“ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) กลายเป็นคำที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจ และถูกตีความไปหลากหลายแง่มุม ประโยคนี้มีความหมายแบบใด และที่ผ่านมา เคยมี “ของไทย” ชิ้นไหน ที่สร้างกระแสหรือเรียกว่า ดังและปัง จนเป็น “ภาพจำ” ในหมู่ชาวต่างชาติบ้าง Thai PBS รวบรวมเรื่องราวมาบอกกัน
ทำความเข้าใจ Soft Power คืออะไร ?
Soft Power เป็นคำที่ถูกบัญญัติครั้งแรกโดย ดร.โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีความหมายว่า การทำให้ผู้อื่น “ต้องการ” และ “ยอมรับ” อย่าง “เต็มใจ”
Soft Power เป็นอำนาจในการโน้มน้าว ที่มี “วัฒนธรรม” เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน รวมทั้งมีสิ่งสำคัญอีก 2 ประการที่ช่วยให้เกิดผลสำเร็จ นั่นคือ การสร้างให้เกิด “คุณค่า” และต้องมี “ความต่อเนื่อง” เป็นปัจจัยสำคัญ
หากมีปัจจัยสนับสนุนทั้ง 2 อย่างนี้ เรื่องราวบางอย่าง หรือสิ่งของบางชิ้น จะถูกขับเคลื่อนจนกลายเป็น Soft Power หรือ อำนาจเชิงวัฒนธรรม ที่นำไปสู่ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ
Soft Power ไทย มีอะไรบ้าง?
เพราะ Soft Power คือเครื่องมือที่ช่วยสร้างความเข้มแข็งในเชิงวัฒนธรรม จนนำไปสู่การสร้างรายได้เชิงเศรษฐกิจ โดยสิ่งที่เรียกว่า Soft Power นี้ ปรากฏได้ทั้งในคน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่เรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ของสังคม
สำหรับประเทศไทย หากหยิบยกสิ่งที่เรียกว่า Soft Power สามารถกำหนดขอบเขตด้วยสัญลักษณ์ 5F ได้แก่
- Food อาหารไทย
- Film ภาพยนตร์ไทย
- Fashion การออกแบบไทย
- Fighting ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย
- Festival เทศกาลและประเพณีไทย
Soft Power ไทย เรื่องไหนที่ “ปัง” จริงในหมู่ต่างชาติ
“ของไทย” ไม่แพ้ชาติใดในโลก ประโยคนี้ไม่ได้กล่าวเกินจริง ที่ผ่านมา เคยมีเหล่าบรรดาของไทย ที่กลายเป็นที่รู้จัก หรือเรียกว่า “ปังจริง” ในหมู่ชาวต่างชาติ มีอะไรกันบ้าง ไปดูกัน...
1.ชุดไทย
หนึ่งในจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ มักเดินทางมาชื่นชมความงดงาม นั่นคือ วัดวาอารามต่าง ๆ ของไทย มากกว่าการท่องเที่ยววัด คือการ “สวมชุดไทย” ซึ่งกลายเป็นความนิยม โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวชาวเอเชีย อาทิ จีน เวียดนาม และเกาหลีใต้ ที่นิยมสวมใส่ชุดไทย เพื่อถ่ายภาพร่วมกับวัดเก่าแก่ กระแสความปังของชุดไทยนี้ เริ่มนิยมมาตั้งแต่เปิดประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 เป็นต้นมา
อ่านข่าว “ห่มสไบ ใส่สนีกเกอร์” เทรนด์ฮิตต่างชาติเช่าชุดไทยใส่เที่ยววัดแจ้ง
2.ชุดนักเรียนไทย
ไม่ใช่แค่ “ชุดไทย” ที่ปังจริงอะไรจริง ยังมี “ชุดนักเรียนไทย” ที่กลายเป็นของฮิตในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน เรื่องนี้มีต้นทางมาจากละครไทย หลายเรื่องไปโด่งดังในหมู่ผู้ชมชาวจีน จนมีนักแสดงชื่อดังชาวจีน สวมชุดนักเรียนไทย ถ่ายภาพโพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย
เป็นเหตุให้เกิดกระแสความนิยมชุดนักเรียนไทยขึ้นมา จนเมื่อนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมายังประเทศไทย หลายคนตั้งใจมาหาซื้อชุดนักเรียนเพื่อสวมใส่ ที่สำคัญ ต้องปักชื่อบริเวณหน้าอกเสื้อ เพื่อให้ดูเหมือนกับชุดนักเรียนไทยมากที่สุด
อ่านข่าว ส่องสาวจีนฮิตแต่ง "ชุดนักเรียนไทย" กลายเป็นไวรัลโซเชียล
3.กางเกงมวยไทย & กางเกงช้าง
เอ่ยชื่อ “มวยไทย” นี่คือจุดขายหนึ่งในระดับนานาชาติของไทย ปัจจุบันกีฬามวยไทยดังไกลจนมีเวทีการแข่งขันในระดับสากล แต่หากข้ามจากเรื่องกีฬา อุปกรณ์ชิ้นสำคัญอย่าง “กางเกงมวยไทย” คือของฮิตที่ชาวต่างชาตินิยมซื้อหามาสวมใส่
นี่คือ “ของที่ระลึก” อันดับต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวนิยมซื้อกลับไปยังประเทศตนเอง รวมถึงนิยมสวมใส่เพื่อยืนยันว่า “ฉันเคยมาเยือนเมืองไทย”
ไม่ใช่แค่ “กางเกงมวยไทย” เพราะที่ฮิตไม่แพ้กัน นั่นคือ “กางเกงช้าง” จากสินค้าที่วางขายตามตลาดนัด จนมาเตะตาเหล่าบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ ด้วยความที่ “ช้าง” ที่เป็นสัญลักษณ์สัตว์ประจำชาติไทย ทำให้นักท่องเที่ยวนิยมซื้อมาใส่เวลาอยู่เมืองไทย
ต่อมากลายเป็นกระแสปากต่อปาก แถมศิลปินคนดัง อาทิ แจ็คสัน หวัง ยังเอากางเกงช้างไทยมาสวมใส่ งานนี้จึง “ปังเปรี้ยงปร้าง” กลายเป็นไอเทมชิ้นสำคัญที่ทำให้ต่างชาตินึกถึงเมืองไทยไปโดยปริยาย
อ่านข่าว กางเกงช้าง แฟชั่นไทย "ญี่ปุ่นฮิต" ใส่สบายราคาไม่แพง
4.ผ้าขาวม้า
สำหรับคนไทย เราอาจเห็น “ผ้าขาวม้า” จนชินตา แต่รู้หรือไม่ว่า นี่คืออีกหนึ่งใน Soft Power ที่เป็นที่รู้จัก และเป็นภาพจำของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก
กล่าวถึง ผ้าขาวม้า เป็นผ้าที่มีลวดลายตารางสี่เหลี่ยมเป็นเอกลักษณ์ ส่วนใหญ่มีขนาดกว้าง 60-80 ซม.และยาว 120-180 ซม. นิยมใช้ทุกภาคของประเทศไทย
เนื่องจากมีอัตลักษณ์ที่เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ทำให้ ผ้าขาวม้า เป็นที่จดจำมาอย่างยาวนาน จนทางการไทยทำเรื่องขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ต่อองค์การยูเนสโก แถมล่าสุดยังได้รับการนำไปอวดโฉมในงานระดับนานาชาติที่ World Dance Day 2023 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก
5.ยาดม
อีกหนึ่งใน “ของไทย” ที่ปังขั้นสุด นั่นคือ ยาดมไทย ที่มาที่ไปของความนิยมนี้ เกิดขึ้นจากการที่เหล่าศิลปินดังหลายราย พากันโพสต์ภาพการใช้ “ยาดมไทย” อาทิ แจ็คสัน หวัง, หวังอี้ป๋อ, แบมแบม GOT 7 หรือแม้แต่ ลิซ่า แบล็กพิงค์ จนกลายเป็นไอเทมที่ชาวต่างชาติรู้จัก
เนื่องจากประเทศไทยขึ้นชื่อเรื่อง “สมุนไพร” จึงมีส่วนช่วยส่งเสริมให้สินค้าประเภทยาดม ได้รับความน่าเชื่อถือ แถมยังเคยมีสำรวจอีกว่า คนไทยนิยมพกยาดม เฉลี่ยกว่า 10% ของประชากรทั้งประเทศ ตลาดสินค้ายาดมไทย เติบโตหลักพันล้านบาทต่อปี เป็นหนึ่งในสินค้าที่ถูกส่งไปขายยังต่างประเทศ จึงการันตีได้ว่า ยาดมไทยคือสินค้าในเชิงวัฒนธรรมที่สำคัญไม่แพ้สินค้าอื่น ๆ เลยทีเดียว
6. สงกรานต์ไทย
พูดชื่อ “อีเวนต์” ที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักและให้ความสนใจ รับประกันได้ว่า “เทศกาลมหาสงกรานต์” หรือ Water Festival ต้องอยู่ในการจดจำอย่างแน่นอน นี่คืองานเชิงวัฒนธรรมที่มีภาพอวดสายตาผู้คนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน แถมยังมีพัฒนาการจนกลายเป็นหนึ่งใน “เทศกาลไทย” ที่เชื้อเชิญให้ชาวต่างชาติเดินทางมาร่วมงานทุกปี
มากไปกว่านั้น ปัจจุบัน “งานสงกรานต์ไทย” ยังยกระดับตัวเองจนถูกนำไปจัด “นอกประเทศ” ในชื่องาน S2O Songkran Music Festival โดยเป็นการประยุกต์เอาเทศกาลการสาดน้ำ มาผสมผสานกับความสนุกสนานของเสียงเพลง งานนี้จัดมาแล้วที่ญี่ปุ่น ไต้หวัน จีน และเกาหลีใต้ ถือเป็นอีกหนึ่ง Soft Power ที่สร้างการจดจำต่อชาวต่างชาติเป็นอย่างดี
7.ผัดไทย & รถตุ๊กๆ
หากจะหา “ของไทย” ที่เป็น “ตัวตึง” สร้างการรับรู้ในอัตลักษณ์ความเป็นไทยมายาวนาน ต้องยกให้ 2 สิ่งนี้ นั่นคือ ผัดไทย หนึ่งในเมนูอาหารไทยที่นานาชาติให้การยอมรับ และยกนิ้วให้ในเรื่องความอร่อย
ความโด่งดังของ “ผัดไทย” ทำเอาเมื่อต้นปี 2566 เว็บไซต์ Oxford Dictionaries ได้บรรจุชื่อ "pad thai" (ผัดไทย) ให้เป็นคำสากลที่ทั่วโลกรู้จัก และจัดอยู่ในหมวด C2 หมวดศัพท์ทั่วไปที่ถูกบัญญัติใช้เพื่อแสดงให้รู้ถึงแหล่งที่มาต้นกำเนิด หรือพื้นถิ่นของสิ่ง ๆ นั้น เหมือนกับคำว่า pizza อาหารจากอิตาลีนั่นเอง
อ่านข่าว ผัดไทย เมนูโดนใจทั่วโลก
อีกหนึ่งของไทยที่ปังแรงไม่แพ้กัน นั่นคือ รถตุ๊กๆ หนึ่งในภาพจำที่นานาชาติมีต่อเมืองไทย การถือกำเนิดขึ้นของ “รถตุ๊กๆ” เกิดขึ้นราวปี 2500 เป็นช่วงที่ประชาชนคนไทยเริ่มมีกำลังซื้อหายานพาหนะมาใช้อย่างกว้างขวาง กระทั่งในปี 2503 ได้มีการเปิดตัว “รถตุ๊กๆ” ที่มีวิวัฒนาการมาจากรถสามล้อถีบ โดยปรับแต่งให้กลายเป็นรถสามล้อเครื่อง
ชื่อ “รถตุ๊กๆ” มาจากเสียงเครื่องยนต์ที่ดังตุ๊กๆ และแม้ในความเป็นจริง จะมีรถลักษณะเดียวกันนี้อยู่หลายแห่งในโลก แต่สำหรับชาวต่างชาติแล้ว รถตุ๊ก ๆ คือภาพจำภาพหนึ่งของเมืองไทย หากมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนประเทศไทย ต้องขอใช้บริการรถสามล้อเครื่องนี้สักครั้ง
แถม Soft Power เรื่องนี้ของเมืองไทย ยังถูกเผยแพร่ไปตามสื่อนานาชาติมากมาย ทั้งภาพยนตร์ที่มาถ่ายทำที่เมืองไทย หรือแม้แต่ภาพถ่ายแฟชันนิตยสารระดับโลกอย่าง VOGUE เคยนำรถตุ๊ก ๆ ร่วมเฟรมมาแล้ว
นอกจากนี้ นางงามตัวแทนประเทศไทย “แนท-อนิพรณ์ เฉลิมบูรณะวงศ์” ยังเคยสวมใส่ชุดประจำชาติที่ออกแบบให้มีรถตุ๊ก ๆ พ่วงท้าย ในการประกวดมิสยูนิเวิร์สปี 2015 ซึ่งงานนั้นกลายเป็นภาพข่าวที่ถูกเผยแพร่ไปทั่วโลก
บทสรุป Soft Power ไทย มีดีไม่แพ้ชาติใด แต่การสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญ
“การค้า” เป็นเรื่องสำคัญที่ใช้ชี้วัดศักยภาพของประเทศ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า หนึ่งในกลยุทธที่สร้างให้เกิดมูลค่าทางการค้าได้ นั่นคือ จุดขายทางวัฒนธรรม หรือ Soft Power ที่เป็นอัตลักษณ์สำคัญของสังคม
Soft Power เป็นได้ทั้งกระแสที่เกิดขึ้นชั่วคราว ไม่ต่างจากพลุที่ถูกยิงขึ้นไปบนท้องฟ้า จากนั้นจึงค่อย ๆ เลือนหายไป ในทางกลับกัน Soft Power ก็สามารถสร้างให้กลายเป็นความยั่งยืนได้เช่นกัน แต่ความยั่งยืนเหล่านั้นจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และประการที่สำคัญ คือความจริงจัง ใส่ใจ และการได้รับการวางแผนอย่างเป็นรูปธรรมเพียงพอ
ดังนั้น การสร้าง “การเป็นที่รู้จัก” ไม่ใช่เรื่องยาก เท่ากับการทำให้ผู้คน “ยอมรับ” และ “จดจำ” ไปตราบนานเท่านาน หากไปถึงยังจุดนั้น อาจเรียกได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า นี่คืออำนาจเชิงวัฒนธรรม หรือ Soft Power อย่างแท้จริง...
แหล่งข้อมูล
-Soft Power อำนาจแห่งความสร้างสรรค์ เพื่อสรรค์สร้างเศรษฐกิจไทย
-ปรากฏการณ์ Soft Power ยาดมไทย ถูกใจไอดอลเกาหลี เป็นไวรัลที่ขายดีจนผลิตไม่ทัน
-โว้กพาย้อนเจาะลึกประวัติที่มาของรถตุ๊ก ๆ กับเอกลักษณ์ที่ทำไมมันถึงเป็นไทยหนักหนา
-วู้ดดี้เปิดความท้าทายสุดหินของ S2O “ลงทุน 90 ล้าน แต่ความรู้สึกต้องเหมือน 200 ล้าน”