“กฎหมาย DPS” (Digital Platform Services) หรือ พ.ร.ฎ. การประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 21 ส.ค. 66 ในส่วนของผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น คาดว่าน่าจะมีการติดตามความเคลื่อนไหวและมีการทำความเข้าใจกับกฎหมายฉบับนี้อย่างต่อเนื่อง
สำหรับในมุมของผู้ใช้งานแพลตฟอร์มดิจิทัล อย่างผู้บริโภค ผู้ซื้อ พ่อค้าแม่ค้า ไปจนถึงไรเดอร์ จะได้รับประโยชน์อย่างไร ? Thai PBS Sci & Tech หาคำตอบมาให้แล้ว
จากการที่คนไทยมีการซื้อ-ขายของออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ให้เกิดสถานการณ์ที่เรียกว่า Network Effect ที่คุณค่าของสินค้าหรือบริการ ไม่ได้อยู่ที่คุณสมบัติ หรือราคา แต่อยู่ที่จำนวนของผู้ซื้อและผู้ขายในแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น ๆ จนทำให้อัลกอริทึมของแพลตฟอร์มเกิดการจัดอันดับและเลือกแนะนำสินค้า หรือบริการ จากร้านที่ได้รับความนิยมมากที่สุด แก่ผู้ซื้อโดยตรง โดยไม่สามารถรู้ได้เลยว่า แพลตฟอร์มนั้น ๆ ใช้เกณฑ์อะไรในการเลือก จนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า การให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลนั้น เหมาะสม โปร่งใส และมีความเป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน ทั้งในมุมของผู้ซื้อ และผู้ขาย จริงหรือไม่ ? นี่คือหนึ่งตัวอย่างของ Pain Point ที่เกิดขึ้นจริง ที่ไม่นับรวมประเด็นการถูกหลอก โกง สินค้าไม่ตรงปก ตะกร้าสินค้าหาย โดยไม่สามารถติดต่อหรือติดตามผู้รับผิดชอบได้ เป็นต้น
ดังนั้นจึงมี “กฎหมาย DPS” เข้ามาดูแลการให้บริการของแพลตฟอร์มดิจิทัลให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ทำให้โลกธุรกรรมออนไลน์เป็น Ecosystem ที่มีความปลอดภัยและมีความเชื่อมั่นน่าเชื่อถือนั่นเอง
โดยสาระสำคัญของ “กฎหมาย DPS” ฉบับนี้ ถ้าพูดให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ กำหนดให้ ผู้ให้บริการ หรือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล มีหน้าที่ในการมาจดแจ้งข้อมูลกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ว่าเป็นใคร ให้บริการอะไรและกำลังจะให้บริการอะไร และมีจำนวนผู้ใช้บริการอยู่เท่าไหร่ เป็นต้น เพราะว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยกำหนดให้เราว่า บริการใดบ้างที่มีความเสี่ยงสูงหรือต่ำ เพื่อนำไปสู่มิติของการดูแลความเสี่ยงที่เหมาะสม และกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมุ่งดูแลและคุ้มครองผู้ใช้บริการ ทั้งในมุมผู้บริโภค และผู้ขาย ภายใต้การส่งเสริมและการสนับสนุนให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมีการพัฒนาเพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) สำหรับเป็นกลไกในการกำกับดูแลธุรกิจบริการของตนเองได้อย่างเหมาะสม
สำหรับ “กฎหมาย DPS” เป็นกฎหมายที่กำกับดูแลผู้ให้บริการหรือผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเท่านั้น ฉะนั้นบุคคลที่เป็นผู้ซื้อ หรือผู้ขายภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ต้องมาจดแจ้งข้อมูลกับ ETDA
“กฎหมาย DPS” ทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการต่างได้ประโยชน์
กฎหมาย DPS นอกจากจะสร้างกลไกให้เกิดกรอบแนวทางปฏิบัติที่ดี (Best Practice) แก่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล จะได้มีแนวทางในการกำหนดทิศทาง วิธีการให้บริการและการดูแลควบคุมตัวเองที่เหมาะสมและมีมาตรฐานแล้ว ยังมีการกำหนดวิธีการลงทะเบียนผู้ใช้บริการด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อจัดการคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม การจัดการกับปัญหาการฉ้อโกงต่าง ๆ หรือ สแกมเมอร์ (Scammer) ที่สามารถระบุผู้กระทำได้ เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยส่งเสริมให้บริการแพลตฟอร์มมีความน่าเชื่อถืออีกด้วย นอกจากนี้ ในมุมของผู้ใช้บริการเอง ก็ยังได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน เช่น ร้านค้าบนแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่จะได้รับความชัดเจนในด้านข้อมูลต่าง ๆ ที่จำเป็น อาทิ เป็นบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลอะไร ข้อมูลการจัดอันดับ Ranking ร้านยอดนิยม ช่องทางในการติดต่อกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ในกรณีที่ถ้าเกิดปัญหาจากการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม ส่วนผู้ซื้อหรือผู้บริโภคทั่วไป ไม่เพียงแต่จะได้รับการบริการที่ดีและปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังได้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่มีลักษณะของการเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย (User Friendly) มีช่องทางในการติดต่อ หรือแม้แต่การยกเลิกออเดอร์ระหว่างทางก็สามารถทำได้ง่ายและเร็วขึ้น เป็นต้น
ขณะที่กลุ่มไรเดอร์ (Rider) ซึ่งเปรียบเสมือนคนกลางระหว่างผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น การหักค่า GP (Gross Profit) ที่อาจจะมีการปรับลดค่ารอบโดยไม่แจ้งล่วงหน้า ต้องทำรอบควบออเดอร์ ไม่มีความชัดเจนในการทำงาน เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ ก็จะได้รับการดูแลคุ้มครองและความเป็นธรรมในเรื่องของผลตอบแทนมากยิ่งขึ้น ขณะที่ หน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากในกฎหมายฉบับนี้มีกลไกสำคัญที่สุดคือ “การตั้งคณะกรรมการร่วม” ที่หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เกือบ 20 หน่วยงาน จะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงข้อมูลและระบบ ในการดูแลผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลร่วมกันอย่างบูรณาการ เพื่อให้ดำเนินงานในการกำกับดูแล ไม่เกิดการทับซ้อนระหว่างกัน และอำนวยความสะดวกให้กับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
--------------------------
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)