าว
ท้ายที่สุดนี้ ผศ.ดร.สายรัก ฝากด้วยว่า อยากให้คนไทยตื่นตัวในเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากขึ้น เพราะว่าสิ่งเหล่านี้จะมาเปลี่ยนโลกเรามาก ๆ ทำให้พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ คนในสังคม รวมถึง ไม่อยากให้ทอดทิ้งกลุ่มคนพิการ และผู้สูงอายุ ด้วย
รางวัลที่ได้รับ
• Platinum Award และเหรียญทอง Gold Medal
Kaohsiung International Invention & Design Expo ที่ไต้หวัน
• รางวัลการวิจัยแห่งชาติ ปี 2567 ระดับดีมาก จากสำนักการวิจัยแห่งชาติ
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
STORY : Thai PBS Sci & Tech
PHOTO : สุภณัฐ รัตนธนาประสาน
EDITOR : พฤษพล จันทาพูน