ขณะนี้การสู้รบ “อิสราเอล-กลุ่มฮามาส” ยังคงปะทะดุเดือด มีการยิงจรวด-อาวุธหนักเข้าไปในพื้นที่ประเทศอิสราเอลจำนวนมาก โดยกลุ่มฮามาสอ้างว่ายิงจรวดมากกว่า 5,000 ลูกจากฉนวนกาซาไปยังอิสราเอล แต่ก็มีรายงานว่าอิสราเอลสามารถป้องกันได้ถึง 90% เลยทีเดียว ทำให้ “Iron Dome” ระบบอัจฉริยะป้องกันทางอากาศเคลื่อนที่ทุกสภาพอากาศถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก Thai PBS Sci & Tech จึงขอพาไปรู้จักว่า “โดมเหล็ก” นี้ มีความพิเศษอย่างไร
จุดกำเนิดระบบอัจฉริยะ Iron Dome
สำหรับ Iron Dome ถือเป็นหนึ่งในระบบป้องกันขีปนาวุธดีที่สุดและทันสมัยที่สุดในโลกเวลานี้ ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นมาหลัง “อิสราเอล” สู้รบกับกองกำลังติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ของเลบานอน ในช่วงปี 2549 แล้วอิสราเอลโดนจรวดหลายพันลูกยิงถล่มจนเกิดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล ก่อนเริ่มนำมาใช้อย่างจริงจังเมื่อปี 2554 เป็นต้นมา
โดยระบบ “โดมเหล็ก” ของอิสราเอล จากรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่า เป็นระบบป้องกันทางอากาศพิสัยใกล้ (4-70 กิโลเมตร) ซึ่งมีการคาดการณ์อัตราความสำเร็จในการสกัดกั้นจรวดถึง 96 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่รายงานของ Associated Press เผยว่า ระบบ Iron Dome สามารถสกัดกั้นจรวดที่ยิงโดยกลุ่มฮามาสได้ร้อยละ 90 ในการโจมตีครั้งล่าสุด
Iron Dome ทำงานอย่างไร ?
“โดมเหล็ก” เป็นระบบที่สามารถใช้งานได้ทุกเวลาและทุกสภาพอากาศ สามารถเคลื่อนที่โดยมีรถบรรทุกคอยลากจูง ไปยังจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อทำการสกัดกั้นภัยคุกคามทางอากาศก่อนที่จะสร้างความเสียหาย โดยใช้ “เรดาร์” ตรวจจับ พร้อมกับใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อระบุว่าจรวดที่เข้ามานั้นเป็นภัยคุกคามตามที่ถูกตีความหรือไม่ เช่น จะโจมตีพื้นที่ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ หากไม่เป็นเช่นนั้น Iron Dome ก็จะเพิกเฉยต่อจรวดและปล่อยให้เข้าสู่น่านฟ้าของอิสราเอล
แต่หากตรวจจับแล้วพบภัยคุกคาม ระบบควบคุมและอำนวยการรบอัจฉริยะ (Battle Management and Weapons Control: BMC) จะทำการประมวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากนั้นจะมีการส่งคำสั่งไปยังแท่นยิง “หน่วยยิงอาวุธปล่อย” (Missile Firing Unit) ให้ทำการยิงขีปนาวุธออกไปสกัด โดยให้ระเบิดใกล้ๆ กับจรวดเป้าหมายกลางอากาศ
คู่ต่อสู้กำลังหาทางลดประสิทธิภาพ Iron Dome
จากการเปิดเผยของทางการอิสราเอล รายงานว่า กลุ่มฮามาสกำลังพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรบกวนระบบ Iron Dome อยู่ โดยเครื่องบินรบของอิสราเอลได้ทำการทำลายอาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่ากลุ่มฮามาสใช้เป็นฐานที่มั่นก่อกวนระบบ Iron Dome โดยนอกจากนี้ยังมีการเพิ่มจำนวนการยิงจรวดวิถีวิถีต่ำอย่างมีนัยสำคัญอีกด้วย เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าทำให้ “โดมเหล็ก” สกัดกั้นได้ยากยิ่งขึ้นนั่นเอง
การพัฒนาของ Iron Dome ในอนาคต
ณ ปัจจุบัน Iron Dome ได้มีการนำ AI มาใช้ และประมวลผลข้อมูลโดยใช้ Algorithm ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการประเมินการคุกคาม โดยในอนาคตมีการคาดการณ์ว่า “โดมเหล็ก” นี้ จะถูกพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปอีก โดยจะช่วยตัดสินใจว่า ควรใช้อาวุธใดที่สมเหตุสมผลในการจัดการแต่ละเป้าหมายเป็นการเฉพาะ เช่น ขีปนาวุธทาเมียร์ (Tamir) เลเซอร์ หรือปืนใหญ่ เป็นต้น
📌อ่านบทความ ปูมหลังปมขัดแย้ง "อิสราเอล-ปาเลสไตน์"
📌อ่านบทความ รู้จัก "อิสราเอล" ดินแดนแห่งประวัติศาสตร์นับพันปี
📌อ่านบทความ รู้จักพื้นที่สู้รบ "อิสราเอล-ฮามาส"
📌อ่านบทความ ทัพ "อิสราเอล" เทคโนโลยีล้ำสมัย ก้าวข้ามขีดจำกัดทรัพยากร
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
🌏 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : hindustantimes