เทคโนโลยีสิ่งทออัจฉริยะกำลังก้าวข้ามขีดจำกัดเดิม ๆ ด้วยการผสานความสามารถของอุปกรณ์ Wearable เข้ากับเนื้อผ้าธรรมดา ทำให้เสื้อผ้าไม่เพียงสวมใส่ได้อย่างสบาย แต่ยังสามารถทำงานด้านดิจิทัลได้หลากหลาย
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม เทรนต์ (Nottingham Trent University) สหราชอาณาจักร ได้พัฒนาเทคโนโลยีสิ่งทออัจฉริยะที่สามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวของนิ้วมือโดยไม่ต้องสัมผัสโดยตรง นวัตกรรมนี้จะช่วยให้การใช้งานอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะสามารถตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทีมนักวิจัยได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัย Helmholtz-Zentrum Dresden-Rossendorf ประเทศเยอรมนี และมหาวิทยาลัยฟรี ยูนิเวอร์ซิตี้ ออฟ โบลซาโน (Free University of Bozen-Bolzano) ประเทศอิตาลี ในการพัฒนาระบบเซนเซอร์แม่เหล็กที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองไว สามารถฝังลงในเส้นด้ายที่ใช้ในกระบวนการผลิตสิ่งทอทั่วไปได้อย่างไร้รอยต่อ โดยเซนเซอร์เหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นปุ่มควบคุมแบบไม่ต้องสัมผัส ช่วยให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้โดยการเคลื่อนไหวนิ้วมือเหนือผิวผ้า
เทคโนโลยีนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในหลายด้าน เช่น การควบคุมอุณหภูมิหรือความปลอดภัยสำหรับเสื้อผ้าพิเศษ การเล่นเกม หรือแฟชั่นอัจฉริยะ โดยผู้ใช้สามารถใช้ท่าทางง่าย ๆ เพื่อควบคุมไฟ LED หรืออุปกรณ์ส่องสว่างอื่น ๆ ที่ฝังอยู่ในสิ่งทอ นอกจากนี้ เทคโนโลยียังสามารถทำงานใต้น้ำและทนต่อสภาพอากาศต่าง ๆ ทำให้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานในสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย
หนึ่งในความท้าทายของการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สวมใส่คือความทนทานและความสะดวกในการดูแลรักษา อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีสิ่งทออัจฉริยะนี้ถูกออกแบบมาให้สามารถซักด้วยเครื่องซักผ้าได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของเซนเซอร์ นอกจากนี้ การที่เซนเซอร์ถูกฝังอย่างไร้รอยต่อในเส้นด้าย ทำให้ไม่ส่งผลกระทบต่อความยืดหยุ่นและรูปลักษณ์ของผ้า
นักวิจัยได้สาธิตการใช้งานเทคโนโลยีนี้ในหลายรูปแบบ เช่น สายรัดแขนที่ช่วยในการนำทางในสภาพแวดล้อมเสมือนจริง และสายรัดนิรภัยสำหรับหมวกกันน็อกมอเตอร์ไซค์ การประยุกต์ใช้เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสิ่งทออัจฉริยะในการเพิ่มความสะดวกสบายและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: azosensors, newatlas, ntu, knittingindustry, techxplore
ที่มาภาพ: ntu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech