เลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย 15 พฤศจิกายน 2476


ประวัติศาสตร์

15 พ.ย. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

เลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย 15 พฤศจิกายน 2476

https://www.thaipbs.or.th/now/content/499

เลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย 15 พฤศจิกายน 2476
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

วันนี้ในอดีต 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็น "การเลือกตั้งทางอ้อม" ครั้งเดียวในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยเป็นการเลือกผู้แทนตำบลก่อน แล้วให้ผู้แทนตำบลเลือกผู้แทนราษฎรอีกทีหนึ่ง 

กลไกการปกครองแบบประชาธิปไตยถูกประกอบสร้างและเริ่มวางรากฐานทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ การจัดการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการเปิดทางให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง ราว 1 ปี หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 10 ธันวาคม 2475 รัฐบาลคณะราษฎร  ซึ่งมีพระยาพหล พลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 

ภายหลังเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี นายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา แถลงต่อสภาในวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2476 ว่าได้ปราบกบฏเสร็จสิ้นบ้านเมืองสงบแล้ว จึงสมควรจำเป็นต้องมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น รัฐบาลจึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกระหว่างเดือน 1-15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476

ในปีนั้นประเทศไทยยังมีอยู่ 70 จังหวัด มีผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 4,278,231 คน และมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งแรก 1,773,532 คน โดยมีการกำหนดสัดส่วนประชากร ต่อจำนวนผู้แทนอยู่ที่ 1 ต่อ 200,000 คน ส่วนผู้แทน จะมี 2 ประเภท ทั้งที่มาจากการเลือกตั้ง และแต่งตั้ง 
 

เลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย พ.ศ. 2476

โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 โดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง รวมทั้งสิ้น 70 จังหวัด ซึ่งสามารถเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรได้จังหวัดละ 1 คน (64 จังหวัด) ยกเว้นจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดนครราชสีมาสามารถเลือกสมาชิกได้ 2 คน ส่วนงหวัดพระนคร (จังหวัดในอดีตของไทย ช่วงปี 2408-2515 ก่อนรวมกับจังหวัดธนบุรี เป็นกรุงเทพมหานคร) และจังหวัดอุบลราชธานี สามารถเลือกสมาชิกได้ 3 คน รวมมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ประเภทที่ 1) จากการเลือกตั้งครั้งแรก จำนวน 78 คน เมื่อรวมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ประเภทที่ 2) ที่แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์อีกจำนวน 78 คน ทำให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทั้งสิ้น 156 คน ทำให้ประเทศไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรก 

อ่าน : พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย 28 มิถุนายน 2475

และจากผลการเลือกตั้งครั้งนั้น ทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ของไทย ได้หวนกลับเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งเป็นสมัยที่ 2 ถือเป็นคณะรัฐมนตรีคณะที่ 5 ของไทย และเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้แทนราษฎร อย่าง เลียง ไชยกาล , โชติ คุ้มพันธ์ และ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ กลายเป็นนักการเมืองที่มีชื่อเสียงและมีบทบาททางการเมืองในเวลาต่อมา 

การเลือกตั้งครั้งแรก 15 พฤศจิกายน 2476 ในภาคอีสาน

ทั้งนี้ ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญฯ 2475 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอีก 14 นาย ต้องเลือกจากผู้ที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีคณะนี้ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2477 เนื่องจากรัฐบาลได้เสนอญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบความตกลงระหว่างประเทศ เรื่องควบคุมการจำกัดยาง แต่สภาไม่เห็นชอบกับความตกลงที่รัฐบาลได้ลงนามไปก่อนหน้านั้น นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีทั้งคณะจึงกราบถวายบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง ต่อมาสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี คนที่ 2 ของไทย

ในเวลาต่อมาท่านได้ลาออก เนื่องจากกรณีกระทู้เรื่องขายที่ดินพระคลังข้างที่ แต่สภาผู้แทนราษฎรได้เลือกท่านเป็นนายกรัฐมนตรีอีก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2480 จนกระทั่งสภาครบวาระสภาผู้แทนราษฎรชุดที่มาจากการเลือกตั้งครั้งแรกสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2480 เนื่องจากครบวาระดำรงตำแหน่ง 4 ปีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ทั้งนี้ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้ว 29 ครั้ง นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2476 ครั้ง จนถึงล่าสุดคือการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาลงมติเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย 

อ้างอิง 
พิพิธภัณฑ์รัฐสภา  
สถาบันปรีดี พนมยงค์สถาบันพระปกเกล้า

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งครั้งแรกในไทยเลือกตั้ง66วันสำคัญวันนี้ในอดีต
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด