"เหมา เจ๋อตง" มีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐประชาธิปไตยของจีนให้เข้าสู่ระบอบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ คือบุคคลสำคัญที่ทำให้ชีวิตชาวจีนเปลี่ยนไปตลอดกาล
"เติ้ง เสี่ยวผิง" ผู้นำจีนคนถัดมา ให้นิยามว่า
"เหมา เจ๋อตง" มีความดี 7 ส่วน และความชั่ว 3 ส่วน
เหมา เจ๋อตง ชายผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน คนนี้ เกิดวันที่ 26 ธันวาคม 1896 ในยุคที่สังคมศักดินาของจีนกำลังตกต่ำ เป็นลูกชายของ เหมา อี๋ชาง ชาวนาผู้มั่งคั่ง กับ เหวิน ซู่ฉิน ในวัยเด็ก “เด็กชายเหมา” เข้าโรงเรียนประถมเสาซาน ร่ำเรียนคำสอนหลักลัทธิขงจื๊อ ปลูกฝังความคิดตามจารีตโบราณ
หลังจบการศึกษาเขาได้เดินทางมายังกรุงปักกิ่ง แล้วทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ทำให้เขามีโอกาสอ่านหนังสือดี ๆ มากมาย และว่ากันว่าจากความรู้ตรงนี้นี่แหละ เป็นต้นทุนสำคัญทำให้เขาสามารถปฏิวัติได้สำเร็จ
ท่ามกลางจุดที่สำคัญ ๆ ในเชิงประวัติศาสตร์ ของจีนอีกด้านหนึ่ง ก็คงจะมองข้ามชีวิต ส่วนตัวของ เหมา เจ๋อตง ไปไม่ได้เช่นกัน เพราะว่าอาจจะมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสิน ใจในวินาที หรือว่าในช่วงเวลาที่สำคัญในเชิงประวัติศาสตร์ด้วย
เหมา เจ๋อตง มีความดี 7 ส่วน และความชั่ว 3 ส่วน นี่คือคำนิยามที่ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำจีนคนถัดจากเหมา เจ๋อตง ได้นิยามเอาไว้
อ่าน : ไทม์ไลน์ "ผู้นำจีน" นับตั้งแต่ปี 1949 เมื่อ "พรรคคอมมิวนิสต์จีน" เถลิงอำนาจ
เมื่ออายุ 14 ปีเหมาถูกลงถุง ชนให้แต่งงานกับ หลัว อีซิ่ว ภรรยาคนแรกที่อายุมากกว่า ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับเรื่องกิจการครอบครัว แต่เขาไม่เคยยอมรับการแต่งงานครั้งนี้ แม้ว่าจะเข้าพิธีแต่งงานร่วมกับภรรยาแล้วก็ตาม ด้วยวัยเยาว์ทำให้ไม่ประสากับชีวิตครอบครัว อีกทั้งต้องการก้าวสู่โลกกว้างมากกว่ามีชีวิตปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อยู่กับบ้านไปวัน ๆ
ต่อมาได้ย้ายมาเรียนในอำเภอฉางชา เรียนหนังสือในโรงเรียนตามหลักสูตรรัฐบาล เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาท เหมาสมัครเข้าเรียนวิทยาลัยครูหูหนาน ด้วยเป้าหมายว่าจะประกอบอาชีพครูระหว่างนั้นเหมาเข้ามาทำงานเป็นผู้ช่วยบรรณารักษ์ที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เขาเริ่มสนใจแนวคิดมาร์กซ์ (Marxist) จากที่นี่
ในปี 1920 ครูเหมา เจ๋อตง เป็นครูใหญ่โรงเรียนประถมและแต่งงานใหม่กับ หยาง ไค่ฮุ่ย ปีถัดมาเหมามีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์สาขาฉางซาและเป็นกรรมการพรรค ช่วงนั้น เลนิน ผู้นำของรัสเซียเป็นผู้ให้การสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ของจีน จึงขอให้ทั้งฝ่ายของพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋งร่วมมือกันสร้างชาติ
ขณะนั้น เจียง ไคเชก ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำฝ่ายขวากำจัดพวกฝ่ายซ้ายของพรรค จึงเกิดสงครามกลางเมืองหรือการต่อสู้ระหว่างพรรคก๊กมินตังและพรรคคอมมิวนิสต์จีนขึ้น
ความรักครั้งใหม่ของเหมาก็เบ่งบานอีกครั้งกับ เฮ่อ จื่อเจิน หญิงวัย 18 ปี แห่งกองทัพแดง แต่หลังจากนั้นไม่นาน หยาง ไค่ฮุ่ย ภรรยาคนที่ 2 ถูกพรรคก๊กมินตั๋งกำจัดในฐานะภรรยาของเหมา เจ๋อตง
ต่อมาในปี 1934 ฐานทัพของเหมาที่เจียงซีถูกพรรคก๊กมินตั๋งรุกราน เขาจึงออกเดินทัพทางไกล (Long March) เดินทางไปกว่า 25,000 ลี้ หรือ 10,000 กิโลเมตร พร้อมกับนายทหารเกือบแสนคนและผู้หญิง 30 คน เมื่อถึงเมืองส่านซี กลับมีผู้รอดชีวิตจากการเดินทางเพียง 8,000 คนเท่านั้น เฮ่อ จื่อเจิน ภรรยาคนที่ 3 และคุณแม่ลูก 6 ของเหมา บาดเจ็บจากการเดินทางครั้งนี้เช่นกัน เธอจึงเดินทางไปรักษาตัวและเรียนต่อที่รัสเซีย
หลัง เฮ่อ จื่อเจิน ภรรยาคนที่ 3 ไปรัสเซีย ต้นรักใหม่ของเหมาก็เบ่งบานอีกครั้งกับ เจียง ชิง นักแสดงสาวดาวรุ่ง ทั้งที่ยังไม่ได้หย่าขาดจากภรรยาเก่า โดยมีข้อตกลงว่า เจียง ชิง ต้องอยู่ในฐานะภรรยาลับและไม่ยุ่งเกี่ยวการเมืองเป็นเวลา 20 ปี
ในเรื่องการเมืองเหมาใช้วิธีกองโจรและวิธีป่าล้อมเมืองจัดการกับพรรคก๊กมินตั๋งได้สำเร็จ เจียง ไคเชก ต้องถอยร่นหนีไปอยู่เกาะฟอร์โมซา หรือ ไต้หวัน ในปัจจุบัน จากนั้นเหมาประกาศมติพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในปี 1945 เพื่อรวบอำนาจ
วันที่ 1 ตุลาคม 1949 ประวัติศาสตร์หน้าใหม่ถูกจารึกขึ้น เหมา เจ๋อตง ประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน และดำรงตำแหน่งประธานสาธารณรัฐฯ ทำให้เริ่มมีบทบาทระดับนานาชาติ ตั้งแต่การส่งกองทัพไปช่วยในสงครามเกาหลีและเริ่มต้นความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ เหมาออกแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก มุ่งหวังให้จีนเป็นประเทศเกษตรกรรมและริเริ่มโครงการ "ร้อยบุปผา" รวมปัญญาชนจีนมาช่วยออกความเห็นเกี่ยวกับการบริหารประเทศ แต่กลับได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการบริหารของตัวเอง เหมา จึงใช้โอกาสนี้ในการกำจัดผู้ที่เห็นต่าง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 2 ของเหมา ออกนโยบายการก้าวกระโดดไปข้างหน้า (Great Leap Forward) ให้ประชาชนทำนารวมและผลิตเหล็กกล้าแบบคอมมูน แต่ผลจากการโก่งตัวเลขผลผลิตทางบัญชีส่งผลให้จีนเข้าสู่ภาวะอดอยากอย่างรุนแรง มีการประมาณการผู้เสียชีวิต กว่า 10 ล้านคน จากเหตุการณ์ในครั้งนี้
ผลของความล้มเหลวนี้ ทำให้ในปี 1966 เหมาลุกขึ้นมาแก้เกมด้วยการปฏิวัติวัฒนธรรมเหล่ายุวชนแดง (Red Guards) ได้รับการสนับสนุนจากเหมาให้ลุกขึ้นมาทำลายความคิด วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมเก่า ๆ ทำลายสถานที่ทางแนวความคิดอย่าง สุสานของขงจื๊อ วัดว่าอาราม ก็ถูกทำลายและถูกประจานอย่างหนัก
วันที่ 16 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเปยของจีน ได้มีการจัดการ แข่งขันว่ายข้ามแม่น้ำแยงซี เหมา เจ๋อตง ในวัย 73 ปี ยังเข้าร่วมการแข่งขันด้วย ท่ามกลางข่าวลือว่าเหมาป่วยหนัก
หนังสือพิมพ์ทั้งในจีนและต่างประเทศต่างพาดหัวข่าวว่า เหมา เจ๋อตง ว่ายน้ำในแม่น้ำแยงซี 15 กิโลเมตร ภายในเวลา 65 นาที (เร็วกว่า เคเลบ เดรสเซล นักกีฬาโอลิมปิก ปี 2020 เจ้าของสถิติว่ายน้ำเร็วที่สุดในโลกกว่า 2 เท่า) การแข่งขันว่ายน้ำครั้งนี้ เหมาต้องการสื่อสารกับประชาคมโลกเห็นว่าเขายังแข็งแรงดี และเป็นสัญลักษณ์ว่า เขาจะต่อสู้กับทุกสิ่งไม่ว่าจะเป็นใครหน้าไหน
เวลาผ่านไปไม่นานเหมา เจ๋อตง ประกาศสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรม ในปี 1969 แต่ทุกอย่างกลับสิ้นสุดอย่างแท้จริงเมื่อเหมา เจ๋อตง ถึงแก่อสัญกรรม ด้วยโรค ALS โรคร้ายแรงที่ไม่มีทางรักษา เมื่อวันที่ 9 กันยายน 1976 ด้วยวัย 83 ปี
หลาย 10 ล้านชีวิตที่ล้มหายตายจากระหว่างการบริหารงานของ เหมา เจ๋อตง กลายเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง เติ้ง เสี่ยวผิง จึงบอกว่าเหมา เป็นผู้นำที่ดี 7 ส่วน และชั่ว 3 ส่วน
ก่อนวันชาติจีนของทุกปี จะพิธีเปลี่ยนรูปภาพของอดีตประธานาธิบดี เหมา เจ๋อตง ด้วยการยกภาพน้ำหนัก 1.5 ตัน ลงมา และเปลี่ยนภาพใหม่ที่สีสดงดงามกว่าไปแขวนไว้ที่เดิม ภาพของ เหมา เจ๋อตง จะมีสีที่สดใหม่เสมือนหนึ่งว่าเขายังอยู่กับประชาชนจีนในฐานะผู้ก่อตั้งและผู้เสียสละเพื่อประชาชนไปตลอดกาล