ESA ร่วมกับ Telesat ได้ทดลองเชื่อมต่อดาวเทียมในวงโคจรต่ำของโลก (Low Earth Orbit) กับศูนย์ควบคุมผ่านทางเครือข่าย 5G นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะทำให้การสื่อสารกับดาวเทียมนั้นง่ายเหมือนกับการเชื่อมต่อของเสาสัญญาณมือถือทั่วไป และการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียมเป็นไปได้จริงมากยิ่งขึ้น
ภาพจำของการสื่อสารผ่านทางดาวเทียมนั้นจะเป็นลักษณะของจานดาวเทียมขนาดใหญ่ที่ทำหน้ารับและกระจายสัญญาณวิทยุ แต่ด้วยเทคโนโลยีในทุกวันนี้ทำให้การสื่อสารผ่านดาวเทียมผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์พกพาขนาดเล็กเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น
ห้องปฏิบัติการ 5G/6G ของ ESA ที่ศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีอวกาศแห่งยุโรป (ESTEC) ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้เริ่มทำการทดลองเชื่อมต่อดาวเทียม LEO 3 ของ Telesat ด้วยโปรโตคอล 5G Non-Terrestrial Network (NTN) ผ่านย่านความถี่ Ka-band โดย LEO 3 เป็นดาวเทียมในกลุ่มวงโคจรต่ำ โดยการทดลองนี้เป็นไปเพื่อการศึกษาขีดความสามารถและความหน่วง (Latency) ของสัญญาณ รวมไปถึงการพัฒนาและออกแบบเสาส่งสัญญาณ
ถึงแม้ว่าจะเคยมีการทดลองส่งสัญญาณวิทยุขึ้นไปยังดาวเทียมที่อยู่ในวงโคจรค้างฟ้าหรือ Geostationary Orbit ด้วย Protocol 5G มาแล้ว แต่นี่นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งใหม่เนื่องจากดาวเทียมในกลุ่มวงโคจรต่ำนั้นมีความเร็วในการเคลื่อนที่สูงมากเมื่อเทียบกับผู้ใช้งานบนภาคพื้นดิน แต่การใช้งานสัญญาณ 5G กับดาวเทียมในกลุ่มวงโคจรต่ำนี้จะเพิ่มโอกาสและขีดความสามารถมากมายในการเชื่อมต่ออันเนื่องมาจากวงโคจรที่ต่ำกว่าวงโคจรค้างฟ้ามากถึง 10 เท่าทำให้ระยะเวลาที่สัญญาณเดินทางไป-กลับจากตัวดาวเทียมน้อยกว่า ความหน่วงของสัญญาณจึงน้อยกว่า เปิดโอกาสและความเป็นไปได้ของการบริการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ทางไกล การผ่าตัดจากระยะไกล การเข้าถึงการสื่อสารของพื้นที่ภัยพิบัติ หรือแม้แต่การให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครื่องบิน
การมาถึงของการให้บริการ 5G NTN ผ่านทางดาวเทียมวงโคจรต่ำจะเพิ่มขีดความสามารถของเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านอุปกรณ์พกพาให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมาทดแทนโครงสร้างพื้นฐานการกระจายสัญญาณโทรศัพท์ภาคพื้นดินไปได้ เนื่องมาจากสามารถสลับการใช้งานจากเครือข่ายภาคพื้นดินไปยังการส่งสัญญาณผ่านทางดาวเทียม ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ เช่น บนภูเขาสูงหรือในป่าทึบ และยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานติดตั้งเพิ่มเสาสัญญาณโครงสร้างพื้นฐานด้านเครือข่ายบนภาคพื้นดินได้อีกด้วย
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : ESA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech