ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Perseverance พบหินดาวอังคารรูปทรงตะปุ่มตะป่ำ


Logo Thai PBS
แชร์

Perseverance พบหินดาวอังคารรูปทรงตะปุ่มตะป่ำ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2569

Perseverance พบหินดาวอังคารรูปทรงตะปุ่มตะป่ำ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อเดือนที่ผ่านมา หุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ได้พบกับก้อนหินก้อนหนึ่งที่เต็มไปด้วยก้อนหินทรงกลมขนาดเล็กก่อตัวขึ้นมา ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่หุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารพบกับก้อนหินที่มีรูปทรงแปลกประหลาดลักษณะนี้

ตำแหน่งที่หุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์ (Perseverance) ศึกษาและพบกับหินปริศนาที่กล่าวถึงคือบริเวณบรูมพอยต์ (Broom Point) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาด้านล่างของพื้นที่เนินวิตช์เฮเซล (Witch Hazel Hill) ที่ขอบหลุมเยเซโร (Jezero) ซึ่งมีแถบสีอ่อนและสีเข้มสลับกันเป็นลำดับ

ภาพถ่ายระยะใกล้ของก้อนหิน St. Pauls Bay เผยให้เห็นลวดลายต่าง ๆ บนพื้นผิวของมัน

ระหว่างการสำรวจ เพอร์เซเวียแรนซ์ได้พบกับหินตะปุ่มตะป่ำน่าสนใจก้อนหนึ่ง แปลกไปจากหินก้อนอื่น เมื่อหุ่นยนต์ไปสังเกตใกล้ ๆ ก็พบว่าร่องรอยเหล่านั้นเกิดจากพื้นผิวที่ประกอบไปด้วยเม็ดกรวดก้อนเล็ก ๆ เป็นจำนวนมาก บ้างก็กลมมน บางเม็ดก็มีขอบคม บางเม็ดยังมีรูเล็ก ๆ เหมือนรูเข็มอีกด้วย ซึ่งทั้งหมดรวมตัวกันกลายเป็นก้อนหินที่มีขนาดใหญ่ ทีมของเพอร์เซเวียแรนซ์ได้ตั้งชื่อหินก้อนนี้ว่านักบุญพอลส์ เบย์ (St. Pauls Bay)

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พบกรวดทรงกลมประหลาดบนดาวอังคาร ในปี 2004 หุ่นยนต์ออพพอร์ทูนิตี (Opportunity) เคยพบสิ่งที่เรียกกันว่า “บลูเบอร์รีดาวอังคาร” (Martian Blueberries) ที่บริเวณเมริดิอานีพลานุม (Meridiani Planum) และหุ่นยนต์คิวริออซิตี (Curiosity) ก็เคยสังเกตเห็นกรวดทรงกลมเหล่านี้ในหินที่บริเวณอ่าวเยลโลว์ไนฟ์ (Yellowknife Bay) ที่ปล่องเกล (Gale) และเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เพอร์เซเวียแรนซ์ก็ยังเคยพบพื้นผิวหินที่มีลักษณะเหมือนป๊อปคอร์นในหินตะกอนที่ถูกเปิดเผยที่บริเวณช่องทางน้ำไหลเข้าหลุมเยเซโร

ภาพถ่ายของก้อนหิน St. Pauls Bay หินที่มีก้อนกรวดปะปนเต็มพื้นผิวที่พบบนดาวอังคารโดยหุ่นยนต์ Perseverance

กรวดทรงกลมเหล่านั้นมักถูกตีความว่าเป็นคอนกรีชัน (Concretion) หรือก้อนแร่ที่เกิดจากปฏิกิริยากับน้ำใต้ดินที่ไหลผ่านช่องว่างระหว่างรูพรุนในหิน อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทรงกลมทุกชนิดจะเกิดขึ้นด้วยวิธีนี้ พวกมันยังสามารถพบได้บนโลกจากการเย็นตัวอย่างรวดเร็วของหยดหินหลอมเหลวจากการปะทุของภูเขาไฟ หรือจากการควบแน่นของไอระเหยของหินที่เกิดจากการชนของอุกกาบาตก็ได้

แม้ปลายทางของกระบวนการทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะได้หินก้อนกรวดขนาดเล็กทรงกลมเหมือน ๆ กัน แต่ว่าเมื่อกระบวนการการเกิดมันแตกต่างกันย่อมหมายถึงเส้นทางการก่อกำเนิดและสิ่งที่ทำให้มันโผล่อยู่ที่ตรงนี้แตกต่างกันอย่างมากโข อีกทั้งนักวิทยาศาสตร์ยังเรียกเจ้าหินนักบุญพอลส์ เบย์ว่าเป็น หินลอย (Float Rock) ซึ่งเป็นคำที่นักธรณีวิทยาใช้เรียกวัตถุที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งเดิมของมัน ทีมนักวิจัยจึงกำลังพยายามศึกษาพื้นผิวของมันกับชั้นหินภายในเนินวิตช์เฮเซลว่าหินก้อนนี้มันเข้ากับชั้นหินไหน

การสังเกตในเบื้องต้นได้ให้เบาะแสที่น่าสนใจว่ามันอาจเชื่อมโยงกับหนึ่งในชั้นหินสีเข้มที่ทีมนักวิจัยเคยระบุได้จากการสังเกตจากวงโคจร ซึ่งการศึกษานี้จะช่วยทำให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจต้นกำเนิดของมันได้ดียิ่งขึ้นและสามารถจำลองภาพดาวอังคารในอดีตในช่วงสมัยที่มันก่อกำเนิดตัวของมันได้อีกด้วย ซึ่งอาจหมายถึงการสร้างแบบจำลองของหลุมเยเซโรและดาวอังคารทั้งดวงในอดีตได้

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพอร์เซเวียแรนซ์หุ่นยนต์เพอร์เซเวียแรนซ์Perseveranceดาวอังคารสำรวจดาวอังคารหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารหุ่นยนต์สำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด