กล้องโทรทรรศน์สำรวจแบบวัดแสงหลายช่อง “เมฟิสโต” (Mephisto) ซึ่งพัฒนาโดยสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ตะวันตกเฉียงใต้ สังกัดมหาวิทยาลัยอวิ๋นหนานในมณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ได้บันทึกภาพวัตถุท้องฟ้าในช่องคลื่นสีน้ำเงิน สีเหลือง และสีแดงพร้อมกันสำเร็จครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2023 โดยทีมนักพัฒนากล้องโทรทรรศน์ฯ เผยแพร่ภาพถ่ายสีดังกล่าว เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2023
หลิวเสี่ยวเหวย ผู้อำนวยการสถาบันฯ เผยว่าเมฟิสโตหรือ “เมิ่งเฟย” ในภาษาจีนจัดเป็นกล้องโทรทรรศน์สำรวจแบบวัดแสงหลายช่องที่มีความละเอียดสูงและขอบเขตการมองเห็นกว้างตัวแรกของโลก โดยมีกระจกเว้าหรือกระจกปฐมภูมิขนาด 1.6 เมตร ขอบเขตการมองเห็น 2 องศา กล้องซีซีดี (CCD) จำนวน 3 ตัว ซึ่งมีความละเอียดรวม 1 กิกะพิกเซล (1,000 ล้านพิกเซล) สามารถถ่ายภาพท้องฟ้าเดียวกันในสามช่องคลื่นสี ได้แก่ สีน้ำเงิน สีเหลือง และสีแดง
การถ่ายภาพสีความละเอียดสูงแบบเรียลไทม์ มีบทบาทสำคัญต่อการเพิ่มความน่าเชื่อถือและประสิทธิภาพของการจำแนกและแบ่งประเภทวัตถุท้องฟ้าที่มีลักษณะผันแปรและชั่วคราว รวมถึงการตัดสินคุณสมบัติทางกายภาพและเคมี (อุณหภูมิยังผล ความโน้มถ่วงพื้นผิว ความเป็นโลหะ และอายุ) ของตัวอย่างดาวฤกษ์ในเชิงสถิติอย่างเป็นกลาง ซึ่งมอบข้อมูลพื้นฐานสำหรับศึกษาโครงสร้าง การก่อตัว และวิวัฒนาการของดาวฤกษ์ ตลอดจนเผยจำนวนดาวฤกษ์และประวัติศาสตร์การประกอบสร้างของกาแล็กซีทางช้างเผือกและกาแล็กซีอื่น ๆ
อนึ่ง โครงการกล้องโทรทรรศน์สำรวจแบบวัดแสงหลายช่อง “เมฟิสโต” ได้รับการรับรองโดยคณะกรรมการทบทวนทางวิชาการและได้รับอนุมัติเมื่อเดือน ม.ค. 2018 โดยส่วนหลักพัฒนาโดยสถาบันดาราศาสตร์เชิงแสงและเทคโนโลยีแห่งหนานจิง และก่อสร้างบนที่ราบเกาเหม่ยกู่ในเมืองลี่เจียงภายใต้ความร่วมมือกับหอดูดาวอวิ๋นหนาน เสร็จสิ้นในเดือน มิ.ย. 2021
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
ภาพจากมหาวิทยาลัยอวิ๋นหนาน : ภาพถ่ายท้องฟ้าแบบสีจริงแบบเรียลไทม์ภาพแรกโดยกล้องโทรทรรศน์สำรวจแบบวัดแสงหลายช่อง “เมฟิสโต”
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua