ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหาแรงงานไป ตปท. อ้างที่พัก-อาหารฟรี-มีโบนัส


Verify

23 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหาแรงงานไป ตปท. อ้างที่พัก-อาหารฟรี-มีโบนัส

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2218

ตรวจสอบพบ : เพจปลอมหาแรงงานไป ตปท. อ้างที่พัก-อาหารฟรี-มีโบนัส
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กประกาศรับสมัครแรงงานไปทำงานต่างประเทศ อ้างรายได้หลักแสนต่อเดือน แต่จากการตรวจสอบ พบนำภาพจากที่อื่นมาสร้างเพจขึ้น โดยมีผู้ดูแลอยู่ในบังกลาเทศและอินโดนีเซีย เตือนอย่าหลงเชื่อ

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงเพจเฟซบุ๊กปลอม

กระบวนการตรวจสอบ

จากการตรวจสอบพบว่า เฟซบุ๊กชื่อ "บริษัท.จัดหางานไปต่างประเทศ เพื่อให้แรงงานไทยมีอนาคตที่ดี" ลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊กประกาศรับสมัครแรงงานไปทำงานต่างประเทศ อ้างรายได้หลักแสนต่อเดือน (ลิงก์บันทึก)

ทั้งนี้พบว่าโฆษณาดังกล่าวทำให้มีผู้คนสนใจกดแสดงความรู้สึกเข้าไปถึง 9,900 ครั้ง รวมถึงสอบถามเข้าไปนับพันคนด้วยกัน

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพโฆษณาของเพจเฟซบุ๊กปลอม

เราทำการตรวจสอบภายในเพจดังกล่าวพบว่า เพจนี้มีการแนะนำตัวว่า “จัดส่งเเรงงานไปต่างประเทศทั่วไทย ถูกกฎหมาย” ภายในเพจมีการโพสต์หาแรงงานไปทำงานในประเทศต่าง ๆ โดยระบุว่า จัดหางานไปต่างประเทศ ออสเตรเลีย / เกาหลีใต้ / ญี่ปุ่น /ใต้หวัน
- ไม่ต้องเรียน ไม่ต้องสอบ
- มีงานรองรับ 
- รับ ช-ญ หรือ คู่รัก  
- การันตีรายได้ 90,000-150,000+บาท 
- สวัสดิการ 
- ที่พักฟรี อาศัยฟรี 
- มีอาหาร ให้กินฟรี ทำทานเองได้ 
- มีรถรับส่ง 
- โบนัสประจำปี
- แค่เตรียมกระเป๋ามีคนรับส่งถึงสนามบิน (ลิงก์บันทึก)

แต่เมื่อตรวจสอบไปยังความโปร่งใสของเพจพบว่า เพจดังกล่าวถูกสร้างเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2015 แต่ถูกเปลี่ยนชื่อจากเพจไปถึง 5 ครั้งด้วยกัน โดยมีผู้ดูแลอยู่ 4 ประเทศ ทั้ง ไทย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย และโมร็อกโก
 

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพความโปร่งใสของเพจที่พบว่ามีการเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายครั้ง

ขณะที่ภาพโปรไฟล์ที่เพจดังกล่าวนำมาลงนั้น จากการตรวจสอบด้วยเครื่องมือตรวจสอบภาพ Google Lens เราพบว่า มีการนำภาพมาจากเว็บไซต์อื่นมาลง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเพจ โดยเป็นภาพข่าวการเปิดโครงการสัมมนาสิทธิประโยชน์จากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ในพื้นที่ จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2566 (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอเพจปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพข่าวของเว็บไซต์แห่งหนึ่ง (ขวา)

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าว ถือว่ามีผู้สนใจส่งข้อความสอบถามจำนวนมาก โดยมีผู้ส่งข้อความเข้าไปสอบถามรายละเอียดของการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศว่ามีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ ซึ่งอาจเสี่ยงถูกหลอกให้สูญเสียทรัพย์จากการอ้างเป็นค่าดำเนินการ

ที่ผ่านมาเคยมีการนำเสนอกรณีเพจหลอกทำงานต่างประเทศมาแล้วหลายครั้งด้วยกัน เช่นที่นี่ และ นี่

พบผู้เสียหายนับสิบถูกหลอกเสียเงินแสน

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนหางานถูกหลอกให้ต้องจ่ายเงินเพื่อเป็นค่าดำเนินการเป็นเงินคนละ 150,000 – 200,000 บาท สุดท้ายเลื่อนกำหนดเดินทางออกไปเรื่อย ๆ และบ่ายเบี่ยงหากผู้เสียหายขอเงินคืน จนทำให้มีการรวมตัวแจ้งความ พบมูลค่าความเสียหายนับ 10 ล้านบาท 

เตือนเช็กให้ดีก่อนโอนเงิน

กรมการจัดหางานขอย้ำเตือนอีกครั้งว่า ก่อนตัดสินใจโอนเงินให้สายนายหน้าหรือผู้แทนบริษัทรายใด ขอให้ตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตให้จัดส่งคนหางานไปทำงานต่างประเทศ จากกรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน doe.go.th/ipd เสียก่อน เพราะปัจจุบันสาย-นายหน้ามีกลวิธีสร้างความน่าเชื่อถือ เพื่อหลอกลวงคนหางานหลายวิธี ดังนั้นจึงขอให้ตรวจสอบก่อนไป จะได้ไม่เสียใจและไม่เสียเงินในภายหลัง

ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (ต.ค – ธ.ค. 67) มีการดำเนินคดีสาย นายหน้าเถื่อนแล้ว 59 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 53 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย จำนวน 6,112,613 บาท ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สาธารณรัฐเกาหลี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแคนาดา ตามลำดับ

แนะ 5 วิธีไปทำงานต่างประเทศถูก กม.

ทั้งนี้ ผู้สนใจทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงได้ดังนี้

✅ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ
✅ ผ่านระบบ e - Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th 
✅ เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทย  ไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas 
✅ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร. 1506 กด 2 
✅ สายด่วนกรมการจัดหางาน โทร. 1694

แท็กที่เกี่ยวข้อง

หางานหางานต่างประเทศหางานออนไลน์มิจฉาชีพหลอกลวงออนไลน์หลอกลวงโฆษณาหลอกลวงโฆษณาปลอมเพจปลอม
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด