สังเวียนการค้าระหว่าง "สหรัฐอเมริกา" กับ "จีน" ครั้งนี้ถือเป็นยกที่ 2 ที่ดุเดือดและรุนแรงกว่ายกแรกเป็นอย่างมาก โดยในยกแรก รัฐบาลทรัมป์ 1.0 บังคับใช้มาตรการกำแพงภาษีกับจีนทั้งหมด 5 ระลอก เริ่มตั้งแต่เดือน ก.ค.2018 หรือ 1 ปีครึ่งหลังโดนัลด์ ทรัมป์ รับตำแหน่งผู้นำประเทศ
ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะลงนามในข้อตกลงการค้าเฟส 1 ในเดือน ม.ค.2020 และเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แต่ข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างครบถ้วน เนื่องจากเกิดวิกฤตโควิด-19 เสียก่อน
ตลอดระยะเวลาประมาณ 17 เดือนของสงครามการค้ายกแรก สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าตั้งแต่ 10% ไปจนถึง 25% ในสินค้าหลายประเภทจากจีน กระทบกับสินค้าจีนกว่า 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จีนเดินเกมโต้กลับกำแพงภาษีสหรัฐฯ ทุกระลอกเช่นกัน กระทบกับสินค้าอเมริกันประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ่านข่าว : มีผลทันที! ทรัมป์ซัดจีน 125% เบรกภาษี 75 ประเทศ 90 วัน
ข้อมูลจากสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศในสหรัฐฯ ระบุว่า ขณะที่รัฐบาลทรัมป์ 1.0 ครบวาระ สหรัฐฯ เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนเฉลี่ยอยู่ที่ 19.3% ซึ่งรัฐบาลสมัยต่อมาในยุค โจ ไบเดน ยังคงบังคับใช้มาตรการภาษีเดิมกับจีนและเพิ่มมาตรการใหม่ด้วย ทำให้อัตราภาษีนำเข้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 20.8%
จุดนี้ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า จริงๆ แล้วจีนอาจเตรียมตัวรับมือกับสงครามการค้ายกนี้มาล่วงหน้าแล้วหรือไม่ เพราะมองในด้านหนึ่ง การค้าระหว่าง 2 ประเทศไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาเหมือนในอดีต ขณะที่จีนมีการค้ากับสหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 2% ของ GDP ทั้งประเทศเท่านั้น รวมทั้งยังเปิดตลาดใหม่ๆ ในหลายประเทศและเพิ่มการซื้อขายในตลาดของตัวเอง
โลกเผชิญกับสงครามการค้าครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง รวมถึงสงครามฝิ่นในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 โดยจักรวรรดิอังกฤษบังคับให้จีนเปิดตลาดให้พ่อค้าอังกฤษนำฝิ่นอินเดียเข้ามาขาย ก่อนจะลามไปถึงการเข้าปกครองเกาะฮ่องกง เปิดท่าเรือรับการค้าโลกและจำกัดภาษีศุลกากรที่ 5%
ขณะที่ในปี 1930 สหรัฐฯ ผ่านกฎหมาย "สมูท-ฮอว์ลีย์" ซึ่งทำให้มีการบังคับใช้กำแพงภาษีนำเข้าเกือบ 60% กับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ที่นำโดยแคนาดา ตอบโต้ด้วยมาตรการทางภาษี จนทำให้การส่งออกของสหรัฐฯ หดตัวลงมากกว่า 60% ระหว่างปี 1929-1933
อ่านข่าว : สงครามการค้ายก 2 สะเทือนสหรัฐฯ แค่ไหน?
สงครามพาสตาในปี 1985 เกิดขึ้นหลังจากโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้น ต้องการปกป้องอุตสาหกรรมอเมริกัน จึงขึ้นภาษีนำเข้าพาสตาจากยุโรป ขณะที่ยุโรปตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีถั่วและเลมอนจากสหรัฐฯ ก่อนจะบรรลุข้อตกลงกันได้หลังทำศึก 9 เดือน
ในอดีต องค์การการค้าโลก (WTO) เข้ามามีบทบาทในการยุติข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศอยู่หลายครั้ง แต่ปัจจุบัน WTO กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นเพียงแค่เสือกระดาษที่ขู่ใครไม่ได้หรือไม่ หลังจากจีนและหลายชาติทำหนังสือร้องเรียนในประเด็นกำแพงภาษีของสหรัฐฯ แต่ WTO ก็ยังทำอะไรไม่ได้ อีกทั้งผู้นำสหรัฐฯ ยังเคยขู่ถอนตัวออกจากกลุ่มความร่วมมือนี้หลายครั้ง
หากนักการเมืองอเมริกันขับเคลื่อนนโยบายตามการสนับสนุนของฐานเสียง ก็อาจจะได้เห็นมาตรการกำแพงภาษีของทรัมป์บังคับใช้ต่อไป ขณะที่ผลสำรวจความเห็นล่าสุดของ Reuters/Ipsos ชี้ว่า ชาวรีพับลิกันเกือบ 3 ใน 4 สนับสนุนมาตรการนี้ ซึ่งก็มีชาวอเมริกันอีกมากที่เห็นด้วยกับทรัมป์ว่าประเทศคู่ค้าฉวยโอกาสจากสหรัฐฯ จริงๆ
อ่านข่าว
หุ้นเอเชียพุ่งขานรับ "ทรัมป์" ระงับเก็บภาษีนำเข้า 90 วัน
ไทม์ไลน์ 2 มหาอำนาจ "สหรัฐอเมริกา-จีน" งัดข้อตั้งกำแพงภาษี
เปิดเบื้องหลัง! ทรัมป์ยอมจำนน "พันธบัตร" ทรุด หยุดภาษี 90 วัน