5 ข้อเท็จจริงที่จะพาไปรู้จักคนดังในประวัติศาสตร์ “เซอร์ไอแซก นิวตัน” (Isaac Newton) หนึ่งในบิดาแห่งวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ผู้คิดค้นทฤษฎีมากมาย ที่ไม่ได้มีแค่กฎแรงโน้มถ่วงจากการนั่งใต้ต้นแอปเปิล
“ไอแซก นิวตัน” อาจไม่ได้เป็นเพียงชื่อที่คุ้นหูของใครบางคน แต่เป็นชื่อที่หลาย ๆ คนจดจำได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการท่องจำจากหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ หรือความสนใจในตัวนักวิทยาศาสตร์ชื่อดังคนนี้ แต่เชื่อเถอะว่ายังมีเรื่องราวอีกหลายเรื่องที่เราอาจจะยังไม่รู้จักผู้ชายคนนี้มากพอ
1. แรงโน้มถ่วงใต้ต้นแอปเปิล
คงไม่มีใครไม่รู้จัก "เซอร์ไอแซก นิวตัน" บุคคลที่ทรงอิทธิพลท่านหนึ่งในวงการวิทยาศาสตร์ ซึ่งส่วนมากรู้จักกันจากแบบเรียนเกี่ยวกับ “กฎแรงโน้มถ่วง” ที่นิวตันคิดค้นได้จากการนั่งอยู่ใต้ต้นแอปเปิลในวันที่เขานั่งคิดถึงสาเหตุที่ทำให้ดวงจันทร์โคจรรอบโลก แล้วบังเอิญได้ยินเสียงลูกแอปเปิลตกลงมาจากต้น ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเหตุการณ์ระหว่างดวงจันทร์โคจรรอบโลก เข้ากับข้อสังเกตเรื่องแรงโน้มถ่วง จนเกิดเป็นข้อสรุปของทฤษฎีแรงโน้มถ่วงที่ดึงดูดทั้งแอปเปิลให้ตกลงสู่พื้น และดึงดูดดวงจันทร์ให้โคจรรอบโลก ซึ่งนี่คือข้อเท็จจริงประการแรกที่ทำให้ทุกคนรู้จัก “เซอร์ไอแซก นิวตัน”
อ่านต่อ : ทำไม ? เราชอบมองข้าม “แรงโน้มถ่วง” สิ่งที่ทำให้สามัญสำนึกของเราเปลี่ยนไป
2. ผลงานอันยิ่งใหญ่แห่งวงการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
นอกจากกฎแรงโน้มถ่วงของโลกแล้ว นิวตันยังคิดค้นอีก 2 ทฤษฎีในเวลาเดียวกัน ขอเล่าย้อนกลับไปก่อนที่นิวตันจะคิดค้นกฎแรงโน้มถ่วงของโลก หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ในปี ค.ศ. 1665 มหาวิทยาลัยถูกปิดเนื่องจากเกิดโรคระบาดอย่างกาฬโรคครั้งใหญ่ในประเทศอังกฤษ ทำให้นิวตันต้องเดินทางกลับมายังภูมิลำเนาของตน ช่วงเวลา 2 ปีนี้เองที่ทำให้นิวตันสร้างผลงานอันยิ่งใหญ่ให้กับวงการวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ถึง 3 เรื่อง คือ คณิตศาสตร์แคลคูลัส วิเคราะห์สเปกตรัมแสง รวมถึงกฎแรงโน้มถ่วงของโลกเองก็เกิดขึ้นในช่วงนี้เช่นกัน
ฟังต่อทาง Thai PBS Podcast : ชีวิตของเซอร์ไอแซก นิวตัน ในมุมที่คุณอาจไม่เคยรู้
3. เรื่องที่นิวตันถอดใจ
แม้ว่านิวตันจะเป็นเจ้าของทฤษฎีสำคัญมากมาย แต่ก็มีบางเรื่องที่นักปราชญ์ผู้นี้ทำไม่สำเร็จเช่นกัน นั่นก็คือ การเล่นแร่แปรธาตุ ในช่วงเวลาหนึ่งที่เขาเกิดความเบื่อหน่ายในการค้นคว้าด้านคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ นิวตันได้หันความสนใจมาที่การค้นคว้าการเล่นแร่แปรธาตุ ซึ่งในอดีตการเล่นแร่แปรธาตุถูกมองว่าเป็นเรื่องเวทมนตร์หรือไสยศาสตร์ แต่นิวตันตั้งใจค้นคว้าอย่างมีระบบโดยนำคณิตศาสตร์มาใช้ในการอธิบาย เพื่อให้การเล่นแร่แปรธาตุเป็นที่ยอมรับในทางวิทยาศาสตร์มากขึ้น ทั้งนี้เขาใช้เวลาค้นคว้าเรื่องนี้ 4-5 ปี ซึ่งประสบผลสำเร็จเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ก่อนตัดสินใจยุติการค้นคว้าเรื่องนี้ลงในปี ค.ศ. 1679
4. คำทำนายวันสิ้นโลกในปี ค.ศ. 2060
นิวตันทำนายเอาไว้ว่าวันสิ้นโลกจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2060 ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนจะขัดกับภาพลักษณ์ของอัจฉริยะของผู้เคร่งครัดในการใช้เหตุผลและวิชาคณิตศาสตร์ของนิวตันไม่น้อย โดยความจริงในข้อนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะในศตวรรษที่ 20 หลังจากเก็บเป็นความลับมานานหลายร้อยปี นิวตันทำนายวันสิ้นโลกจากการถอดรหัสคัมภีร์ไบเบิล ด้วยข้อความในกระดาษทดของเขาที่ว่าอายุขัยแสนสั้นของสัตว์ร้ายที่กำหนดเป็นจำนวนวันนั้น หมายถึงการดำรงอยู่ของอาณาจักรที่กำหนดเป็นจำนวนปี ดังนั้นช่วงเวลา 1,260 วัน หากนับจากการบุกพิชิตอย่างสมบูรณ์ของสามกษัตริย์ในปี ค.ศ. 800 จะตรงกับปี ค.ศ. 2060
5. ชายผู้เกิดวันคริสต์มาส
ข้อเท็จจริงประการสุดท้าย 25 ธันวาคม เกือบจะเป็นแค่วันคริสต์มาส เพราะดูเหมือนว่าวันเกิดของนักวิทยาศาสตร์ผู้ทรงอิทธิพลอย่าง "ไอแซก นิวตัน" อาจไม่ใช่วันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1642 อย่างที่รู้กัน เนื่องจากในช่วงเวลานั้นการนับปฏิทินมีด้วยกัน 2 แบบ คือ ปฏิทินจูเลียน และปฏิทินกริกอเรียน แต่เนื่องจากตอนที่นิวตันเกิดประเทศอังกฤษยังไม่ยอมรับปฏิทินกริกอเรียน ทำให้วันเกิดของนิวตันจึงบันทึกเอาไว้ว่าเป็นวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 1642 ตามปฏิทินจูเลียน แทนที่จะเป็นวันที่ 4 มกราคม ค.ศ. 1642 ตามปฏิทินกริกอเรียน
ทั้งหมดนี้ คือเรื่องราว 5 ข้อเท็จจริงที่หยิบยกมาเพื่อให้ทุกคนได้รู้จักนักวิทยาศาสตร์เอกของโลกชาวอังกฤษคนนี้ ที่เชี่ยวชาญทั้งฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และปรัชญา ในแง่มุมอื่น ๆ นอกจากการเป็นผู้คิดค้นกฎแรงโน้มถ่วงของโลกจากการนั่งใต้ต้นแอปเปิล
ที่มาข้อมูล: history, thefactsite, britannica, bbc, silpa-mag
ที่มาภาพ: britannica
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech