ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หุ่นยนต์สายมู (เตลู) ลงยันต์ ด้วย Cartesian Robot


Logo Thai PBS
แชร์

หุ่นยนต์สายมู (เตลู) ลงยันต์ ด้วย Cartesian Robot

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2548

หุ่นยนต์สายมู (เตลู) ลงยันต์ ด้วย Cartesian Robot
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อ “นวัตกรรม” ผสานกับ “ความเชื่อ” จนกลายมาเป็น "หุ่นยนต์สายมูเตลู" เขียนยันต์ด้วย Cartesian Robot ผลงานการออกแบบและพัฒนาโดยนักศึกษาชั้นปี 4 จาก FIBO

ในโลกที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างก้าวกระโดด การผสานนวัตกรรมเข้ากับวัฒนธรรมและความเชื่อดั้งเดิมอาจดูเหมือนเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก แต่ผลงานของนักศึกษาจากสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. กลับพิสูจน์ให้เห็นว่า “นวัตกรรม” กับ “ความเชื่อ” สามารถเดินไปด้วยกันได้อย่างกลมกลืน

ผลงาน “หุ่นยนต์ลงยันต์” ด้วย Cartesian Robot ออกแบบและพัฒนาโดย “ภัทรนรินทร์ มากรักษ์” และ “อัญชิสา พิริยะกฤต” นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มจธ. (FIBO) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากความเชื่อของคนไทยที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะ "ยันต์" ซึ่งมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งความศรัทธาและความคุ้มครอง

ในสังคมไทย ความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกมานาน เมื่อผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีหุ่นยนต์ จึงเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ หุ่นยนต์ที่สามารถเขียนเอกสารได้คงไม่ใช่เรื่องแปลกในปัจจุบัน แต่การพัฒนาให้เขียน "ยันต์" ได้อย่างแม่นยำและสวยงาม กลับเป็นเรื่องใหม่ที่สะท้อนถึงการประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อสืบสานความเชื่อของคนไทยได้เป็นอย่างดี

อัญชิสา อธิบายว่า หุ่นยนต์ตัวนี้ใช้ระบบการทำงานแบบ “Cartesian Robot” เป็นหุ่นยนต์ที่เคลื่อนที่ในระบบพิกัดฉาก (Cartesian coordinate system) โดยใช้การเคลื่อนที่แบบเป็นเส้นตรงในแนวแกน X, Y และ Z ซึ่งเหมือนกับแกนพิกัดที่ใช้กันในคณิตศาสตร์ หุ่นยนต์จะทำงานตามเส้นทางที่กำหนดไว้ในโปรแกรม โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกลายยันต์ที่ต้องการผ่านเว็บไซต์ที่ทีมผู้พัฒนาออกแบบขึ้นโดยเฉพาะ

“ภายในงานครบรอบ 30 ปี FIBO ได้มีการจัดแสดงหุ่นยนต์นี้ พร้อมกับตัวอย่างยันต์เอ็นเตอร์เทนหลายรูปแบบ เช่น ยันต์กันยุง ยันต์กันยุ่ง ยันต์กันเด้ง ยันต์กันดั้ม ยันต์กันง่วง เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นถึงความสร้างสรรค์ในการออกแบบและการใช้งาน” อัญชิสา กล่าว

ด้าน ภัทรนรินทร์ กล่าวเสริมว่า ไม่เพียงแค่ลวดลายยันต์ที่มีอยู่ในระบบเท่านั้น ผู้ใช้งานยังสามารถออกแบบลายเองและอัปโหลดขึ้นไปบนเว็บไซต์เพื่อให้หุ่นยนต์เขียนตามแบบที่ต้องการได้ โดยสามารถผลิตยันต์ขนาด A4 ได้อย่างต่อเนื่องโดยอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นต้นแบบที่ดีของระบบการผลิตขนาดย่อม

“ยันต์มงคลของจริงก็สามารถทำได้เช่นกัน ทำเพื่อความสวยงามและนำออกไปขายได้ เช่น ยันต์สเน่ห์เมตตา และยังสามารถดัดแปลงไปใช้บนแอปพลิเคชันอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การเขียนเอกสารครั้งละ 100-200 ใบ สามารถใช้หุ่นยนต์คาทีเซียนเขียนได้ โดยตั้งค่าโปรแกรมไว้แค่ครั้งแรกเท่านั้น” ภัทรนรินทร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

นอกจากนี้ หุ่นยนต์ยังสามารถประยุกต์ใช้กับงานศิลปะ งานออกแบบดีไซน์ต่าง ๆ บนผืนผ้าได้เช่นกัน

สำหรับการพัฒนาสู่อนาคต อัญชิสา และภัทรนรินทร์ กล่าวว่า ทีมพัฒนาวางแผนที่จะยกระดับให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้ต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น เช่น การวางกระดาษทีเดียว 10-20 แผ่น และให้หุ่นยนต์ทำงานเรียงลำดับได้โดยไม่ต้องหยุดพัก โดยใช้งบประมาณในการผลิตเครื่องต้นแบบอยู่ที่ หลักแสนต้น ๆ เท่านั้น ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับศักยภาพและแนวทางการประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย

“หุ่นยนต์ลงยันต์” จึงไม่ใช่แค่นวัตกรรมที่ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยเท่านั้น แต่ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างความศรัทธาแบบไทย ๆ กับโลกของวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์และทรงพลังอีกด้วย

STORY : Thai PBS Sci & Tech 
EDITOR : จิรภัทร สะแกขาว

อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech Technologyนวัตกรรมไทยสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนามหุ่นยนต์
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด