19 พฤศจิกายน “วันส้วมโลก” เปิดเรื่องน่ารู้ และปัญหาเรื่องสุขาภิบาลโลก 2023


วันสำคัญ

18 พ.ย. 66

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

19 พฤศจิกายน “วันส้วมโลก” เปิดเรื่องน่ารู้ และปัญหาเรื่องสุขาภิบาลโลก 2023

https://www.thaipbs.or.th/now/content/507

19 พฤศจิกายน “วันส้วมโลก” เปิดเรื่องน่ารู้ และปัญหาเรื่องสุขาภิบาลโลก 2023
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

19 พฤศจิกายน ของทุกปี ได้รับการยกย่องให้เป็น “วันส้วมโลก” หรือ World Toilet Day วันนี้มีความสำคัญอย่างไร เหตุใดองค์การสหประชาชาติ หรือ UN (United Nations) ถึงหยิบยกเอาเรื่องราวของ “ห้องน้ำ” ขึ้นเป็นวาระสำคัญของผู้คนทั่วโลก รวมถึงสถานการณ์สุขาภิบาลทั่วโลกในวันนี้เป็นอย่างไร Thai PBS มีเรื่องราวเหล่านี้มาบอกกัน

World Toilet Day วันส้วมโลก มีที่มาอย่างไร

“วันส้วมโลก” เป็นวันที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations) โดยถูกกำหนดขึ้นในช่วงปี 2544 ทั้งนี้เพื่อให้ผู้คนทั่วโลก ต่างตระหนักถึงปัญหาด้านสุขาภิบาลทั่วโลก

ภาพจาก www.worldtoiletday.info

ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่า วิกฤตด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะการใช้ “ห้องน้ำ” ของผู้คนบนโลก ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวล ประชากรมากมายยังขาดห้องน้ำที่ถูกหลักอนามัย ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาด สำหรับอุปโภค-บริโภค ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลไม่แพ้กัน

ภาพจาก www.un.org

ภาพจาก www.un.org

ด้วยเหตุนี้ องค์การน้ำแห่งสหประชาชาติ (UN Water) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เข้ามาดูแล ได้มีการวางเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือที่เรียกว่า Sustainable Development Goal 6 (SDG 6) โดยเป็นการสร้างหลักประกันว่า จะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนบนโลก ครอบคลุมทั้ง 6 เรื่องคือ

  1. การเข้าถึงสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม และยุติการขับถ่ายในที่โล่ง
  2. ลดมลพิษทางน้ำและการขับถ่ายของเสีย
  3. ประสิทธิภาพการใช้น้ำ และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ
  4. การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ทั้งในและระหว่างประเทศ
  5. การปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง
  6. ส่งเสริมเชิงนโยบาย โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ หนึ่ง การเสริมขีดความสามารถประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในเชิงนโยบายและเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ และสอง สนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการน้ำและสุขอนามัย

สถานการณ์ “สุขาภิบาลโลก” ปี 2023 เป็นอย่างไร

แม้ทุก ๆ ปี จะมีวันสำคัญอย่าง “วันส้วมโลก” ที่ชวนให้ตระหนักถึงสุขภาวะของผู้คน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้คนบนโลกในวันนี้ ยังประสบกับปัญหาด้านสุขอนามัย โดยเฉพาะการใช้ห้องน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมีตัวเลขที่สะท้อนออกมา เช่น

  • ประชากรกว่า 3.5 พันล้านคน ยังไม่มีห้องน้ำที่ถูกสุขอนามัยใช้
  • ประชากรกว่า 419 ล้านคน ยังขับถ่ายในสถานที่แบบเปิดโล่ง
  • ประชากรกว่า 2 พันล้านคน ยังขาดอุปกรณ์พื้นฐานในการล้างมือ อาทิ สบู่และน้ำ
  • ประชากรกว่า 2.2 ล้านคน ยังขาดแหล่งน้ำดื่มที่สะอาดเพียงพอ
  • จากปัญหาสุขาภิบาลในหลากหลายแง่มุม ส่งผลให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการแพร่เชื้อ กว่า 1,000 คน ทุกวัน
  • หนึ่งในโรคที่พบจากการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี นั่นคือ โรคท้องร่วง 
  • เด็กและสตรี คือกลุ่มเสี่ยงจากปัญหาด้านสุขาภิบาลของโลก

(ข้อมูลอัปเดต พฤศจิกายน 2566)

ข้อมูลสถานการณ์ด้านสุขอนามัยโลก

วันส้วมโลก 2023 มีนัยยะสำคัญอะไร

โดยปกติ “วันส้วมโลก” (World Toilet Day) มักจะมีการกำหนดธีมประจำปี อาทิ Sustainable Sanitation and Groundwater (การสุขาภิบาลและแหล่งน้ำบาลดาลที่ยั่งยืน), Valuing Toilets (การสร้างมูลค่าของห้องน้ำ), Sustainable Sanitation and Climate Change (สุขาภิบาลที่ยั่งยืนบนสภาวะอากาศโลกที่แปรปรวน)

ภาพจาก www.worldtoiletday.info

สำหรับธีมในปี 2023 UN Water กำหนดในธีม Accelerating Change หรือการเร่งการเปลี่ยนแปลง โดยใช้สัญลักษณ์ “นกฮัมมิงเบิร์ด” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ เนื่องจากเป็นนกที่มีเรื่องเล่าของการต่อสู้กับไฟ พวกมันใช้น้ำที่อมไว้ในปาก พยายามดับไฟลงทีละเล็กทีละน้อย เปรียบเสมือนความพยายามในการแก้ปัญหาใหญ่ แม้จะยาก แต่หากตั้งใจและมีความพยายาม ปัญหาก็จะคลี่คลายลงได้

ทั้งนี้ UN และ WHO (World Health Organizatio) หรือองค์การอนามัยโลก ตลอดจนรัฐบาลของหลายประเทศ ต่างใช้ความพยายามในการผลักดัน ร่วมมือกันแก้ปัญหาด้านสุขาภิบาลให้ลดลงอย่างยั่งยืน เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย SDG 6 นั่นคือ การมีห้องน้ำและแหล่งน้ำที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ภายในปี 2030 

สถานการณ์ “ส้วมเมืองไทย” เป็นอย่างไร 

สำหรับประเทศไทย มีความพยายามยกระดับและพัฒนาการสุขาภิบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขผลิตนโยบายพัฒนาส้วมสาธารณะไทย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2548 โดยร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดทำแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะให้ได้มาตรฐาน สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย

ทั้งนี้เมื่อปี 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้เผยข้อมูลการพัฒนาส้วมสาธารณะในประเทศ โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่า 186,041 แห่ง นอกจากนี้ยังได้มีการสุ่มตรวจส้วมสาธารณะจำนวนกว่า 99,814 แห่ง พบว่า ผ่านเกณฑ์มาตรฐานจำนวนกว่า 66,907 แห่ง หรือคิดเป็น 67.03% 

ส่วนเหตุผลในการเลือกใช้ส้วมสาธารณะของประชาชน อับดับหนึ่งคือ ความสะอาด ตามมาด้วย ความปลอดภัย และอันดับสามคือ เรื่องความสะดวก

บทสรุป “วันส้วมโลก” หากสุขาภิบาลดี คุณภาพชีวิตก็จะดีเช่นกัน

“ห้องน้ำ” คือปัจจัยพื้นฐานของทุกคนบนโลก แต่ในความเป็นจริง จำนวนการเป็นเจ้าของห้องน้ำที่ “ถูกสุขลักษณะ” ยังน้อยกว่าจำนวนการเป็นเจ้าของ “โทรศัพท์มือถือ” 

ภาพจาก www.un.org

ภาพสะท้อนเหล่านี้ ย่อมส่งผลต่อสุขอนามัยของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลเสียคือการเจ็บป่วย ตลอดจนการเสียชีวิต ดังนั้น จึงเป็นภารกิจที่นานาชาติต้องร่วมมือร่วมแรงกัน เดินหน้าแก้ปัญหา และนำพาภารกิจนี้ไปให้ถึงยังเป้าหมายที่วางเอาไว้ในปี 2030 ให้จงได้

ภาพจาก www.un.org

แม้จะมีพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่เรื่อง “ห้องน้ำ” เป็น “เรื่องใหญ่” ของทุกคน เพราะไม่ว่าโลกจะวิวัฒนาการไปไกลแค่ไหน สุดท้ายเรื่อง “คุณภาพชีวิต” ยังเป็นสิ่งที่สำคัญเสมอ...

แหล่งข้อมูล

-World Toilet Day
-เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 6 
-วันส้วมโลก กรมอนามัย เดินหน้าส่งเสริมให้ประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ส้วมอย่างถูกต้อง เร่งปรับปรุงส้วมให้สะอาด 
-สธ. รณรงค์ "วันส้วมโลก" ผลักดันไทยพัฒนามาตรฐานสุขอนามัยส้วมสู่ HAS 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันส้วมโลก19 พฤศิจกายน วันส้วมโลกWorld Toilet Dayห้องน้ำสุขอนามัยการสุขาภิบาล
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด