วันนี้ (5 ต.ค. 66) กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณภาคกลาง ในขณะที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย
ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองและหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่ และป้ายโฆษณาที่ไม่แข็งแรงในระยะนี้
สำหรับทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
📌อ่านต่อ : สภาพอากาศวันนี้ ทั่วไทยฝนตกหนักบางแห่ง ระวังน้ำท่วมฉับพลัน - กทม. ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่
พอทราบถึงข้อมูลตรงหลายคนอาจสงสัย ทำไม ? “กรมอุตุนิยมวิทยา” จึงสามารถคาดการณ์ “สภาพอากาศ” ในแต่ละวันได้ Thai PBS Sci & Tech ชวนไปหาคำตอบกัน
รู้จัก “พยากรณ์อากาศ” คืออะไร ? ทำไมรู้ว่าวันนี้ฝนจะตก
พยากรณ์อากาศ (Weather Forcasting) หมายถึง การคาดหมายสภาพลมฟ้าอากาศในอนาคต การที่จะพยากรณ์อากาศได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1. ความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ
2. สภาวะอากาศปัจจุบัน
3. ความสามารถที่จะผสมผสานองค์ประกอบทั้งสองข้างต้น เข้าด้วยกันเพื่อคาดหมายการ เปลี่ยนแปลงของบรรยากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์และกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในบรรยากาศ ได้มาจากเฝ้าสังเกตและบันทึกไว้ มนุษย์ได้มีการสังเกตลมฟ้าอากาศมานานแล้ว เพราะมนุษย์อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมฟ้าอากาศโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องทราบลักษณะลมฟ้าอากาศที่เป็นประโยชน์และลักษณะอากาศที่เป็นภัย การสังเกตทำให้สามารถอธิบายถึงสาเหตุของการเกิดลักษณะอากาศแบบต่าง ๆ ได้ อย่างไรก็ตามความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศนั้นยังมีอยู่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปรากฎการณ์ของบรรยากาศ ที่มนุษย์ยังไม่มีความเข้าใจอย่างเพียงพอ
ปัจจุบัน “อุตุนิยมวิทยา” ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับบรรยากาศและปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้อง ได้มีการพัฒนานำเอา “วิทยาศาสตร์” และ “เทคโนโลยี” ที่จะช่วย “ตรวจสภาพอากาศ” ได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น คือการตรวจอากาศด้วย “เรดาร์” และ “ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา” เมื่อมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องราวของลมฟ้าอากาศ และมีข้อมูลผลการตรวจสอบอากาศแล้ว สิ่งที่ต้องทำเพื่อให้สามารถ “พยากรณ์อากาศ” ได้ คือการวิเคราะห์ข้อมูลผลการตรวจอากาศเพื่อให้ทราบลักษณะอากาศปัจจุบัน
ก่อนทำการคาดหมายการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศที่กำลังเกิดขึ้นนั้นว่า จะมีทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนที่อย่างไร และความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงเพียงใด นั่นคือคาดหมายว่าบริเวณที่จะพยากรณ์นั้นจะอยู่ภายใต้อิทธิพลของปรากฏการณ์แบบใด แล้วจึงจัดทำคำพยากรณ์อากาศโดยพิจารณาจากลักษณะลมฟ้าอากาศที่สัมพันธ์กับปรากฏการณ์นั้น ๆ ต่อไป
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ดร.ดุษฎี ศุขวัฒน์, กรมอุตุนิยมวิทยา