ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

3 ความเข้าใจผิด “โรคพิษสุนัขบ้า” ภัยใกล้ตัวต้องระวังไม่ถูกกัด ก็ติดได้ !


Thai PBS Care

27 ก.ย. 66

ชาลี นวธราดล

Logo Thai PBS
แชร์

3 ความเข้าใจผิด “โรคพิษสุนัขบ้า” ภัยใกล้ตัวต้องระวังไม่ถูกกัด ก็ติดได้ !

https://www.thaipbs.or.th/now/content/376

3 ความเข้าใจผิด “โรคพิษสุนัขบ้า” ภัยใกล้ตัวต้องระวังไม่ถูกกัด ก็ติดได้ !
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

หลายคนอาจมอง “โรคพิษสุนัขบ้า” เป็นเรื่องไกลตัว เพียงระวังไม่เข้าใกล้สุนัข โดยเฉพาะสุนัขจรตามท้องถนน ก็คงไม่มีโอกาสเป็นโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในความเข้าใจผิด Thai PBS มีชุดข้อมูลเกี่ยวกับ “โรคพิษสุนัขบ้า” เพื่อให้คุณเรียนรู้และป้องกันตัวจากอันตรายของโรคนี้…

3 ความเข้าใจผิด “โรคพิษสุนัขบ้า”
1. โรคพิษสุนัขบ้าระบาดเฉพาะในฤดูร้อน
เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะเชื้อไวรัสสามารถเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว แต่จริง ๆ แล้วทั้งสัตว์และคนสามารถติดเชื้อได้ทุกฤดู

2. สัตว์ที่เลี้ยงอยู่แต่ในบ้าน ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน
เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกตัวมีโอกาสติดเชื้อ และอาจมีสัตว์ที่ติดเชื้อเข้ามาในบริเวณบ้านของเรา และกัดสัตว์เลี้ยงของเราได้โดยที่เราอาจไม่รู้ จึงควรพาสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี

3. การฉีดวัคซีนป้องกันโรคได้ 100%
เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะวัคซีนคือเชื้อไวรัสที่ถูกทำให้ไม่ก่อโรค ฉีดเข้าไปให้ร่างกายตอบสนองโดยการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคด้วยตัวเอง ดังนั้นต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ขึ้นไป จึงจะได้ภูมิคุ้มกันที่เต็มที่ และการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคจะขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของร่างกายด้วย 

ถ้าร่างกายไม่แข็งแรงก็อาจเกิดการสร้างภูมิได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วก็ยังต้องระมัดระวังเรื่องการให้สัตว์ของเราสัมผัสกับสัตว์แปลกหน้าด้วย

สัตว์ที่เลี้ยงอยู่แต่ในบ้าน จำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ?

 

โรคพิษสุนัขบ้า เกิดจากอะไร ?
โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ “เรบีส์” (Rabies virus) เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายของคนหรือสัตว์ก็ตาม เชื้อไวรัสนี้จะเข้าไปฝังตัวอยู่ในระบบประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สมองและเยื่อหุ้มสมอง ทำให้เกิดอาการอย่างรวดเร็วจนทำให้เสียชีวิตได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาโรคพิษสุนัขบ้า ทำให้คนที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 100%


ถูกสุนัข หรือหมากัด เสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ?
สาเหตุที่พบบ่อยของโลกพิษสุนัขบ้า คือ การถูกสุนัขกัด และน้อยคนนักที่จะทราบว่าคนที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ไม่จำเป็นต้องโดนกัด เสียจนเหวอะหวะ เพียงแค่ถูกสัตว์เลีย หรือข่วน หรือน้ำลายจากสัตว์ที่ติดเชื้อกระเด็นเข้าบาดแผล หรือเข้าตา จมูก ปาก ทวารหนัก หรือแม้แต่อวัยวะสืบพันธุ์ที่แม้จะไม่มีบาดแผล ก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน

เนื่องจากคนไทยเรียกโรคนี้ว่า โรคพิษสุนัขบ้า เป็นเหตุให้เรามักระวังแค่สุนัขเท่านั้น แท้ที่จริงแล้วสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ก็เป็นพาหะนำโรคพิษสุนัขบ้าได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น แมว หนู กระต่าย กระรอก กระแต ลิง ชะนี วัว ควาย ค้างคาว เป็นต้น โดยทั้งหมดส่งต่อเชื้อผ่านทางน้ำลายด้วยการกัด เลีย หรือน้ำลายกระเด็นโดนได้เช่นเดียวกับสุนัข

ถูกสุนัข หรือหมากัด เสี่ยงเป็นโรคพิษสุนัขบ้าหรือไม่ ?

ถูกสุนัข หรือหมากัด ต้องทำอย่างไร ?
1. รีบล้างแผลทันทีด้วยน้ำสะอาด เพื่อล้างเลือดและน้ำลายของสัตว์ออกจากแผล จากนั้นฟอกสบู่ 2-3 ครั้งที่แผลให้ถึงก้นแผล แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด การล้างแผลช่วยลดปริมาณเชื้อได้ถึง 80%

2. เช็ดบริเวณรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือน้ำยาโพวิโดนไอโอดีน หรือทิงเจอร์ไอโอดีน แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนภายในวันนั้นทันที

3. หากเป็นไปได้ ให้จับสัตว์ตัวนั้นขังกรง และเฝ้าสังเกตอาการของสัตว์อย่างน้อย 10-15 วัน ระหว่างนั้นหากสัตว์ตัวนั้นตาย ให้นำซากมาตรวจพิสูจน์เชื้อ โดยควรส่งให้เร็วที่สุด ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ติดต่อสำนักงานปศุสัตว์เขต ปศุสัตว์จังหวัด ปศุสัตว์อำเภอหรือติดต่อสอบถาม ฝ่ายควบคุมโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน กองควบคุมโรคระบาด กรมปศุสัตว์ โทร 0-2653-447, 0-2653-444 ต่อ 4141, 4142,4117

หากเป็นสัตว์จรจัดหรือสัตว์ป่า ไม่จำเป็นต้องติดตามหาสัตว์นั้น แต่ผู้ถูกกัดควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที

ล้างแผลที่ถูกสุนัขกัด ด้วยการฟอกสบู่และล้างด้วยน้ำสะอาด

อาการของโรคพิษสุนัขบ้า มีอะไรบ้าง ?
ผู้ป่วยจะแสดงอาการ หลังได้รับเชื้อประมาณ 3 สัปดาห์ - 6 เดือน หรืออาจนานจนถึง 1 ปี
อาการเริ่มแรก ไข้ต่ำ เจ็บคอ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และคันรุนแรงบริเวณแผลที่ถูกกัด
อาการทางประสาท กระสับกระส่าย คลุ้มคลั่ง กระวนกระวาย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง มีอาการหนาวสั่น กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว

อาการระยะสุดท้าย กล้ามเนื้อเกร็ง-กระตุก แขนขาอ่อนแรง หายใจไม่ออกแน่นหน้าอก หมดสติและเสียชีวิตในที่สุด

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ได้รายงานสถานการณ์ติดเชื้อระหว่างวันที่ 1 ม.ค.- 23 พ.ค. 66 พบผู้เสียชีวิต 3 คน สาเหตุพบว่าไม่ไปพบแพทย์ และไม่ได้ฉีดวัคซีนหลังถูกสุนัขกัด

4 สิ่งที่อยากให้ประชาชนทำ ในวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO กำหนดให้วันที่ 28 กันยายนของทุกปี เป็นวันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลก (World Rabies Day) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงโรคและร่วมป้องกัน ดังนี้

1. เจ้าของสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ต้องนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนครั้งแรกเมื่ออายุ 2-4 เดือน แล้วฉีดซ้ำตามกำหนดนัดทุกปี

2. ไม่ควรปล่อยสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านตามลำพัง โดยไม่ใส่สายจูง เพราะอาจถูกสุนัขจรจัดที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดได้

3. ช่วยกันลดจำนวนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขที่ไม่มีผู้รับผิดชอบโดยการทำหมันถาวร

4. ลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัดหรือป้องกันด้วย “คาถา 5 ย.” คือ 
• อย่าแหย่ ให้สุนัขโมโห โกรธ 
• อย่าเหยียบ หาง หัว ตัว ขา หรือทำให้สุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ตกใจ 
• อย่าแยก สุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 
• อย่าหยิบ ชามข้าวหรือเคลื่อนย้ายอาหารขณะที่สุนัขกำลังกินอาหาร 
• อย่ายุ่ง หรือเข้าใกล้กับสุนัขหรือสัตว์ต่าง ๆ ที่ไม่มีเจ้าของหรือไม่ทราบประวัติ

โรคพิษสุนัขบ้า ภัยใกล้ตัวต้องระวังไม่ถูกกัด ก็ติดได้ !

ที่มา : สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลสัตว์ตลิ่งชัน, สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

วันป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโลกวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าพิษสุนัขบ้าโรคพิษสุนัขบ้า
ชาลี นวธราดล
ผู้เขียน: ชาลี นวธราดล

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด