ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก “โรคเบาหวาน” เหตุใด ? จึงต้องตัดขา


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “โรคเบาหวาน” เหตุใด ? จึงต้องตัดขา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2535

รู้จัก “โรคเบาหวาน” เหตุใด ? จึงต้องตัดขา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“โรคเบาหวาน” (Diabetes Mellitus) เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อ (Non-communicable Diseases) ที่คนไทยเป็นกันเยอะที่สุด และถือเป็นหนึ่งในปัญหาทางด้านการสาธารณสุขของประเทศไทย (Burden of Disease) เนื่องจากไม่ร้ายแรงต่อชีวิตในทันที แต่เป็นโรคเรื้อรังและหากไม่รักษาอย่างถูกต้อง อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาว และการเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ในภายหลังได้

ในโรคเบาหวานชนิดที่ 1 นั้น ระบบภูมิคุ้มกันอาจเป็นต้นเหตุ จากการทำลาย Beta Cells ในตับอ่อนซึ่งมีหน้าที่ผลิต Insulin

สาเหตุเบื้องหลังของการเกิดโรคเบาหวาน คือ น้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ (Hyperglycemia) อันเกิดจากความผิดปกติในการควบคุมปริมาณของน้ำตาลในเลือด แบ่งชนิดของโรคได้สองชนิดหลัก ๆ คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 Diabetes Mellitus) และ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 Diabetes Mellitus)

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 นั้นถือเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันเนื่องจากมักเป็นมาแต่กำเนิดหรือเมื่ออายุยังน้อย เนื่องจากเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกายทำลายบีตาเซลล์ (Beta Cells) ในตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่สังเคราะห์ฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) เพื่อกระตุ้นการดูดซึมน้ำตาลในเลือดเข้าสู่เซลล์สำหรับการเผาผลาญ หากอินซูลินไม่เพียงพอ ร่างกายจะไม่สามารถดึงน้ำตาลจากเลือดมาใช้งานได้ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ในขณะเดียวกันเซลล์ร่างกายก็จะขาดพลังงาน ทำให้ต้องสังเคราะห์แหล่งพลังงานอื่นมาใช้แทนในปริมาณมาก เช่น คีโตน (Ketones) ซึ่งเป็นกรด จึงทำให้เลือดภาวะเลือดเป็นกรดโดยคีโตนจากเบาหวาน (Diabetic Ketoacidosis หรือ DKA) ซึ่งอันตรายถึงชีวิต สังเกตได้จากอาการเวียนหัว อาเจียน หมดสติ หายใจ

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรครักษาไม่หายขาด และผู้ป่วยจำเป็นต้องฉีดอินซูลินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดร่วมกับการวัดระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากความผิดปกติในการผลิต Insulin จากเซลล์ในตับอ่อน หรือการตอบสนองต่อ Insulin ที่ผิดปกติ

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นโรคที่มักเกิดขึ้นผู้ใหญ่ มักเกิดจากสาเหตุด้านวิถีชีวิต เช่น อาหารการกิน การออกกำลังกาย และความเสี่ยงทางพันธุกรรม เบาหวานชนิดนี้ ร่างกายของผู้ป่วยสามารถผลิตอินซูลินได้ตามปกติ แต่ร่างกายกลับไม่ตอบสนองต่อปริมาณของน้ำตาล จึงทำให้หลั่งอินซูลินไม่เพียงพอ หรือดื้อต่ออินซูลินจนเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายในทันที แต่เป็นความเสียหายต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น ความเสียหายต่อระบบไต (Diabetic Nephropathy) และความเสียหายต่อปลายเส้นประสาทต่าง ๆ (Diabetic Neuropathy) เป็นต้น

กราฟแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานของเซลล์ในตับอ่อนและการตอบสนองต่อ Insulin โดย C คือผู้ที่เป็นเบาหวาน

ความเสียหายต่อปลายเส้นประสาทนี้เองทำให้ผู้ป่วยจะค่อย ๆ สูญเสียความรู้สึก (Proprioception) ที่บริเวณปลายเส้นประสาทส่วนที่อยู่ไกลจากแกนกลางร่างกาย เช่น บริเวณขา ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการรับรู้ถึงความเจ็บ ซึ่งมักจะนำไปสู่การบาดเจ็บที่บริเวณขาโดยไม่รู้ตัว เช่น ใส่รองเท้าที่แน่นเกินจนกดทับเส้นประสาท (Nerve Compression) รวมถึงการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณขาเนื่องจากการไหลเวียนของเลือดที่ไม่ดี เป็นเหตุให้เกิดเนื้อเยื่อตาย (Gangrene) และนำไปสู่การตัดขาเพื่อรักษาชีวิตในที่สุด

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถรักษาให้หายได้ แต่ค่อนข้างกินเวลานานและอาศัยความร่วมมือของผู้ป่วยในการรักษา วิธีรักษาที่ได้ผลที่สุด คือ การเปลี่ยนวิถีชีวิต ลดการบริโภคน้ำตาล ควบคุมระดับของน้ำตาลในเลือด ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

บริเวณปลายประสาทเช่น แขนและขา เป็นบริเวณที่มักจะได้รับผลกระทบจากเบาหวาน ซึ่งทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี และนำไปสู่การตายของเส้นประสาท และการอักเสบหรือติดเชื้อในที่สุดจากการสูญเสียความรู้สึก

หากไม่สามารถรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ แพทย์จึงอาจจะให้ใช้ยาหรือผ่าตัด เช่น การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก (Bariatric Surgery) ซึ่งถึงแม้จะช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักได้ แต่ก็ตามมาด้วยความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดอีกมากมาย ขณะเดียวกัน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาเพื่อควบคุมอาการต่าง ๆ จากโรคเบาหวาน เช่น อาการความดันสูง

ทั้งนี้การรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ดีที่สุดคือการป้องกัน โดยการหมั่นรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม และตรวจสุขภาพเป็นประจำเพื่อเฝ้าระวังการเกิดโรคเบาหวานและรักษาให้เร็วที่สุด

เรียบเรียงโดย 
โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
Department of Biomedical Sciences
College of Biomedicine
City University of Hong Kong


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

โรคเบาหวานเบาหวานผู้ป่วยเบาหวานโรคเบาหวานชนิดที่ 2Diabetes Mellitusโรคไม่ติดต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังNCDsน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติน้ำตาลในเลือดสูงน้ำตาลในเลือดวิทย์น่ารู้วิทยาศาสตร์น่ารู้วิทยาศาสตร์Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด