ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“สัญญาณชีพ” สัญญาณบ่งบอกการมีชีวิต


Thai PBS Care

4 เม.ย. 68

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

“สัญญาณชีพ” สัญญาณบ่งบอกการมีชีวิต

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2547

“สัญญาณชีพ” สัญญาณบ่งบอกการมีชีวิต
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่งผลให้อาคารของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้าง ถล่มลงมา เป็นที่มาของคำว่า สัญญาณชีพ หนึ่งในตัวแปรสำคัญในการค้นหาผู้ติดอยู่ในซากตึกครั้งนี้ 

สัญญาณชีพ กินความหมายว่าอย่างไร และในเหตุการณ์ปกติ สัญญาณชีพมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างไร Thai PBS มีเรื่องราวมาบอกกัน

ความหมายของ “สัญญาณชีพ” 

สัญญาณชีพ หรือ ชีวสัญญาณ (Vital Signs) เป็นอาการที่แสดงถึงสัญญาณของการมีชีวิตของมนุษย์ โดยสิ่งที่สะท้อนว่า ร่างกายยังคงดำเนินอยู่ มีด้วยกัน 4 ประการ ได้แก่

  1. อุณหภูมิร่างกาย (Body Temperature ย่อว่า T)
  2. ความดันโลหิต (Blood pressure ย่อว่า BP)
  3. อัตราการหายใจ (Respiratory rate ย่อว่า RR หรือ R)
  4. ชีพจร (อัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Pulse หรือ Pulse rate ย่อว่า P)

ในบางสถานการณ์ อาจมีค่าอื่น ๆ ที่นำมาประเมินร่วมกับสัญญาณชีพ หรือเรียกว่าเป็น "สัญญาณชีพที่ 5" หรือ "สัญญาณชีพที่ 6" เช่น ระดับความเจ็บปวด ระดับน้ำตาลในเลือด ความอิ่มตัวออกซิเจน เป็นต้น

“สัญญาชีพปกติ” ต้องเป็นอย่างไร ?

ในภาวะปกติ สัญญาณชีพอาจเปลี่ยนแปลงได้บ้างเล็กน้อย ส่วนลักษณะที่เรียกว่า สัญญาณชีพปกติ มีตัวชี้วัดกระบวนการในร่างกายได้ ดังนี้

  • อุณหภูมิ โดยปกติ อุณหภูมิร่างกายมนุษย์ คงที่อยู่ที่ 36-37 องศาเซลเซียส แต่หากสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียส ถือว่ามีไข้ต่ำ และหากสูงเกินไปกว่านั้น ถือว่าไม่ปลอดภัย ในทางกลับกัน หากร่างกายมีอุณหภูมิต่ำกว่า 34 – 35 องศาเซลเซียส ถือว่าผิดปกติเช่นกัน ส่งผลให้การไหลเวียนเลือดจะช้าลง เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้
  • ความดันโลหิต เกณฑ์ปกติ อยู่ที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท แต่หากแยกลงไปในระดับช่วงวัย 
    วัยทารก : ค่าความดันปกติ ไม่ควรเกิน 90/60 มิลลิเมตรปรอท
    เด็กเล็ก 3 – 6 ปี : ค่าความดันปกติ ไม่ควรเกิน 110/70 มิลลิเมตรปรอท
    เด็กโต 7 – 17 ปี : ค่าความดันปกติ ไม่ควรเกิน 120/80 มิลลิเมตรปรอท
    วัยทำงาน 18 ปีขึ้นไป : ค่าความดันปกติ ไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท
    ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป : ค่าความดันปกติ ไม่ควรเกิน 160/90 มิลลิเมตรปรอท
  • อัตราการหายใจ โดยปกติในผู้ใหญ่ อยู่ที่ 20-26 ครั้ง/นาที เด็กวัยรุ่น16–25 ครั้งต่อนาที เด็กแรกเกิด 30-50 ครั้ง/นาที กรณีของผู้ใหญ่ขณะออกกำลังกาย 35–45 ครั้งต่อนาที
  • ชีพจร ในผู้ใหญ่ อัตราปกติคือ 70-80 ครั้ง/นาที หากเกิน 100 ครั้ง/นาที หรือต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที ถือว่าผิดปกติ ส่วนในเด็ก 90-130 ครั้ง/นาที

ประโยชน์ของการวัด “สัญญาณชีพ”

โดยปกติ เวลาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือแม้แต่ที่คลินิก เรามักจะได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตลอดจนวัดความดันโลหิต พฤติกรรมเหล่านี้ คือการตรวจสัญญาณชีพเบื้องต้น เพื่อดูว่า มีค่าใดที่ต่ำหรือสูงกว่ามาตรฐานในร่างกายหรือไม่

การวัดค่าสัญญาณชีพ เพื่อตรวจดูการทำงานของร่างกาย ไม่เพียงแต่จะใช้หาความผิดปกติ หรือคัดกรองโรคเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของผู้ป่วยทั้งก่อนและหลังผ่าตัด หรือก่อนและหลังการได้รับยา เพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ หรือเป็นการติดตามผลการรักษาได้อีกทางหนึ่งด้วย  

รู้จัก “เครื่องวัดสัญญาณชีพ”

เครื่องวัดสัญญาณชีพ คือ เครื่องมือทางการแพทย์ใช้วัดสัญญาณชีพหรือติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย รวมถึงเป็นการส่งข้อมูลในระบบสารสนเทศของทางโรงพยาบาล เพื่อใช้เฝ้าระวังหรือติดตามอาการของผู้ป่วย 

เครื่องตรวจสัญญาณชีพโดยทั่วไป สามารภวัดค่าความดันโลหิตแบบภายนอก วัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ วัดอุณหภูมิของร่างกาย บางรุ่นสามารถวัดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ทั้งนี้เครื่องตรวจสัญญาณชีพ สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุ

เครื่องวัดสัญญาณชีพ

ประโยชน์ของเครื่องวัดสัญญาณชีพ ทำให้ทราบสัญญาณชีพของผู้ป่วย รวมทั้งทำให้ทราบสภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เพื่อนำไปสู่การรักษาที่ตรงจุด 

ในกรณีผู้ป่วยหมดสติ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด การใช้เครื่องตรวจสัญญาณชีพ ถือเป็นการช่วยในการเฝ้าระวัง หรือสังเกตระบบการทำงานของร่างกาย หากพบความผิดปกติ สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที

นอกจากนี้ เครื่องวัดสัญญาณชีพ แตกต่างจากเครื่องสแกนหาสัญญาณชีพ หรือที่เรียกว่า Life Locator โดยหน้าที่ของเครื่อง Life Locator ไว้เพื่อสแกนหาสิ่งมีชีวิต หรือค้นหาผู้รอดชีวิตในซากอาคารถล่ม หลักการทำงานคือ ใช้เรดาร์สแกนจับการเคลื่อนไหวในระยะ 30 เมตร หากตรวจพบการเคลื่อนไหวของร่างกาย อาทิ มีการเคลื่อนไหวบริเวณทรวงอก หรือปอดมีการขยับ เครื่องจะแสดงสัญลักษณ์ขึ้นที่หน้าจอทันที

ภาพจาก เฟซบุ๊ก ประชาสัมพันธ์จังหวัดนครราชสีมา

เครื่อง Life Locator เคยนำมาใช้ในเหตุการณ์อุโมงค์รถไฟความเร็วสูงถล่มที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2567 ก่อนจะถูกนำมาใช้อีกครั้งในเหตุการณ์อาคารก่อสร้างสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว (28 มี.ค.68)

487304884_1152802250228863_8030523306865915484_n.jpg

สัญญาณชีพมีความจำเป็น เป็นสัญลักษณ์ของความผิดปกติของร่างกาย โดยทุก ๆ กระบวนการที่ใช้ตรวจวัด ล้วนสะท้อนการ “มีชีวิต” ของมนุษย์ทั้งสิ้น…  

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สัญญาณชีพชีวสัญญาณVital Signsเครื่องวัดสัญญาณชีพแผ่นดินไหวตึกถล่ม
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด