ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ESA เผยแคตตาล็อก 380,000 กาแล็กซีจากกล้องโทรทรรศน์ยูคลิด


Logo Thai PBS
แชร์

ESA เผยแคตตาล็อก 380,000 กาแล็กซีจากกล้องโทรทรรศน์ยูคลิด

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2528

ESA เผยแคตตาล็อก 380,000 กาแล็กซีจากกล้องโทรทรรศน์ยูคลิด
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในวันที่ 19 มีนาคม 2025 ESA ได้ปล่อยข้อมูลชุดแรกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิดออกมาอย่างเป็นทางการผ่านแคตตาล็อกที่มีกาแล็กซีมากกว่า 380,000 แห่ง และค้นพบเครือข่ายใยจักรวาลอีกหลายร้อยแห่งที่จะทำให้ไขคำตอบของปริศนาสสารมืดและพลังงานมืดที่ขับเคลื่อนเอกภพ

ข้อมูลที่ปล่อยออกมานี้ครอบคลุมพื้นที่ฟ้า 63 ตารางองศา หรือเทียบเท่าพื้นที่ปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงบนท้องฟ้ามากกว่า 300 ดวง และสิ่งนี้ไม่เพียงแต่เผยภาพของกาแล็กซีในรูปทรงต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง กระจุกดาราจักร ควาซาร์สว่างไกล และปรากฏการณ์ชั่วคราว ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงเลนส์ความโน้มถ่วง (Gravitational Lensing) ที่ทำให้แสงจากกาแล็กซีพื้นหลังโค้งงอเพราะมวลมหาศาลของดาราจักรเบื้องหน้า

ภาพถ่าย Deep Field บริเวณท้องฟ้าใต้ ซึ่งในภาพนั้นมีกาแล็กซีอยู่รวมกันประมาณ 11 ล้านแห่ง ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสายธารจักรวาลจากห้วงบรรพกาล

ด้วยศักยภาพของกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิดทำให้แค่การสแกนเพียงครั้งเดียวในเวลาไม่ถึงสัปดาห์ ก็สามารถจับภาพกาแล็กซีได้มากถึง 26 ล้านแห่งจากสามบริเวณบนท้องฟ้าที่เป็นจุดถ่ายแบบ Deep Field ถือเป็นภารกิจหลักในระยะยาวของกล้อง ซึ่งถึงแม้ตอนนี้จะยังเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น แต่ศักยภาพที่ยูคลิดแสดงให้เห็น มันคือหนึ่งในสุดยอดกล้องโทรทรรศน์อวกาศตามที่มันได้ถูกออกแบบไว้

ด้วยศักยภาพที่มหัศจรรย์ของกล้องยูคลิดทำให้มันสร้างข้อมูลภาพถ่ายมากถึงวันละ 100 กิกะไบต์ (Gigabyte) ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดเป็นความท้าทายในด้านของวิศวกรรมการจัดการบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ ทีมวิจัยจึงได้เลือกใช้ AI เข้ามาช่วยในการจัดการข้อมูลที่ได้จากกล้องยูคลิด และได้อาสาสมัครจากทั่วโลกเพื่อมาสอน AI ให้เข้าใจรูปทรงของกาแล็กซี

ภาพแคตตาล็อกกาแล็กซีรูปร่างต่าง ๆ  จากแคตตาล็อกของกล้องยูคลิด

แคตตาล็อกกาแล็กซี 380,000 แห่งคือตัวอย่างความสำเร็จของการจัดการในครั้งนี้ กาแล็กซีในแคตตาล็อกได้มีการจัดจำแนกตามลักษณะ เช่น แขนเกลียว (Spiral Arms) แกนกลาง (Bars) หรือร่องรอยการชนกัน (Tidal Tails) โดยใช้ระบบ AI ชื่อ Zoobot ซึ่งได้รับการฝึกจากอาสาสมัครกว่า 9,976 คน ผ่านโครงการ Galaxy Zoo ภายในเวลาเพียงหนึ่งเดือน

ไมก์ วอล์มส์ลีย์ (Mike Walmsley) นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) กล่าวไว้ว่า “AI ไม่ได้มาแทนมนุษย์ แต่มันเรียนรู้จากมนุษย์ และช่วยให้เราทำวิทยาศาสตร์ที่เคยใช้เวลาหลายปี ได้ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์”

และที่น่าตื่นเต้นยิ่งกว่าคือ แคตาล็อกที่เผยแพร่ออกมานี้เป็นเพียง 0.4% ของจำนวนกาแล็กซีทั้งหมดที่ยูคลิดคาดว่าจะจับภาพได้ตลอดระยะเวลา 6 ปีของภารกิจ ซึ่งมีเป้าหมายอยู่ที่ 1,500 ล้านกาแล็กซี ครอบคลุมทั้งท้องฟ้า

ภาพถ่ายเนบิวลาตาแมว (Cat’s Eye Nebula) ที่อยู่ห่างจากโลกไป 3,000 ปีแสงที่ถูกถ่ายโดยกล้องยูคลิด

แผนต่อจากนี้ของยูคลิดจะเป็นการทำแผนที่ทั่วฟ้าในระดับความละเอียดสูงถึง 14,000 ตารางองศา หรือประมาณ 1 ใน 3 ของท้องฟ้าทั้งหมด และจะกลับไปถ่ายซ้ำบริเวณ Deep Field 3 จุด ได้แก่ Deep Field North, Deep Field Fornax และ Deep Field South ซ้ำแบบนี้อีก 30-52 ครั้งตลอดการทำงานของยูคลิดเพื่อจับภาพการเปลี่ยนแปลงของเลนส์ความโน้มถ่วงอย่างอ่อน หรือ Weak Lensing ซึ่งตรวจไม่เห็นด้วยตา ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนในบริเวณนั้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจากยูคลิดจะยังคงทยอยปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลหลักเชิงจักรวาลวิทยาชุดแรกมีกำหนดปล่อยในเดือนตุลาคม 2026 และเราจะได้เห็น Deep Field ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนอีกหลายสิบรอบตลอดอายุการใช้งานของกล้องตัวนี้

ในภาพรวมกล้องโทรทรรศน์ยูคลิดนั้นไม่ได้แค่มองหาแสงของกาแล็กซี แต่กำลังมองหาเงาของสิ่งที่เรามองไม่เห็น นั่นคือสสารมืด พลังงานมืด และโครงสร้างที่ซ่อนอยู่ในจักรวาล เพื่อไขความลับของปริศนาจักรวาลถึงการกำเนิด การขยายตัว และการคงตัวอยู่ของจักรวาลที่เรารู้จักและอยู่อาศัยภายในนั้น

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : esa, spaceth

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ESAยูคลิดกล้องฯ ยูคลิดกล้องยูคลิดกล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิดกล้องโทรทรรศน์ยูคลิดกล้องโทรทรรศน์อวกาศองค์การอวกาศยุโรปสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด