หลังจากการทำงานมามากกว่า 10 ปี กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาก็ถึงคราวสิ้นสุดภารกิจการสำรวจอวกาศลง กับกล้องทำแผนที่เอกภพด้วย Parallax ที่ดีที่สุดในโลก เปิดประตูบานใหม่สู่เทคโนโลยีกล้องโทรทรรศน์อวกาศเพื่อการทำแผนที่เอกภพที่ดียิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2025 ESA ได้ทำการประกาศยุติโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอา (Gaia) กล้องโทรทรรศน์อวกาศเพื่อการทำแผนที่ Parallax ที่ดีที่สุดในโลกเมื่อทศวรรษก่อนลงไป เนื่องจากเชื้อเพลิงในการหมุนและปรับวงโคจรของมันเหลือเพียงไม่กี่กรัมเท่านั้น ซึ่งทาง ESA ได้ออกมาประกาศวันยุติภารกิจของกล้องไกอาคือวันที่ 27 มีนาคม 2025 ที่จะถึงนี้
กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาถูกส่งออกสู่ห้วงอวกาศเมื่อ 19 ธันวาคม 2013 มันเป็นกล้องทำแผนที่เอกภพความละเอียดสูงด้วยเทคนิคพารัลแลกซ์ (Parallax) ที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮิปปาร์โคส (Hipparcos) ที่ถูกส่งออกไปทำแผนที่ดวงดาวความละเอียดสูงเมื่อปี 1989 การทำงานของกล้องไกอานั้นจะแบ่งกล้องออกเป็นทั้งหมดสองกล้องย่อย ทำหน้าที่สังเกตการณ์ที่มุมที่แตกต่างกัน กล้องย่อยทั้งสองตัวจะหมุนกวาดท้องฟ้าและบันทึกภาพมาคำนวณความแตกต่างของตำแหน่งดาว ประมวลผลออกมาเป็นระยะห่างของดวงดาวแบบสามมิติ
ในทศวรรษที่ผ่านกล้องไกอาได้สร้างภาพแผนที่สามมิติของกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีความละเอียดสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่งได้มอบความละเอียดที่สูงมากไว้โดยที่ประมาณ 6.7 ไมโครพิลิปดา (microarcsecond) ขณะที่กล้องฮิปปาร์โคสเคยมีความละเอียดสูงสุดอยู่ที่ 0.03 พิลิปดา (arcsecond) และมีกล้องถ่ายภาพความละเอียดสูงที่มีความคมชัดรวมกันทั้งสองกล้องที่ 937.8 เมกะพิกเซล
เนื่องจากหลักการทำงานของไกอาคือการหมุนรอบตัวเองระหว่างการถ่ายภาพดวงดาว ตัวกล้องจึงต้องพ่นก๊าซเพื่อรักษาระดับการหมุนพร้อมกับรักษาตำแหน่งของวงโคจรให้คงที่เพื่อให้สามารถบันทึกข้อมูลท้องฟ้าด้วยความละเอียดสูงสุดได้ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ากล้องจะสามารถทำงานได้ยาวนานกว่าที่ออกแบบไว้ได้นานมากกว่า 10 ปี
แต่เมื่อเดือนเมษายน 2024 กล้องไกอาก็ถูกพุ่งชนโดยอุกกาบาตขนาดจิ๋วส่งผลให้ม่านกันแดดของกล้องเสียหายและเกิดรูขนาดเล็กที่ทำให้แสงแดดจากดวงอาทิตย์ตรงเข้ามาทำลายเซนเซอร์ความละเอียดสูงของตัวกล้องส่งผลให้เกิดความเสียหายบางส่วน และในเดือนพฤษภาคม 2024 ตัวเซนเซอร์ของกล้องตัวหนึ่งก็พบกับปัญหาความล้มเหลวในการทำงาน ส่งผลให้ทางทีมวิศวกรต้องปรับโฟกัสของตัวกล้องใหม่เป็นครั้งสุดท้าย
ด้วยปัญหาที่เริ่มส่งผลกระทบกับตัวภารกิจที่มากขึ้นและเชื้อเพลิงที่ใช้งานทุกวันก็เหลือเพียงไม่กี่กรัมแล้วเท่านั้นทำให้ทาง ESA ตัดสินใจที่จะยุติภารกิจของไกอาลง และเปิดทางให้กับกล้องโทรทรรศน์อวกาศจัดทำแผนที่เอกภพรุ่นใหม่อย่างกล้อง Euclid และกล้อง Nancy Grace Roman ในการจัดทำแผนที่ดวงดาวต่อไป
ก่อนที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศไกอาจะหยุดทำงาน ทางวิศวกรจะดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดที่กล้องเก็บออกมาทั้งหมดและจะเผยแพร่ข้อมูลสุดท้ายที่ได้บันทึกไว้ภายในช่วงปี 2026 จวบจนไปถึงสิ้นของทศวรรษนี้ และจะปรับวงโคจรของกล้องไกอาไปยังวงโคจรของดาวเทียมหมดอายุขัย ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของภารกิจกล้องไกอา
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech