ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ผลงาน “กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์” ค้นพบ “ดาวเคราะห์ K2-18 b” อาจมีมหาสมุทรปกคลุมพื้นผิว


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

13 ก.ย. 66

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ผลงาน “กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์” ค้นพบ “ดาวเคราะห์ K2-18 b” อาจมีมหาสมุทรปกคลุมพื้นผิว

https://www.thaipbs.or.th/now/content/324

ผลงาน “กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์” ค้นพบ “ดาวเคราะห์ K2-18 b” อาจมีมหาสมุทรปกคลุมพื้นผิว
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“นาซา” (NASA) ได้ออกมาเปิดเผยว่า กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ (James Webb Space Telescope: JWST) ได้ตรวจพบโมเลกุลแก๊ส มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ K2-18 b เช่น แก๊สมีเทน (CH4) และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นหลักฐานสนับสนุนว่า ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้อาจมีแก๊สไฮโดรเจนอยู่ในปริมาณมาก และอาจมีมหาสมุทรปกคลุมอยู่ที่พื้นผิวดาว

สำหรับวิจัยครั้งนี้ นักดาราศาสตร์นำทีมโดย Nikku Madhusudhan นักดาราศาสตร์จาก University of Cambridge ใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ JWST ศึกษาดาวเคราะห์ K2-18 b อีกครั้ง ครั้งนี้สามารถระบุองค์ประกอบแก๊สในชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงนี้ได้เพิ่มเติม นั่นคือแก๊สมีเทน และแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์

โดยบนโลกของเรานั้น แก๊สทั้ง 2 นี้มีแหล่งกำเนิดหลักมาจากสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนโลก รวมถึงพฤติกรรมของมนุษย์ การค้นพบแก๊สเหล่านี้จึงเป็นการบอกถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะเป็นโมเลกุลที่ปล่อยออกมาจากสิ่งมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกันแก๊สทั้ง 2 นี้ สามารถเกิดจากกระบวนการทางเคมีที่ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตได้เช่นกัน

อีกความน่าสนใจของการค้นพบในครั้งนี้คือ การค้นหาดาวเคราะห์ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตนั้น ปกติมักจะโฟกัสที่ดาวเคราะห์หินขนาดเล็ก แต่ยิ่งดาวเคราะห์มีขนาดเล็ก ยิ่งทำให้ยากต่อการศึกษาชั้นบรรยากาศ แตกต่างจากดาวเคราะห์ K2-18 b ที่จัดให้อยู่ประเภท “sub-Neptune” ฮิบายให้เข้าใจก็คือ เป็นดาวเคราะห์ขนาดใหญ่กว่าโลก แต่เล็กกว่าดาวเนปจูน ทำให้สามารถสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ได้ง่ายกว่า ซึ่งอาจทำให้นักดาราศาสตร์หันมาให้ความสนใจกับการค้นหาสัญญาณสิ่งมีชีวิต ในดาวเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้มากขึ้น

โดยผลจากการวิจัยครั้งนี้ พบว่ามีแก๊สมีเทนและแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากในชั้นบรรยากาศ แต่ไม่พบแก๊สแอมโมเนีย ช่วยสนับสนุนสมมุติฐานว่าพื้นผิวดาวอาจมีมหาสมุทรที่เป็นน้ำ (H2O) และมีชั้นบรรยากาศเป็นแก๊สไฮโดรเจนปกคลุม ซึ่งเรียกดาวเคราะห์ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ว่า “Hycean Planet” (Hydrogen + Ocean) รวมถึงข้อมูลที่ได้จาก JWST ยังเผยว่า อาจจะมีโมเลกุลที่เรียกว่า ไดเมทิลซัลไฟด์ (DMS) ซึ่งโมเลกุลนี้พบได้ในชั้นบรรยากาศโลกเช่นกัน มาจากแพลงก์ตอนพืช (phytoplankton) ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทร

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่บ่งชี้ถึงโมเลกุล DMS ยังไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัด จำเป็นต้องรอผลสังเกตการณ์เพิ่มเติมจาก JWST เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถชี้ชัดถึงการมีอยู่ของ DMS ได้มากขึ้น รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ว่า ดาวเคราะห์ K2-18 b อาจมีสภาพมหาสมุทรที่ร้อนเกินไป และไม่สามารถมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ได้

--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ, NASA

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ กล้องฯ เจมส์ เว็บบ์เจมส์ เว็บบ์James WebbJames Webb Space Telescopeดาวเคราะห์ K2-18 bสำรวจอวกาศนาซาองค์การนาซาNASA
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด