ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ยานจูโนพบการปะทุครั้งใหญ่สุดบน "ดวงจันทร์ไอโอ" ของดาวพฤหัสบดี


Logo Thai PBS
แชร์

ยานจูโนพบการปะทุครั้งใหญ่สุดบน "ดวงจันทร์ไอโอ" ของดาวพฤหัสบดี

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2310

ยานจูโนพบการปะทุครั้งใหญ่สุดบน "ดวงจันทร์ไอโอ" ของดาวพฤหัสบดี
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

จากภารกิจการบินโฉบดวงจันทร์ไอโอครั้งล่าสุดของยานจูโนทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องประหลาดใจเมื่อพวกเขาพบกับการปะทุที่รุนแรงและใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ซึ่งได้คาดการณ์กันว่าพลังงานที่ปลดปล่อยออกมานั้นมากกว่าพลังงานที่มนุษย์ผลิตได้ถึง 6 เท่า

แม้เราจะรู้กันดีว่าดวงจันทร์ไอโอเป็นเทหวัตถุที่มีกิจกรรมทางธรณีสูงที่สุดในระบบสุริยะของเรา แต่ว่าจากภารกิจการบินโฉบดวงจันทร์ไอโอโดยยานจูโนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2024 ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตะลึง เมื่อพวกเขาได้พบกับจุดความร้อนภายในพื้นผิวที่ใหญ่ที่สุดที่เคยในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

ภาพเปรียบเทียบจุดความร้อนที่เกิดจากแมกมาและลาวาบนดวงจันทร์ไอโอ จะเห็นได้ว่าจุดที่ร้อนนี้มีขนาดที่ใหญ่กว่าจุดอื่น ๆ ทั่วไปมาก

ยานจูโนสามารถตรวจจับจุดความร้อนนี้ได้อันเนื่องมาจากการบินโฉบของตัวยานในครั้งนี้อยู่ในจังหวะที่สังเกตการณ์เห็นซีกใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งขนาดของจุดความร้อนแห่งนี้มีขนาดใหญ่กว่าทะเลสาบสุพีเรีย (Lake Superior) ทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งมีพื้นที่ 82,103 ตารางกิโลเมตร คณะนักวิทยาศาสตร์ประเมินว่าจุดความร้อนแห่งนี้มีขนาดที่ใหญ่ถึง 100,000 ตารางกิโลเมตร ใหญ่กว่าจุดร้อนที่ใหญ่ที่สุดจุดเดิมอย่างโลกิแพเทรา (Loki Patera) ที่มีขนาดเพียง 20,000 ตารางกิโลเมตร

นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าที่จุดความร้อนแห่งนี้มีขนาดใหญ่โตขนาดนี้ อาจบ่งชี้ว่ามันอาจจะไม่ได้เกิดจากแหล่งความร้อนเพียงแหล่งเดียว แต่อาจจะเกิดจากจุดความร้อนหลายจุดที่อยู่ใกล้กันเกิดการปะทุพร้อมกันทำให้เกิดแอ่งลาวาขนาดยักษ์ขึ้นมา ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงเครือข่ายแมกมาขนาดใหญ่ใต้พื้นผิวในบริเวณนั้น

ภาพถ่ายเปรียบเทียบจุดที่เกิดการปะทุขึ้นและถ่ายไว้เมื่อการบินโฉบครั้งล่าสุดเทียบกับการบินโฉบสองครั้งก่อนหน้า จะเห็นได้จากจุดสีดำที่เปลี่ยนแปลงไป ณ จุดที่ลูกศรชี้ไว้

ข้อมูลจากกล้อง JIRAM กล้องรังสีอินฟราเรดของยานจูโน พบว่าพลังงานความร้อนจากการปะทุขณะที่ยานจูโนบินผ่านนั้นอาจจะมากถึง 80 เทราวัตต์ ซึ่งมากกว่ากำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดบนโลกรวมกันถึง 6 เท่า

นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวบริเวณจุดความร้อนจากที่ได้จากการบินโฉบผ่านเมื่อทั้งสองรอบที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าในการบินโฉบครั้งที่ 3 ซึ่งเป็นครั้งล่าสุด การเปลี่ยนแปลงของสีพื้นผิวในบริเวณที่เกิดการปะทุ สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านสีที่เข้มขึ้น และอาจเกิดจากเศษหินภูเขาไฟหรือตะกอนคลุมภูเขาไฟ

ภาพถ่ายของพายุที่ซีกใต้ของดาวพฤหัสบดีจากกล้องถ่ายภาพ JIRAM ของยานจูโน ซึ่งถูกนำมาใช้ปรับปรุงถ่ายภาพจุดความร้อนบนดวงจันทร์ไอโอเพื่อระบุตำแหน่งของภูเขาไฟ

ดวงจันทร์ไอโอยังคงมีความน่าสนใจในการศึกษาอีกมากมายที่รอการค้นพบอยู่ และด้วยการขยายภารกิจของยานจูโนเพื่อทำการสำรวจดวงจันทร์ทั้งสี่ของกาลิเลโอ ได้แก่ ยูโรปา แกนีมิด คาลิสโต และไอโอ จะทำให้มีการปรับวงโคจรของจูโนให้มีวงโคจรที่ผ่านเข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอทุกสองรอบการโคจร ซึ่งครั้งต่อไปที่ยานจูโนจะบินโฉบผ่านดวงจันทร์ไอโอคือวันที่ 3 มีนาคม 2025 ซึ่งจะเป็นการบินโฉบที่ระยะห่างและตำแหน่งเดิม ทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของจุดความร้อนแห่งนี้ได้

และนอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์จะยังติดตามจุดความร้อนแห่งนี้ผ่านการใช้กล้องโทรทรรศน์บนพื้นโลกเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของจุดความร้อนแห่งนี้อีกแรงหนึ่งด้วย ซึ่งนอกจากที่จุดความร้อนในครั้งนี้จะมโหฬารน่าตกตะลึงแล้ว มันยังอาจเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์สามารถทำความเข้าใจปรากฏการณ์ภูเขาไฟระเบิดบนพื้นโลกได้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดวงจันทร์ไอโอดาวพฤหัสบดีดาวพฤหัสสำรวจดาวพฤหัสบดีสำรวจดาวพฤหัสดาวพฤหัสฯยานจูโนจูโนยานอวกาศจูโนJunoนาซาองค์การนาซาNASAสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด