ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เมื่อเราต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้ ที่จะปรับตัวกับผู้คนที่โลกไร้เสียง


Lifestyle

6 เม.ย. 68

บุรพัชร์ สุขเนียม

Logo Thai PBS
แชร์

เมื่อเราต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้ ที่จะปรับตัวกับผู้คนที่โลกไร้เสียง

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2540

เมื่อเราต้องเป็นฝ่ายเรียนรู้ ที่จะปรับตัวกับผู้คนที่โลกไร้เสียง
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

หลายครั้งเราได้ยินว่า ‘คนพิการ’ ต้องปรับตัวเข้ากับสังคม ทั้งในเรื่องของการใช้ชีวิต การถูกตีตรา หรือการถูกกลั่นแกล้ง เพียงเพราะเขาถูกมองว่า ‘แตกต่าง’ กระบวนการเหล่านี้ได้ผลักดันให้เขากลายเป็น ‘คนชายขอบ’ ในที่สุด 

แม้ปัจจุบันจะมีหน่วยงานเกี่ยวกับคนพิการ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาขับเคลื่อนและสนับสนุนสวัสดิภาพของคนพิการ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคุณภาพชีวิตของคนพิการก็ยังไม่ดีขึ้นตามสมควร ?

ตุ๊กตา บุษบา โพธิ์นิ่มแดง

‘ตุ๊กตา บุษบา โพธิ์นิ่มแดง’ หญิงสาวผู้เติบโตมากับโลกที่ไร้เสียง เพราะพ่อแม่ของเธอต่างเป็นคนหูหนวก ถึงแม้ว่าเธอจะไม่ใช่คนพิการและได้ยินปกติ แต่เธอก็ยังคงต่อสู้เคียงข้างกลุ่มคนหูหนวกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพื้นที่ ‘ชุมชนคนไร้เสียง’ ใต้สะพานริมถนนพระราม 9 “เพราะเธอเข้าใจและได้ยินสิ่งที่พวกเขาต้องการ’

จากข้อมูลกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) สามารถแบ่งประเภทความพิการได้ออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ พิการทางการเห็น พิการทางการได้ยิน/สื่อความหมาย พิการทางการเคลื่อนไหว/ทางร่างกาย พิการทางจิตใจ/พฤติกรรม พิการทางสติปัญญา ความพิการทางการเรียนรู้ และความพิการทางออทิสติก 

โดยที่ปัจจุบันคนพิการทางการได้ยิน/สื่อความหมาย (คนหูหนวก) มีจำนวน 418,612 คน คิดเป็น 19.14% ของจำนวนคนพิการทั้งหมด 

เมื่อโลกยังไม่เข้าใจคนพิการและคนหูหนวก

บางคนเรียกคนพิการอย่างสนุกปากหรือใช้คำที่ติดปากตามที่เข้าใจ อย่างเช่นคำว่า 

‘ผู้บกพร่อง’ ที่หมายถึง ‘คนพิการ’ 

‘คนใบ้’ ที่หมายถึง ‘คนหูหนวก’

คำเหลานี้คือคำที่ไม่สมควรใช้กับพวกเขา เราควรเรียกหรือใช้คำว่า ‘คนพิการ’ หรือ ‘คนหูหนวก’ จึงเหมาะสม อีกทั้งในกรณีของคำว่าว่า ‘ใบ้’ คำนี้หมายถึง คนที่ไม่สามารถสื่อสารได้ 

แต่คนหูหนวก พวกเขาสามารถสื่อสารและมีภาษาของตัวเองด้วยการใช้ ‘ภาษามือ’ หรือแม้แต่ในทางราชการ การที่บัญญัติศัพท์ว่า ‘พิการทางการได้ยิน’ มีที่มาจากภาษาอังกฤษอย่าง ‘hearing impairment’ คำนี้เป็นการมองผ่านเลนส์ของคนหูดีที่มองต่อคนหูหนวก เนื่องจากคำว่า impariment หมายถึง บกพร่อง เป็นการกดทับโลกของคนหูหนวกให้มีความน่าสงสาร 

ขณะเดียวกันอีกปัญหาที่คนหูหนวกต้องพบเจอคือ ‘การล้อเลียน’ เช่น การที่คนหูดีพูดคุยกับคนหูหนวก แต่ทำท่าว่า กำลังพูดอะไร ไม่ได้ยิน หลายคนมองว่าเป็นแค่การหยอกล้อ แต่นั่นหมายถึง ‘การลดทอนคุณค่าในความเป็นมนุษย์’ ของเขา 

เรายังมองว่าเขาต้องการสิทธิพิเศษ ?

คนพิการไม่เคยต้องการสิทธิพิเศษใด ๆ ที่เหนือกว่าคนทั่วไป เขาเพียงต้องการสวัสดิภาพในการใช้ชีวิต ที่สามารถ ‘พึ่งพาหรือช่วยเหลือตนเองได้’ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน ทั้งในเมืองหลวง หรือตามพื้นที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยยัง ‘ไม่ตอบโจทย์’ แก่คนพิการนัก

หลายครั้งคนพิการยังคงต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น การออกแบบเมือง อาคาร หรือขนส่งสาธารณะ จึงควรต้องยึกหลักการ ‘อารยสถาปัตย์ (Universal Design)’ หรือการออกแบบที่ส่งเสริมให้ทุกคนในสังคมใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย 

มาถึงจุดนี้เราอาจต้องถามกลับว่า “เราและสังคมของคนหูดี คนไม่พิการ ได้มีการปรับตัวแก่คนพิการและคนหูหนวกมากน้อยแค่ไหน” ทั้งในเรื่องของการเรียนรู้ที่จะเข้าหา การใช้คำพูด การปฏิบัติตน

หรือในระดับภาครัฐเอง เรียนรู้จะสนับสนุนคุณภาพชีวิตพวกเขามากน้อยแค่ไหน หรือมองคนพิการเป็นเพียงกลุ่มคนที่ต้องสงเคราะห์ มากกว่าสนับสนุนและพัฒนาให้พวกเขาใช้ชีวิตเองได้ ?

เพราะที่ผ่านมาคนพิการและคนหูหนวกปรับตัวและอดทนกับสังคมนี้มากพอแล้ว ถึงเวลาที่พวกเราควรจะปรับตัวเพื่อพวกเขา

รับชมเรื่องราว ‘ตุ๊กตา ชุมชนคนไร้เสียง’ (ในวันจันทร์ที่ 7 เมษายน 2568 เวลา 21.30 น.)  ที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ใครหลายคนได้เห็นคุณค่าของการมีชีวิต หรือได้มุมมองใหม่ ๆ และพร้อมมีวันนี้ดีที่สุดในรายการ “Made My Day วันนี้ดีที่สุด” ทางช่อง Thai PBS หมายเลข 3 หรือ รับชมออนไลน์ผ่านทาง www.thaipbs.or.th/Live และชมย้อนหลังได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/program/MadeMyDay 

อ้างอิง

แท็กที่เกี่ยวข้อง

รายการ Made My Day วันนี้ดีที่สุดรายการ Made My Dayคนพิการคนหูหนวกตุ๊กตา บุษบา โพธิ์นิ่มแดงชุมชนคนไร้เสียง
บุรพัชร์ สุขเนียม
ผู้เขียน: บุรพัชร์ สุขเนียม

Content Creator Online สำนักสร้างสรรค์เนื้อหา “เต็มที่ ปล่อยใจ ไปให้สุด” รักการเดินทาง คลั่งไคล้รถไฟ ฟีเวอร์ K-POP

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด