ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

วิธีจัดการ เศษปูน – ซากสิ่งก่อสร้างเสียหาย ทำอย่างไร ?


Insight

1 เม.ย. 68

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

วิธีจัดการ เศษปูน – ซากสิ่งก่อสร้างเสียหาย ทำอย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2536

วิธีจัดการ เศษปูน – ซากสิ่งก่อสร้างเสียหาย ทำอย่างไร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

หลังเหตุแผ่นดินไหว ส่งผลให้อาคาร สตง. ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมา การเร่งให้ความช่วยเหลือคือสิ่งสำคัญอันดับหนึ่ง แต่หลังจากเหตุการณ์ผ่านพ้น เศษปูน – ซากสิ่งก่อสร้างเสียหายมากมาย เราสามารถจัดการอย่างไรได้บ้าง ?

Thai PBS ชวนมองไปข้างหน้า หลังเหตุผ่านพ้น สืบสวนหาหลักฐานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสาเหตุการถล่มทั้งหมดแล้ว การจัดการเศษปูน ซากความเสียหายที่เหลือควรจัดการอย่างไร ? สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง ?

จัดการซากตึกถล่ม เน้นความปลอดภัยหลังเกิดเหตุ

การจัดการซากตึกถล่มหลังเกิดแผ่นดินไหว ยังคงต้องเน้นให้เกิดความปลอดภัยทั้งตัวต่อเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง โดยเฉพาะในระยะแรกหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น สำนักงานอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมีแนวทางหลัก ๆ 4 วิธีด้วยกัน

1. สำรวจและประเมินความเสี่ยง

สำรวจสภาพโครงสร้างอาคารที่เสียหายอย่างละเอียด เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงต่อการถล่มเพิ่มเติม และวางแผนการรื้อถอนอย่างเป็นระบบ
ตรวจสอบระบบสาธารณูปโภคที่อาจก่อให้เกิดอันตราย โดยเฉพาะการรั่วไหลของกระแสไฟฟ้าและก๊าซ ก่อนเข้าปฏิบัติงานในพื้นที่
ผู้ปฏิบัติงานสวมอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลให้ครบถ้วน 🦺 เช่น หน้ากากกันฝุ่น ถุงมือ และหมวกนิรภัย

2. คัดแยกประเภทขยะและซากปรักหักพัง

ขยะทั่วไป เช่น พลาสติก กระดาษ และวัสดุที่ไม่เป็นอันตราย สามารถนำไปรีไซเคิลหรือกำจัดตามกระบวนการปกติ
ขยะอันตราย เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ ภาชนะบรรจุสารเคมี ซากเครื่องใช้ไฟฟ้า ต้องจัดเก็บในภาชนะเฉพาะ
ซากวัสดุก่อสร้าง วัสดุประเภทอิฐ คอนกรีต และไม้ ควรแยกประเภทเพื่อความสะดวกในการขนย้าย
ขยะอินทรีย์ เช่น เศษอาหาร และวัสดุที่ย่อยสลายได้ ควรเร่งดำเนินการกำจัดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการเน่าเสียและลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคและป้องกันสัตว์พาหะนำโรค

3. การจัดการขยะอันตราย

เนื่องจากเป็นมูลฝอยที่มีความเสี่ยงสูง ควรคัดแยกเฉพาะและเก็บรวบรวมใส่ภาชนะที่มีความแข็งแรง ทนทาน ป้องกันการรั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด เพื่อป้องกันสัตว์และแมลงพาหะนำโรค
นำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานเอกชน เป็นต้น เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล ได้แก่
การเผาในเตาเผาที่มีการควบคุมอุณหภูมิเป็นไปตามมาตรฐาน และมีการควบคุมมลพิษที่เกิดจากการเผา
การฝังกลบอย่างปลอดภัย (Secured Landfill)

4. วิธีกำจัดซากอาคาร

ดำเนินการฝังกลบในพื้นที่ที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม
กรณีเลือกวิธีการเผาทำลาย ต้องดำเนินการในเตาเผาที่มีระบบควบคุมมลพิษอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของสารพิษสู่สิ่งแวดล้อม

หลังเหตุตึกถล่มทิ้งซากสิ่งก่อสร้างมากมายเอาไว้

“เศษปูน-ซากสิ่งก่อสร้าง” ใช้ประโยชน์ต้องจัดการอย่างไร ?

ในการจัดการเศษซากของตึกถล่มไม่ได้มีแนวทางการจัดการชัดเจนนัก แต่มีแนวทางปฏิบัติที่พอใช้เทียบเคียงได้คือแนวทางปฏิบัติในทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้างและรื้อถอน โดย กรมควบคุมมลพิษ ได้มีการศึกษาเพื่อสร้างแนวทางลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมีรายละเอียดระบุถึงการแยกประเภทของเสียต่าง ๆ การนำกลับมาใช้ใหม่รวมไปถึงการลงมือปฏิบัติ

ขณะที่มีการศึกษาจากประเทศตุรกี ที่เกิดแผ่นดินไหวพร้อมตึกถล่มครั้งใหญ่ในปี 2023 ซึ่งมีแนวทางที่คล้ายกัน ได้แก่ การลดปริมาณขยะ (Reduce) นำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) รีไซเคิล (Recycle) และซ่อมแซม (Recovery) ก่อนกำจัดทิ้ง (Disposal) โดยสรุปเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ให้เห็นภาพได้ดังนี้

ประเมินความเสี่ยงโดยผู้เชี่ยวชาญ คัดกรองเศษซากของเสีย

เพราะเศษซากต่าง ๆ ในการก่อสร้างอาจมีอันตราย จึงต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาคัดแยกเพื่อประเมินความเสี่ยง หรือแยกเอาสารเคมีรวมถึงซากที่มีความอันตรายออกไป และนำไปกำจัดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ในขั้นตอนนี้อาจมีการกรองตรวจสอบอีกครั้งในการขนส่งไปยังที่เก็บเพื่อให้แน่ใจว่าสารอันตรายถูกแยกออกไปแล้ว

แบ่งเศษซากตามจุดหมายหรือแนวทางการใช้ประโยชน์

ของเสียเศษซากต่าง ๆ จะถูกแบ่งประเภทตามจุดหมายหรือแนวทางการใช้ประโยชน์ ดังนี้

1. การใช้ซ้ำ นำมาใช้ใหม่ในบริเวณเดิมหรือนำไปใช้ในการก่อสร้างอื่น เช่น ผนังไม้ ประตู กระจก หรืองานสถาปัตยกรรมที่เป็นของมีค่าและไม่ได้รับความเสียหาย

2. การนำกลับมาใช้ใหม่ ของเสียต่าง ๆ ที่แยกออกมาเป็นส่วนต่าง ๆ แล้วนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างเพื่อใช้ในวัตถุประสงค์อื่นได้ หรือนำไปใช้เป็นวัสดุที่มีมูลค่าต่ำ ขึ้นอยู่กับระดับความเสียหาย เช่น แผ่นกระเบื้องหากไม่เสียหายมากจะนำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่หากเสียหายแต่มีมวลเพียงพอก็สามารถใช้สำหรับงานถม หรือมวลรวมไม่ผ่านจะใช้สำหรับงานปรับระดับพื้นที่เท่านั้น

3. การเผา แบ่งได้เป็นแบบเผาแล้วให้พลังงาน กับเผาเพื่อกำจัดที่ไม่ได้พลังงานคืน

4. การฝังกลบ แบ่งเป็นฝังรวมและฝังแยกกับประเภทของซากนั้น ๆ

การจัดการซากสิ่งก่อสร้างต้องทำอย่างปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง

วัสดุแต่ละอย่างนำกลับมาใช้ซ้ำอะไรได้บ้าง ?

ซากเศษขยะทั้งจากตึกถล่มรวมถึงการก่อสร้างรื้อถอนทำให้เกิดขยะเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เรียกกันว่าวัสดุเฉื่อย ได้แก่ คอนกรีน หิน อิฐ กระเบื้อง แต่ละอย่างสามารถนำไปทำอะไรได้บ้าง มาดูกัน

อิฐ บล็อกคอนกรีต กระเบื้องหลังคา
ใช้ซ้ำได้ ใช้แต่งสวน บดเพื่อใช้ทำวัสดุถมในชั้นรองพื้นถนน ใช้ปรับสภาพในชั้นพื้นถนนหรือใช้เป็นวัสดุปิดทัมในหลุมฝังกลม ใช้ถมที่

กระจกหน้าต่าง อุปกรณ์กระจกที่แตกหัก
หลอมทำแก้วใหม่ นำกลับมาใช้ใหม่โดยนำไปผสมร่วมกับยางมะตอยหรือเศษยาง

คานไม้ที่แตกหัก เศษกิ่งไม้
บดเป็นชิ้นเล็กเพื่อใช้แต่งสวน หมักทำปุ๋ย ทำเชื้อเพลิงได้

คานโลหะค้ำยัน เหล็กเส้น วัสดุโลหะ
หลอมทำโลหะใหม่

โรงงานรีโซเคิลส่วนใหญ่มีเครื่องมือพอเพียงสำหรับการคัดแยกวัสดุที่ปนเปื้อน เศษวัสดุเหล่านี้จะถูกนำเข้าเครื่องบดย่อยทำให้เกิดมวลรวมขึ้นตามด้วยกระบวนการร่อนแยกขนาดอีกหลายขั้นตอน ก่อนที่จะนำมาจัดการต่อไป
เศษซากหลังการสูญเสีย แม้ดูไร้ค่าแต่หากมีวิธีการจัดการที่ดีก็สามารถทำให้เกิดประโยชน์ต่อไปได้

⚠️ ติดตามสถานการณ์ #แผ่นดินไหว กับ #ThaiPBS ได้ที่ www.thaipbs.or.th/Earthquake

อ้างอิง

  • กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • แนวทางปฏิบัติในทางการจัดการของเสียจากการก่อสร้างและรื้อถอน โดย กรมควบคุมมลพิษ
  • Perspective towards Construction and Demolition Waste Management: Case Study on Kahramanmaraş Earthquake

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

แผ่นดินไหวตึกถล่มตึก สตง.ก่อสร้างอาคารโครงสร้างอาคารขยะรีไซเคิล
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด