ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้ไหม? ค่า SPF กับ PA ในเครื่องสำอางคืออะไร


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

10 เม.ย. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

รู้ไหม? ค่า SPF กับ PA ในเครื่องสำอางคืออะไร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2568

รู้ไหม? ค่า SPF กับ PA ในเครื่องสำอางคืออะไร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ทำไม? ช่วงนี้รู้สึก Hot จังเลย ที่ Hot น่ะไม่ใช่แอดมิน แต่เป็น “แดด” เมืองไทยต่างหาก ร้อนมากแม่ไม่ไหวแล้ว

เนื่องจากประเทศไทยได้รับแสงแดดที่มีความเข้มสูง โดยเฉพาะในเวลากลางวัน การอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังถูกเผาไหม้ เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน อักเสบ และมีไข้ได้

ดังนั้น เครื่องสำอางหลายชนิดในท้องตลาดจึงได้ผสมสารกันแดด เพื่อการปกป้องดูแลผิวให้สวยงามและสตรองตลอดทั้งวัน สารกันแดดในเครื่องสำอางแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีสมบัติสะท้อนรังสี UV และ กลุ่มที่มีสมบัติดูดซับรังสี UV

การระบุประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดด นิยมระบุด้วยค่า SPF และ ค่า PA

ค่า SPF (Sun Protection Factor) เป็นค่าระบุระดับการปกป้องผิวจากรังสียูวีบี UVB (ทำให้ผิวไหม้แดง/B=Burn) หมายถึงจำนวนเท่าของเวลาที่ผิวสามารถทนต่อรังสีอัลตราไวโอเลตได้หลังจากทาครีมกันแดด ปกติผิวคนไทยโดยเฉลี่ยจะทนรังสี UV ได้นาน 15 นาที โดยไม่เกิดอาการไหม้แดด หมายความว่า หากทาครีมกันแดด SPF10 จะสามารถป้องกันรังสี UVB ได้นาน 10 เท่า หรือ 150 นาที (สำหรับผิวคนไทยส่วนใหญ่)

ตัวอย่างค่า SPF ดูดซับ UVB

ค่า SPF เท่ากับ 2 จะดูดซับ UVB ได้ 50%
ค่า SPF เท่ากับ 4 จะดูดซับ UVB ได้ 75%
ค่า SPF เท่ากับ 8 จะดูดซับ UVB ได้ 87.5%
ค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ 93.3%
ค่า SPF เท่ากับ 20 จะดูดซับ UVB ได้ 95%
ค่า SPF เท่ากับ 30 จะดูดซับ UVB ได้ 96.7%
ค่า SPF เท่ากับ 45 จะดูดซับ UVB ได้ 97.8%
ค่า SPF เท่ากับ 50 จะดูดซับ UVB ได้ 98%

จะเห็นว่า ค่า SPF ที่สูงมาก ๆ นั้นก็ไม่จำเป็นต่อความต้องการของเรา ไม่ว่าจะใช้ SPF30 หรือ SPF100 ก็ให้ผลแทบจะไม่แตกต่างกัน แต่ถึงอย่างไรแล้ว เมื่อสารกันแดดสัมผัสเหงื่อ น้ำ แสงแดด ฯลฯ สารกันแดดก็จะเสื่อมประสิทธิภาพลงทำให้เราต้องทาซ้ำ แถมยังต้องเสี่ยงกับอาการแพ้และความเหนอะหนะจากสารกันแดดที่มีค่า SPF สูงมาก ๆ อีกด้วย

ส่วนค่า PA (Protection Grade of UVA) เป็นค่าที่ใช้วัดประสิทธิภาพของสารกันแดดที่ป้องกันรังสี UVA (ทำให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย/A=Aging) โดยเครื่องหมาย “+” แสดงถึง ความสามารถในการป้องกันรังสี UVA แบบเท่าตัว เช่น

PA+ สามารถป้องกันรังสี UVA 2 เท่า
PA++ สามารถป้องกันรังสี UVA 4 เท่า
PA+++ สามารถป้องกันรังสี UVA 8 เท่า

คำถามชวนคิด : แดดแรงอย่างเมืองไทย ยิ่งใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงยิ่งดี จริงหรือไม่?

ข้อควรรู้ : วิธีการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารกันแดด ควรทาให้ทั่วใบหน้า แขน ขา และผิวกายนอกร่มผ้าอย่างสม่ำเสมอ และควรทาก่อนออกแดด 15-30 นาที ในกรณีที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดจัด ควรทาซ้ำทุก 2-3 ชั่วโมง เนื่องจากครีมกันแดดอาจถูกชะล้างด้วยเหงื่อ แต่ในกรณีที่ไม่ถูกแดด ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้เพราะอาจทำให้เกิดการสะสมสารเคมีได้

สาระ SPF กับ PA ส่งท้าย

นอกจากค่า SPF กับ PA แล้ว ต้องคำนึงถึงกิจกรรมที่เราจะทำด้วย ถ้าจะออกไปเล่นน้ำทะเลหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเลือกสารกันแดดแบบ Waterproof ที่จะรักษาค่า SPF ไว้ให้คงประสิทธิภาพเดิมหลังโดนน้ำไป 80 นาที หากว่าเราแค่โดนฝนหรือเหงื่อออกตามปกตินั้น ให้เลือกสารกันแดดแบบ Water-resistant ที่จะรักษาค่า SPF ไว้ให้คงประสิทธิภาพเดิมหลังโดนน้ำไป 40 นาที และที่กล่าวมานี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ฉลากบนบรรจุภัณฑ์สารกันแดดบอกให้ผู้ใช้ทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง

จากข้อมูลทั้งหมด หลาย ๆ คนคงตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์กันแดดได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี การเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดควรเลือกให้เหมาะสมกับความจำเป็น สภาพผิว รวมถึงสภาพอากาศและกิจกรรมที่เราจะทำด้วย เพื่อประสิทธิภาพที่เพียงพอต่อความจำเป็นทั้งตัวเราและกระเป๋าเงินของเราด้วยนั่นเอง


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์กับความงาม ระดับ ม.ต้น (พิมพ์ครั้งที่ 7 พ.ศ. 2560), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), glowderma

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ค่า SPFSPFSun Protection FactorPAค่า PAProtection Grade of UVAแสงแดดแดดครีมกันแดดอากาศร้อนร้อนแดดวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphobT@thaipbs.or.th หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด