ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เรื่องน่ารู้ "เทศกาลตรุษจีน" วันสำคัญโบราณที่มีมานานกว่า 4,000 ปี


Lifestyle

28 ม.ค. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

เรื่องน่ารู้ "เทศกาลตรุษจีน" วันสำคัญโบราณที่มีมานานกว่า 4,000 ปี

https://www.thaipbs.or.th/now/content/55

เรื่องน่ารู้ "เทศกาลตรุษจีน" วันสำคัญโบราณที่มีมานานกว่า 4,000 ปี
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้” ได้ยินประโยคนี้ เป็นอันทราบกันดีว่า เทศกาลตรุษจีน เวียนมาบรรจบอีกครั้ง นี่คือวาระแห่งการเฉลิมฉลองสู่การขึ้นปีใหม่ของชาวจีนทั่วโลก และเป็นหนึ่งในเทศกาลอันยิ่งใหญ่ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน 

ปี 2567 นี้ เทศกาลตรุษจีนตรงกับวันที่ 8 - 10 กุมภาพันธ์ เพื่อเป็นการต้อนรับเทศกาลสำคัญ ไทยพีบีเอสจึงรวบรวมเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ “วันตรุษจีน” มาบอกกัน...

ประวัติความเป็นมา “วันตรุษจีน” 

วันตรุษจีน เป็นวันสำคัญของชาวจีนที่มีมาตั้งแต่โบราณกว่า 4,000 ปีที่แล้ว  ในอดีตเคยถูกเรียกว่า “วันชุงเจ๋” หมายถึง เทศกาลฤดูใบไม้ผลิ จัดขึ้นเพื่อฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงเวลาก่อนหน้านั้น บ้านเมืองถูกปกคลุมไปด้วยหิมะในช่วงฤดูหนาว จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ที่สามารถกลับมาเพาะปลูกพืชผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิของแต่ละปี เป็นวันสำคัญที่เรียกว่า "วันตรุษจีน"

ตามประเพณีเทศกาลตรุษจีนจะถือเอาคืนวันที่ 30 เดือน 12 ในปฏิทินจันทรคติของจีน เป็นวันส่งท้ายปีเก่า ส่วนวันที่ 1 เดือน 1 คือวันชิวอิก หรือวันขึ้นปีใหม่ หมายถึง วันแรกของฤดูใบไม้ผลิ โดยปกติผู้คนจะเตรียมงานฉลองก่อนหนึ่งเดือน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่างของบ้าน บริเวณหน้าต่างจะตกแต่งด้วยกระดาษสีแดงที่มีคำอวยพร เช่น อยู่ดีมีสุข, ร่ำรวย, เงินทองไหลมาเทมา

3 วันสำคัญในเทศกาลตรุษจีน

ตามธรรมเนียมโบราณ เทศกาลตรุษจีนมักจะมีการเฉลิมฉลองกันนานกว่า 15 วัน แต่มีอยู่ 3 วันที่ถือเป็นหลักปฏิบัติกันมาโดยตลอด นั่นคือ...
วันจ่าย : เป็นวันที่ผู้มีเชื้อสายจีนออกไปหาซื้ออาหาร ผลไม้ รวมทั้งเครื่องเซ่นไหว้ เพื่อเตรียมสำหรับพิธีการไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ โดยปกติจะตรงกับวันก่อนสิ้นปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567

วันไหว้ : ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ตรงกับวันที่ 30 เดือน 12 หรือเรียกอีกอย่างว่า วันสิ้นปี โดยช่วงเช้ามืด เป็นการไหว้ “ไป๊เล่าเอี๊ยะ” หรือเป็นการไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยอาหาร ผลไม้ เครื่องเซ่นไหว้ ส่วนตอนสาย เป็นการไหว้ “ไป๊เป้บ๊อ” หรือการไหว้บรรพบุรุษ ใช้อาหารคาวหวาน หรืออาหารที่บรรพบุรุษชื่นชอบ พร้อมเผากระดาษเงินส่งให้ผู้ล่วงลับ และสุดท้ายในช่วงบ่าย เป็นการไหว้ “ไป๊ฮ้อเฮียตี๋” หรือไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว โดยใช้ขนมเข่ง ขนมเทียน และเผากระดาษเงินกระดาษทอง ซึ่งวันไหว้ปีนี้ ตรงกับวันศุกร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567

วันเที่ยว : หรือ “วันขึ้นปีใหม่” ตามปฏิทินจันทรคติจีน ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ชาวจีนมักแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงาม และมีสีสันสดใส โดยเฉพาะสีแดง ซึ่งเป็นสีมงคล ไม่ควรใส่สีเทา หรือสีดำ เพราะถือว่าไม่เป็นสิริมงคล กิจกรรมในวันขึ้นใหม่ ชาวจีนนิยมพากันออกไปท่องเที่ยว และไปไหว้ขอพรญาติผู้ใหญ่ รวมถึงงดการทำบาป เพราะถือว่าเป็นวันแห่งสิริมงคล

ธรรมเนียมปฏิบัติในวันตรุษจีน
นอกจากประเพณีวันจ่าย วันไหว้ และวันเที่ยว อีกหนึ่งธรรมเนียมที่ถือว่าเป็นข้อปฏิบัติสำคัญ นั่นคือ การมอบอั่งเปา โดยคำว่า “อั่ง” เป็นภาษาจีน แปลว่า สีแดง ส่วนคำว่า “เปา” แปลว่า ซองหรือกระเป๋า อั่งเปา จึงหมายถึงซองสีแดงที่ไว้ใส่เงิน นำไปมอบเป็นการอวยพรในวันตรุษจีน

 ส่วนคำว่า “แต๊ะเอีย” หมายถึง เงินที่อยู่ในซอง ซึ่งนิยมใส่เงินเป็นเลขคู่ เพราะหมายถึงการมอบโชคแบบทวีคูณ เลขที่นิยมมากที่สุด คือ เลข 8 ในภาษาจีนออกเสียงว่า “ปา” มีเสียงคล้ายคลึงกับคำว่า “ฟา” ที่ย่อมาจากคำว่า “ฟาไฉ” ในภาษาจีนหมายถึง ความรุ่งโรจน์ หรือความร่ำรวย ส่วนธรรมเนียมการมอบแต๊ะเอีย ผู้ใหญ่จะมอบให้กับเด็กที่ยังไม่มีงานทำ แต่หากเติบโตและมีหน้าที่การงานแล้ว จะเป็นคนมอบซองเงินสีแดง (อั่งเปา) ให้กับเด็ก ๆ รุ่นหลังต่อไป

อาหารมงคลและเมนูต้องห้าม
วันตรุษจีนถือเป็นวันรวมญาติ และมักมีกิจกรรมรับประทานอาหารร่วมกัน โดยเฉพาะมื้อสุดท้ายก่อนขึ้นปีใหม่ ครอบครัวชาวจีนนิยมกิน “เกี๊ยว” เพราะลักษณะของเกี๊ยวมีความคล้ายคลึงกับ “เงิน” ของจีน การกินเกี๊ยวจึงมีนัยยะว่า ทำให้มั่งมีเงินทอง นอกจากนี้ในวันขึ้นปีใหม่ ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมกินเจเป็นมื้อแรกของปี เพราะเชื่อกันว่าจะได้บุญตลอดปี

ส่วนเมนู “อาหารมงคล” เน้นเนื้อสัตว์ชนิดต่าง ๆ เพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ ความมั่งคั่ง รวมทั้งเน้นอาหารที่ปรุงจากเส้นหมี่ อาทิ หมี่ซั่ว บะหมี่ เพื่อสื่อถึงการมีอายุยืนยาว รวมไปถึงการเซ่นไหว้ผลไม้ต่าง ๆ ก็มีความหมายเช่นกัน อาทิ...
ส้มสีทอง หมายถึง ความโชคดี ความร่ำรวย, ทับทิมแดง หมายถึง ความโชคดี การมีครอบครัวอบอุ่น, กล้วยหอมทอง หมายถึง ความเจริญงอกงาม ร่ำรวยเงินทอง มีลูกหลานสืบสกุล, องุ่นแดง หมายถึง ความรุ่งเรือง เป็นต้น

ส่วนผลไม้ต้องห้าม ไม่ควรซื้อมาไหว้เจ้า ได้แก่ ผลไม้สีดำ เช่น องุ่นดำ เชอรี่ดำ เพราะสื่อถึงการไว้ทุกข์ ไม่เป็นมงคล นอกจากนี้ยังควรเลี่ยงผลไม้สีเขียว เช่น องุ่นเขียว ฝรั่ง ลูกแพร์เขียว จัดว่าเป็นผลไม้ต้องห้ามเช่นกัน

เมนูอาหารสำหรับไหว้เจ้าที่นิยม อาทิ ปลานึ่ง ปลาทอด สื่อถึงความมีโชคลาภ ความมั่งคั่ง, ไก่ต้ม ไก่แช่เหล้า ไก่ทอด เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน, เป็ดพะโล้ เป็ดปักกิ่ง เพื่อให้การทำงานสำเร็จลุล่วง, หัวหมูต้ม หมูสามชั้นต้ม หมูกรอบ เพื่อความมั่งคั่ง ร่ำรวย อยู่ดีกินดี, กุ้งทอดกระเทียม กุ้งผัดพริกเกลือ เพื่อการมียศตำแหน่ง บารมี, ซาลาเปาไส้ต่าง ๆ สื่อถึงการห่อโชค ห่อเงิน ห่อทอง และขนมบัวลอยจีน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวกลมเกลียวและรักกัน

เทศกาลตรุษจีน ถือเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และดำรงมาเนิ่นนาน แต่เหนืออื่นใด คือสัญลักษณ์ของการมอบความสุข และการเชื่อมโยงผู้คนไว้จากรุ่นสู่รุ่น ตรุษจีนปีนี้ ขอมอบคำอวยพร “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ อั่งเปาตั่วตั่วไก้” อันมีความหมายว่า ปีใหม่นี้ ขอให้สมปรารถนา มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี...และตลอดไป

 

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันตรุษจีนปีใหม่จีนตรุษจีน2566
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด