การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารแพลนต์ ไบโอเทคโนโลยี (Plant Biotechnology Journal) ระบุว่านักวิทยาศาสตร์จีนได้พัฒนาเทคนิคการแก้ไขยีนเพื่อลดความสูงของต้นข้าวโพด ซึ่งช่วยให้สามารถพัฒนาสายพันธุ์ที่มีขนาดกะทัดรัด ปลูกได้อย่างหนาแน่น และทนทานการหักล้ม
อนึ่ง ข้าวโพดเป็นธัญพืชที่มีการผลิตมากที่สุดในโลกและมีบทบาทสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารระดับโลก แม้การเพิ่มความหนาแน่นของการปลูกจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มผลผลิต แต่ความก้าวหน้าในการพัฒนาต้นข้าวโพดให้เตี้ยลงและแข็งแรงมากขึ้นนั้นยังมีข้อจำกัดเนื่องจากขาดทรัพยากรทางพันธุกรรม
การวิจัยดังกล่าวดำเนินการโดยสถาบันวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพ สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งประเทศจีน (CAAS) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรอันฮุย และมหาวิทยาเกษตรเซาท์ ไชน่า ทีมวิจัยมุ่งเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนยีนบีอาร์2 (Br2) ผ่านเทคนิคการแก้ไขยีนแบบกำหนดเป้าหมาย โดยออกแบบพาหะ (vector) สำหรับยับยั้งยีนบีอาร์2 และสามารถแยกสายพันธุ์ข้าวโพดตัดต่อพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์ที่แตกต่างกันออกมาได้ 7 สายพันธุ์
การทดลองผสมข้ามสายพันธุ์พบว่าลูกผสมทั้ง 28 สายพันธุ์ที่ได้จากการผสมกับสายพันธุ์ข้าวโพดชั้นยอดล้วนให้ผลผลิตที่มีลำต้นเตี้ย โดยทีมวิจัยยังได้พัฒนาระบบแก้ไขจีโนมโดยใช้ตัวเหนี่ยวนำแฮพลอยด์ (haploid) ซึ่งช่วยให้สามารถเปลี่ยนพืชแฮพลอยด์ให้กลายเป็นสายพันธุ์ดับเบิลแฮพลอยด์ที่เสถียรภายในสองรุ่น ส่งผลให้ลำต้นของสายพันธุ์ข้าวโพดชั้นยอด 3 สายพันธุ์ที่ผ่านการแก้ไขจีโนมมีความสูงลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
นักวิจัยจากสถาบันฯ ระบุว่าวิธีนี้ช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนความสูงของต้นข้าวโพดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำในพื้นฐานทางพันธุกรรมที่แตกต่างกัน และยังเป็นการสนับสนุนทางเทคนิคที่สำคัญสำหรับการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโพดที่เหมาะกับการเพาะปลูกหนาแน่นและทนทานการหักล้มได้ดีขึ้น
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua, chinadaily
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech