“พลังงานแสงอาทิตย์” เป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่หมดสิ้น (Non-Exhausting Natural Resource) ไม่ว่าเมื่อใดก็ตามที่คุณสามารถใช้พลังงานของแสงอาทิตย์ได้ ผู้อื่นก็สามารถใช้พลังงานนี้ได้ตามต้องการเช่นกัน
ล่าสุดได้มีงานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Nature ระบุถึง ผลกระทบของ “โซลาร์ฟาร์มยักษ์” ที่เปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ครอบคลุมพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตร ปล่อยความร้อนออกมาอีกครั้งหลังการดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์เข้าไปในแผงโซลาร์เซลล์ และมีเพียงประมาณ 15% เท่านั้นที่ถูกแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้า ด้วยพื้นที่ขนาดนั้นทำให้ความร้อนที่เกิดขึ้นโดยรอบถูกกระจายกลับไปในชั้นบรรยากาศ และท้ายที่สุดก็ส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศรอบตัวและสภาพอากาศโดยรวมทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก
สำหรับการศึกษานี้ ได้มีการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างแบบจำลองระบบโลก และสร้างแบบจำลองโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ขึ้นมาแบบสมมุติ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 20% ของทะเลทรายซาฮารา เพื่อดูว่าจะส่งผลกระทบต่อการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกอย่างไร และการจำลองนี้แสดงให้เห็นว่า ความร้อนที่เกิดขึ้นมานั้นสามารถเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกได้ ทั้งยังส่งผลต่อรูปแบบของเมฆที่ปกคลุม และปริมาณของพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะสามารถผลิตได้ทั่วโลก เช่น
• ภูมิภาคที่จะมีเมฆมากและไม่สามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ ได้แก่ ตะวันออกกลาง ยุโรปตอนใต้ อินเดีย จีนตะวันออก ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาตะวันตกเฉียงใต้
• ภูมิภาคที่จะทำให้เกิดพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ได้แก่ อเมริกากลางและใต้ แคริบเบียน สหรัฐอเมริกาตอนกลางและตะวันออก สแกนดิเนเวีย และแอฟริกาใต้
การติดตั้ง “โซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่” ทำให้ทั่วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร ?
เมื่อจำลองผลกระทบของโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ในสถานที่อื่น ๆ ซึ่งแต่ละที่ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในที่อื่น เช่น โซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมพื้นที่ในชนบทห่างไกลของออสเตรเลีย ส่วนใหญ่จะทำให้แอฟริกาใต้มีแสงแดดมากขึ้น แต่มีเมฆมากขึ้นในอังกฤษ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เป็นต้น
ทั้งนี้ หากมีการติดตั้ง “โซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่” ในพื้นที่แห้งแล้งอื่น ๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งต่าง ๆ อย่างมากเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ และไม่ว่าเราจะใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากเพียงใดก็ตาม ในสแกนดิเนเวียจะยังคงเย็นและมีเมฆมาก แต่ออสเตรเลียจะร้อนและมีแดดจัด
การสร้าง “โซลาร์ฟาร์ม” ขนาดยักษ์ เพื่อช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด เช่น ถ่านหิน เชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นต้น แต่กลับทำให้เกิดการวนกลับของความร้อน ไหลเวียนไปในชั้นบรรยากาศอีกครั้งนั้น จนทำให้“สภาพอากาศโลก” เกิดความแปรปรวนได้ จะมีความคุ้มค่ามากน้อยเพียงใด…
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : theconversation