ฝุ่น PM 2.5 กลับมาสร้างผลกระทบให้คนไทยอีกแล้ว เราจึงขอนำอันตรายของฝุ่นพิษมาเน้นย้ำให้เห็นถึงความรุนแรง เพื่อป้องกันตัวเอง - คนที่รัก รวมถึงร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังเพื่อให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
เรื่องนี้ ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้ความรู้ว่า การเพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 มคก./ลบ.ม. ฝุ่น PM 2.5 สามารถนำไปสู่โรคหลอดเลือดแดงแข็ง - โรคหัวใจวาย กลุ่มเปราะบางอันตรายมาก ผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi Kotchawat ด้วย 4 ข้อดังนี้
1. การศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารของสมาคมการแพทย์อเมริกัน (the Journal of the American Medical Association) ระบุว่าการสัมผัสกับฝุ่น PM 2.5 เป็นเวลานานอาจทำให้เกิดคราบพลัค (Plaque) สะสมในหลอดเลือดแดง ทำให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือดและหลอดเลือดแดงแข็งขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่อาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
2. การศึกษานี้ได้ติดตามผู้เข้าร่วมวิจัย 6,795 คนใน 6 เมืองของสหรัฐอเมริกา อายุระหว่าง 45-84 ปี โดยผู้เข้าร่วมวิจัยทั้งหมดไม่มีประวัติโรคหัวใจและหลอดเลือดมาก่อน ผู้เข้าร่วมมี 4 เชื้อชาติและมีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่หลากหลาย นักวิจัยได้ทำการตรวจหลอดเลือดแดงของผู้เข้าร่วมเป็นเวลา 10 ปีและได้ตรวจวัดความเข้มข้นของ ฝุ่น PM 2.5 และก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ริมถนนนอกบ้านของผู้เข้าร่วม รวมทั้งตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษดังกล่าวในช่วงเวลาที่อยู่ภายในอาคารด้วย
3. การศึกษาพบว่า PM 2.5 และ NOx มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับการสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจซึ่งเร่งให้เกิดหลอดเลือดแข็งในกรณีนี้ ดร. Joel Kaufman ผู้วิจัยอธิบายว่ามลพิษทางอากาศดังกล่าวอาจไปกระตุ้นให้เซลล์ต่าง ๆ ในร่างกายเกิดอาการอักเสบ ซึ่งส่งผลให้เซลล์เม็ดเลือดขาวที่ช่วยปกป้องร่างกายจากโรคติดเชื้อจะเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำลายอนุภาคฝุ่นPM 2.5 เกิดการสร้างคราบพลัค (ฝุ่นทำปฏิกริยากับเม็ดเลือดขาว) ลักษณะคล้ายแคลเซียมสะสมในหลอดเลือดแดง ทำให้เลือดแดงที่มีก๊าซออกซิเจนอยู่สูงไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ ส่งผลให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น อาการหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง หรือเสียชีวิต
จากการวิจัยพบว่าฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 5 μg/m³ หรือ ก๊าซNOx ที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ 40 ppb การสะสมแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20%
4. องค์การอนามัยโลก (the World Health Organization) เสนอแนะให้ กำหนดค่าฝุ่น PM 2.5 ต้องมีค่าไม่เกิน 25 μg/m³ (เฉลี่ย 24 ชม.) จึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัย
ทริกดูแลตัวเองยังไงในช่วงที่อากาศหนาแน่นด้วย ฝุ่น PM 2.5
การดูแลตัวเองสามารถทำได้ ดังนี้ สวมหน้ากากอนามัย พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำให้มาก ๆ รับประทานผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ หลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง หากเป็นวันที่ค่าของฝุ่น pm 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ให้พิจารณามาออกกำลังกายภายในอาคารแทน ปิดประตูหน้าต่างให้สนิทป้องกันการเล็ดลอดของฝุ่นเข้ามาในอาคาร ในผู้ป่วยกลุ่มโรคภูมิแพ้โพรงจมูกอักเสบ และหอบหืด ควรใช้ยาสูดทางปาก และยาพ่นจมูกต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ พิจารณาการล้างจมูกอาจช่วยลดทั้งฝุ่น PM 2.5 ในทางเดินหายใจส่วนบน และสารก่อภูมิแพ้ได้ มีอุปกรณ์ลดฝุ่นหรือเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน
ไม่ตากผ้าในที่โล่งแจ้ง PM 2.5 เพราะฝุ่นจิ๋วที่สามารถเกาะติดเสื้อผ้าเราได้ และการตากเสื้อผ้าในที่โล่งแจ้งก็จะนำฝุ่นเข้ามาหาเรามากยิ่งขึ้น ควรตากผ้าในที่ที่มีหลังคา ในอาคาร หรือใช้เครื่องอบผ้าก็ยิ่งดี
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เตาฝืน จุดธูปเทียน เนื่องจากฝุ่นละออง สารตะกั่ว ก๊าซพิษต่าง ๆ จากการเผาไหม้ เหล่านี้ระดับมลพิษในอากาศเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากการดูแล - ป้องกันตัวเองแล้ว Thai PBS Sci & Tech ขอพาไปดู การแก้ไขฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของทางภาครัฐ ซึ่งรวบรวมข้อมูลโดย Policy Watch จับตาอนาคต ประเทศไทย ของทางไทยพีบีเอส ได้ที่ policywatch.thaipbs.or.th/policy/environment-1
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ดร.สนธิ คชวัฒน์, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลสมิติเวช
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech