ชวนสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ วันที่ 16 ก.พ. นี้ “ดาวศุกร์สว่างที่สุด” (The Greatest Brilliancy) ครั้งแรกของปี 68
ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 16 ก.พ. 68 ดาวศุกร์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งที่ปรากฏสว่างที่สุด สังเกตได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำ จนถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ปรากฏสว่างเด่นชัดทางทิศตะวันตก คาดว่ามีค่าอันดับความสว่างปรากฏมากถึง -4.6 (ดวงจันทร์เต็มดวง มีค่าอันดับความสว่างปรากฏ -12) หากดูผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์
นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ปรากฏถัดลงมาใกล้ขอบฟ้า อีกทั้งยังมีดาวพฤหัสบดีปรากฏสว่างบริเวณกลางท้องฟ้า และดาวอังคารปรากฏสว่างเป็นสีส้มแดงทางทิศตะวันออกอีกด้วย หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสามารถชมความสวยงามของดาวศุกร์ และดาวเคราะห์ต่าง ๆ ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน
ดาวศุกร์สว่างที่สุด (The Greatest Brilliancy) คือช่วงที่ดาวศุกร์โคจรห่างจากโลกในระยะที่เหมาะสม และมีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ทำให้สะท้อนแสงได้มากที่สุด จึงปรากฏสว่างมากบนท้องฟ้า สำหรับในช่วงอื่น แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ที่ห่างจากโลก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
การที่เราเห็นดาวศุกร์เป็นเสี้ยวอยู่เสมอ เนื่องจากดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 2 ถัดจากดาวพุธ โคจรรอบดวงอาทิตย์ใกล้กว่าโลก จึงไม่สามารถเห็นดาวศุกร์สว่างเต็มดวงได้ เพราะจะปรากฏสว่างเต็มดวงเมื่ออยู่หลังดวงอาทิตย์ ดังนั้น คนบนโลกจึงมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุด 47.8 องศา เราจึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก สำหรับคนไทยจะมีชื่อเรียกดาวศุกร์ในแต่ละช่วงเวลาต่างกันไป ได้แก่ “ดาวประจำเมือง” คือ ดาวศุกร์ที่ปรากฏทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ และ “ดาวประกายพรึก” คือ ดาวศุกร์ที่ปรากฏทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด
สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์สว่างที่สุด ในครั้งที่ 2 ของปีนี้ จะปรากฏดาวศุกร์สว่างช่วงเช้ามืด ในวันที่ 24 เม.ย. 68 ปรากฏสว่างเด่น เห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. จนดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech