เมื่อวันพุธที่ 9 เม.ย.2568 ปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ ได้สร้างความประหลาดใจทั้งโลก (อีกครั้ง) ด้วยการประกาศระงับนโยบายภาษีนำเข้าอันเข้มงวดเป็นเวลา 90 วัน ทั้งที่เพียงวันก่อนหน้า ยังยืนยันหนักแน่นถึงความมุ่งมั่นในนโยบายนี้
จุดเริ่มต้น "นโยบายภาษี" เขย่าโลก
ทุกอย่างเริ่มต้นเมื่อสัปดาห์ต้นเดือน เม.ย. เมื่อทรัมป์ประกาศนโยบายภาษีนำเข้าครั้งใหญ่ โดยกำหนดอัตราภาษีสูงถึงร้อยละ 125 สำหรับสินค้าจากจีน และ ร้อยละ 10 สำหรับประเทศอื่น ๆ เขากล่าวว่านี่คือวิธีปกป้องผลประโยชน์ของสหรัฐฯ จากการค้าที่ไม่เป็นธรรม และจะนำพาเศรษฐกิจอเมริกันกลับสู่ความยิ่งใหญ่
อย่างไรก็ตาม หลังจากการประกาศเพียงไม่กี่วัน ตลาดการเงินทั่วโลกเริ่มแสดงสัญญาณตึงเครียด ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างหนัก ตลาดพันธบัตรเกิดความโกลาหล และเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั้งในและต่างประเทศทวีความรุนแรง

ตลาดพันธบัตรคืออะไร เหตุใดจึงสำคัญต่อสหรัฐฯ
เพื่อให้เข้าใจบริบท ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานกันก่อน พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (U.S. Treasurys) เป็นเหมือนตั๋วสัญญาว่ารัฐบาลจะยืมเงินจากคนที่ซื้อ แล้วจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ยในอนาคต นักลงทุนทั่วโลก เช่น ธนาคาร บริษัท หรือแม้แต่รัฐบาลชาติอื่น ๆ ชอบซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เพราะปลอดภัยและมั่นคง
เงินที่ได้จากการขายพันธบัตรนี้ถูกนำไปใช้ในโครงการต่าง ๆ ที่ภาษีทั่วไปไม่เพียงพอ เช่น การซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน การจ่ายสวัสดิการสังคม หรือการพัฒนากองทัพ
พันธบัตรสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลก เพราะได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาล ที่มีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง
หากตลาดนี้มีปัญหา รัฐบาลอาจขาดแคลนเงินทุนที่จำเป็น และนโยบายสำคัญของทรัมป์ เช่น การลดภาษีหรือการสร้างงาน อาจต้องหยุดชะงัก
โดยทั่วไป เมื่อเกิดความไม่แน่นอนในเศรษฐกิจโลกหรือตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนมักหันมาซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ เพื่อความปลอดภัย ผลคือราคาพันธบัตรสูงขึ้น และผลตอบแทน (yield) ลดลง

แต่หลังการประกาศภาษีของทรัมป์ สถานการณ์กลับตาลปัตร นักลงทุนทั่วโลกเริ่มเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ผลตอบแทนพุ่งสูงขึ้นอย่างผิดปกติ และการประมูลพันธบัตรครั้งแรกหลังนโยบายนี้กลับเงียบเหงา ความต้องการซื้อลดลงอย่างน่าตกใจ สัญญาณนี้บ่งบอกถึงการสูญเสียความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังและทีมงานของทรัมป์ไม่อาจเพิกเฉยได้
วันพุธแห่งความโกลาหล
ในเช้าวันพุธที่ 9 เม.ย. ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ทีมเศรษฐกิจของทรัมป์ โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง อยู่ในภาวะตื่นตัวสูง เนื่องจากความผันผวนในตลาดพันธบัตร ที่เริ่มตั้งแต่วันอังคารทวีความรุนแรงขึ้นตลอดคืน ผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปี ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดความมั่นคงทางการเงิน ปรับตัวสูงขึ้นอย่างน่ากังวล
รมว.คลัง สกอตต์ เบสเซนต์ เข้าพบทรัมป์เป็นการส่วนตัว เพื่อแจ้งเตือนถึงสถานการณ์ เขาอธิบายว่า หากตลาดพันธบัตรยังคงทรุดตัวต่อไป รัฐบาลอาจเผชิญปัญหาการขาดแคลนเงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายต่าง ๆ และอาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้

ทีมที่ปรึกษาในทำเนียบขาวยังรายงานเพิ่มเติมว่า การเทขายพันธบัตรครั้งนี้เกินกว่าที่ประเมินไว้ในตอนแรก และอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อตลาดหุ้นและค่าเงินดอลลาร์
ทรัมป์ยอมรับว่าเขาเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด "ตลาดพันธบัตรเป็นเรื่องซับซ้อน ผมดูมันเมื่อคืนนี้ และเห็นว่าคนเริ่มรู้สึกหวั่นใจ" เขากล่าวกับสื่อมวลชน แม้จะพยายามพูดด้วยน้ำเสียงผ่อนคลาย แต่บุคคลใกล้ชิดเผยว่า ทรัมป์เริ่มตระหนักถึงความร้ายแรงของปัญหาที่เกิดขึ้น
แรงกดดันท่วมท้น จากพรรคและนักธุรกิจ
ก่อนหน้านี้ ทรัมป์ดูเหมือนจะไม่สนใจคำเตือนจากผู้ใด แม้ว่าจะมีทั้งสมาชิกพรรครีพับลิกัน ผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจ และบุคคลใกล้ชิด ติดต่อทำเนียบขาวเพื่อขอให้ทบทวนนโยบายภาษี
แต่เมื่อตลาดพันธบัตรเริ่มส่งสัญญาณอันตราย แรงกดดันเหล่านี้ก็ทวีคูณ หัวหน้าคณะทำงาน ซูซี ไวลส์, รอง ปธน.เจดี แวนซ์ และ เบสเซนต์ รมว.คลัง ได้รับโทรศัพท์จากผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำ เช่น ธนาคารและอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเตือนว่าหากนโยบายภาษีเดินหน้าต่อ เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ตลาดหุ้นอาจทรุดตัวหนักยิ่งขึ้น และการจ้างงานอาจลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ไวลส์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการโน้มน้าวทรัมป์ ชี้ให้ ปธน.สหรัฐฯ เห็นว่าความวุ่นวายในตลาด กำลังบั่นทอนภาพลักษณ์และอิทธิพลทางการเมืองของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทรัมป์ให้ความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการผลักดันนโยบายในอนาคต
นอกจากนี้ ทรัมป์ ซึ่งเป็นผู้ที่ติดตามสื่ออย่างใกล้ชิด ได้เห็นคำเตือนจาก เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ JPMorgan Chase ผ่านรายการ Fox Business ในเช้าวันพุธว่า "สงครามการค้าที่เกิดจากนโยบายภาษีอาจนำไปสู่ภาวะถดถอยได้" คำกล่าวนี้จากบุคคลที่ทรัมป์เคารพในแวดวงการเงิน น่าจะมีน้ำหนักต่อการตัดสินใจของเขา

การตัดสินใจที่ไร้การวางแผน
ในที่สุด ทรัมป์ยอมนั่งลงในห้องทำงานรูปไข่ ร่วมกับเบสเซนต์ และ รมว.พาณิชย์ ฮาวเวิร์ด ลัตนิก เพื่อร่างประกาศระงับนโยบายภาษีเป็นเวลา 90 วัน
เราไม่มีที่ปรึกษากฎหมายมาช่วย เราเขียนจากความรู้สึก
ทรัมป์กล่าวกับสื่อมวลชน ซึ่งบ่งบอกว่านี่เป็นการตัดสินใจที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยปราศจากการวางแผนอย่างรอบคอบ แม้แต่ เจมีสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งกำลังให้การต่อสภาคองเกรสในขณะนั้น ยังไม่ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ล่วงหน้า
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สตีเวน ฮอร์สฟอร์ด ถึงกับกล่าวเย้ยหยัน เกรียร์ ระหว่างการประชุมว่า "ดูเหมือนประธานาธิบดีเพิ่งตัดขาคุณทิ้งนะ" ซึ่งเกรียร์ไม่มีคำตอบใด ๆ นอกจากรอยยิ้มฝืด ๆ
ทรัมป์ยืนยันว่านี่ไม่ใช่การถอยหลัง แต่เป็นส่วนหนึ่งของ "ยุทธศาสตร์การเจรจา" เพื่อดึงดูดให้ประเทศต่าง ๆ มาคุยกับสหรัฐฯ เบสเซนต์สนับสนุนโดยกล่าวว่า "การตัดสินใจนี้แสดงถึงความกล้าหาญของทรัมป์ที่ยึดมั่นจนถึงจุดนี้" แต่อย่างไรก็ตาม คำพูดของทรัมป์เองที่เปิกเผยกับนักข่าว กลับเผยเหตุผลที่แท้จริง
ผมเห็นว่าคนเริ่มตื่นตระหนกเกินไป จึงคิดว่าต้องหยุดก่อน

ได้ผล! ตลาดฟื้นตัว แม้ความไม่แน่นอนยังคงอยู่
หลังการประกาศ ดัชนีหุ้นสำคัญของสหรัฐฯ เช่น Dow Jones, S&P 500 และ Nasdaq ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ฟื้นตัวจากภาวะตกต่ำในสัปดาห์ก่อน ทรัมป์รีบออกมาชื่นชมตัวเองว่า "นี่คือวันที่ตลาดหุ้นพุ่งสูงสุดในประวัติศาสตร์" แต่เขาเลือกที่จะไม่กล่าวถึงความสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ เขายังกล่าวเป็นนัยว่า จะพิจารณายกเว้นภาษีให้บางบริษัทของสหรัฐฯ โดยตัดสินใจ "ตามสัญชาตญาณ" ซึ่งสร้างความสงสัยว่า กระบวนการนี้จะโปร่งใสและเป็นระบบเพียงใด ทรัมป์ย้ำถึงความยืดหยุ่นของเขาโดยระบุว่า "ตลาดการเงินเปลี่ยนแปลงเร็ว เราต้องปรับตัวตาม"
สรุป 3 ปัจจัย "ทรัมป์" ยอมถอนนโยบายภาษี 90 วัน
- วิกฤตในตลาดพันธบัตร การเทขายและผลตอบแทนที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติ ทำให้กระทรวงการคลังหวั่นว่ารัฐบาลอาจขาดแคลนเงินกู้ ซึ่งจะกระทบต่อการบริหารโครงการต่าง ๆ
- แรงกดดันจากทุกฝ่าย เสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจ สมาชิกพรรค และพันธมิตร ทำให้ทรัมป์รู้สึกว่าอิทธิพลทางการเมืองของเขากำลังถูกคุกคาม
- ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ คำเตือนจากผู้เชี่ยวชาญ และความเสียหายในตลาดหุ้นที่ผ่านมา บ่งบอกว่าการเดินหน้าต่ออาจนำไปสู่ภาวะถดถอย
การระงับนโยบายภาษีเป็นเวลา 90 วัน อาจช่วยคลายความตึงเครียดในตลาดได้ชั่วคราว แต่ยังทิ้งคำถามสำคัญไว้ว่า หลังจากนี้ทรัมป์จะดำเนินการอย่างไร หากตลาดพันธบัตรยังคงผันผวน หรือหากชาติอื่น ๆ เช่น จีนและสหภาพยุโรป ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีหรือคว่ำบาตรสินค้าสหรัฐฯ ทรัมป์อาจต้องทบทวนนโยบายทั้งหมด

การฝืนเดินหน้าต่อมีความเสี่ยงสูง ที่ผลกระทบจะไม่จำกัดอยู่แค่ตลาดการเงิน แต่จะลุกลามไปถึงชีวิตประจำวันของชาวอเมริกัน เช่น ราคาสินค้าที่สูงขึ้น การว่างงานที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ระยะเวลา 90 วันนี้ จะเป็นช่วงทดสอบว่า ทรัมป์จะกลับมาผลักดันนโยบายเดิม
หรือปรับแนวทางเพื่อรักษาเสถียรภาพของประเทศ
ที่มา : CNN
อ่านข่าวอื่น :
จะเกิดอะไรขึ้น ? ถ้าโลกพร้อมใจกัน ตอบโต้สหรัฐฯ ด้วยการ "แบน"