ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จับตาธุรกิจ "โรงเรียนนานาชาติ" โตสวนกระแส

เศรษฐกิจ
15 ก.พ. 68
18:33
142
Logo Thai PBS
จับตาธุรกิจ "โรงเรียนนานาชาติ" โตสวนกระแส
ปัจจุบันธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในไทย โตสวนทางกับจำนวนโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรไทย ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง และยังโตสวนทางกับจำนวนเด็กเกิดใหม่ และที่แปลกไปกว่านั้น คือ สวนทางเศรษฐกิจไทย ที่ยังเติบโตในระดับต่ำกว่าศักยภาพ

ข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้ให้เห็นว่า จำนวนโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรไทย มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนนักเรียนไทยที่ลดลง ทำให้ระหว่างปีการศึกษา 2555-2567 เกิดการทยอยปิดตัวของโรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทย ไปมากกว่า 2,000 แห่ง จากโรงเรียนประมาณ 35,000 แห่ง เหลือ 33,000 แห่ง

ในทางกลับกัน โรงเรียนนานาชาติกลับเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี จาก 138 แห่งเป็น 249 แห่ง เฉพาะปีการศึกษา 2567 ปีเดียว จำนวนโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกิจการโรงเรียน สู่หลักสูตรต่างประเทศมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของโรงเรียนนานาชาติเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ นักเรียนต่างชาติที่เข้ามาเรียนในประเทศไทยมากขึ้น ตามจำนวนชาวต่างชาติ ในตำแหน่งผู้บริหาร ที่เข้ามาทำงานในไทย ที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึงคนไทยเองก็นิยมส่งลูกหลานเรียนโรงเรียนนานาชาติมากขึ้น

ในปีการศึกษา 2567 นักเรียนไทยในโรงเรียนไทยอยู่ที่ 8.8 ล้านคน ลดลงจากปีก่อนหน้าที่ 8.9 ล้านคน แต่นักเรียนไทยในโรงเรียนนานาชาติ เพิ่มขึ้นจาก 70,000 คน เป็น 77,000 คน งานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากในกรุงเทพฯโรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวออกสู่หัวเมืองต่างจังหวัดมากขึ้น

จากการแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพที่จำกัด ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ สำรวจตลาดใหม่ ๆ ในหัวเมืองหลัก อย่างเช่น จ.เชียงใหม่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง และ จ.ภูเก็ต ซึ่งล้วนแต่เป็นจุดที่มีต่างชาติเข้ามาทำงาน ท่องเที่ยวและอยู่อาศัย

ธุรกิจดังกล่าวมีผู้สนใจค่อนข้างมาก เพราะได้รับการยกเว้นด้านภาษี ซึ่งกรมสรรพากรระบุว่า กำลังติดตามการเติบโตของธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อทบทวนระเบียบการยกเว้นภาษี แต่ยอมรับว่า เป็นไปได้ยากเพราะอาจถูกตั้งคำถามเรื่องความเหลื่อมล้ำ

เพชรชุดา เกษประยูร ประธานบริหารโรงเรียนสองภาษา ยอมรับว่า ปัจจุบันโรงเรียนไทยเผชิญกับความท้าทาย และต้องพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ความต้องการของนักเรียนมากที่สุด เนื่องจากมีผู้ประกอบการหลากหลายธุรกิจที่ขยายการลงทุนเข้าสู่ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมากขึ้นทั้งกลุ่มธุรกิจไทย และทุนต่างชาติ

นางเพชรชุดา เกษประยูร ประธานบริหารโรงเรียนอำนวยศิลป์

นางเพชรชุดา เกษประยูร ประธานบริหารโรงเรียนอำนวยศิลป์

นางเพชรชุดา เกษประยูร ประธานบริหารโรงเรียนอำนวยศิลป์

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หมายถึงทางเลือกสำหรับนักเรียน ผู้ปกครอง ที่มากขึ้นด้วย และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้ศึกษาต่อทั้งในไทยและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้มีหลายโรงเรียนเปิดใหม่ ที่กำลังรับสมัครนักเรียนในปีการศึกษา 2568 โดยชี้ว่า นักเรียนไทยมีจำนวนน้อยลงจริง แต่ความต้องการโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้น ทั้งคนไทยที่อยากให้ลูกได้เรียนภาษา และชาวต่างชาติที่เข้ามาเรียนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะชาวจีน

นั่นทำให้เกิดโรงเรียนที่มีหลักสูตรภาษาจีนมากขึ้น โดยต้นปีที่ผ่านมา มีการเปิดโรงเรียนสามภาษา ไทย-อังกฤษ-จีน โดยกลุ่มบริษัทจื้อ-เล่อ ซึ่งเล็งเห็นว่าความต้องการเรียนภาษาจีนในไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังตั้งเป้าที่จะขยายโรงเรียนให้ได้ 5-7 แคมปัส ภายใน 10 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการว่าในปี 2567 มูลค่าตลาดโรงเรียนนานาชาติในไทยอยู่ที่ 87,000 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 13 และยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยยังมีโรงเรียนที่อยู่ระหว่างการขออนุญาตเปิดเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก

ผู้บริหารโรงเรียนนานาชาติส่วนหนึ่งมองว่า ในอนาคตอันใกล้ น่าจะเห็นการเปิดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นอีกมาก ทั้งในรูปแบบการเปิดกิจการใหม่ หรือ มาในรูปแบบทุนจีน ที่พยายามเจรจาเข้าซื้อกิจการ โรงเรียนไทยที่เริ่มไปต่อไม่ไหว โดยสวมรอยนอมินี ไม่ต่างจากธุรกิจอื่นที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ 

อ่านข่าวอื่น :

ได้ข้อสรุป! เมียนมาเตรียมส่งเหยื่อค้ามนุษย์ให้ไทย 500 คน/วัน

ตร.ไซเบอร์ยันคลิปหลุด วันนอร์-สุชาติ ถูกตัดต่อ เร่งเอาผิดบัญชีอวตาร

ข่าวที่เกี่ยวข้อง