ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เมื่อโพสต์ของคุณ อาจถูกเตือนว่าเป็น "ข้อมูลเท็จ"


Media Literacy

6 พ.ย. 65

กนกพร ประสิทธิ์ผล

Logo Thai PBS
แชร์

เมื่อโพสต์ของคุณ อาจถูกเตือนว่าเป็น "ข้อมูลเท็จ"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/22

เมื่อโพสต์ของคุณ อาจถูกเตือนว่าเป็น "ข้อมูลเท็จ"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

กลับมาไวรัลกันอีกครั้งกับโพสต์ที่กล่าวอ้างว่า “มะละกอ เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด” ตามภาพ จะเห็นว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์เนื้อหานี้เหมือน ๆ กัน ซึ่งคาดว่าจะเป็นการส่งต่อข้อความกันทาง LINE และถูกนำมาวางเป็นโพสต์บนเฟซบุ๊ก ด้วยข้อความชุดเดียวกัน แต่อาจมีภาพประกอบที่แตกต่างกัน หรืออาจวางลิงก์ที่มาจากเว็บไซต์อื่น ๆ (รวมโพสต์บนเฟซบุ๊กที่มีข้อความคำกล่าวอ้างของ WHO เรื่องมะละกอ ที่นี่ )

แต่ปรากฏว่า ผู้อ่านโพสต์นี้จะเห็นกรอบข้อความเตือนด้านล่างว่ามีเนื้อหาบางส่วนเข้าข่ายเป็นเท็จ หรือไม่ถูกต้องนั่นเอง

ทำไมถึงมีข้อความเตือนว่าข้อมูลบางส่วนอาจเป็นเท็จ?   

..ข้อความเตือนดังกล่าว จะปรากฏขึ้นอัตโนมัติเพื่อเตือนผู้ใช้เฟซบุ๊กที่อ่านโพสต์นี้ว่า ข้อมูลในโพสต์นี้อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด หรืออาจเสี่ยงกับข้อมูลที่เป็น Fake News นั่นเอง โดยสำนัก ข่าว AFP เป็นหน่วยงานที่ร่วมมือกับเฟซบุ๊กในโครงการตรวจสอบข่าวและข้อมูลเท็จ จะตรวจสอบเนื้อหาที่แสดงผลอยู่บนเฟซบุ๊ก และมีข้อความเตือนเมื่อพบโพสต์ที่เข้าข่ายตรงกับชุดคำที่ AFP ป้อนไว้ในระบบ เรียกว่าเป็นคอนเทนต์ติดเรต

“มะละกอ ได้รับการคัดเลือกจาก WHO (องค์การอนามัยโลก) เป็นปีที่ 2 ติดต่อกันให้เป็นผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงสุด”

ข้อความนี้เป็นคำบรรยายโพสต์ที่ทาง AFP มองว่าเป็นคำกล่าวอ้างที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ไม่ได้จัดอันดับคุณค่าทางโภชนาการของผลไม้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพกล่าวว่า การเปรียบเทียบคุณค่าทางโภชนาการของมะละกอและผลไม้ชนิดอื่นนั้นอาจสร้างความเข้าใจผิดได้  หากโพสต์ใดที่มีข้อความลักษณะนี้ ระบบจะตรวจจับคำและขึ้นข้อความแจ้งเตือนดังกล่าว ซึ่งอาจแสดงเป็นภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ ขึ้นอยู่กับการตั้งค่าภาษาของชื่อบัญชีเฟซบุ๊กแต่ละบุคคล 

โดย AFP ได้เขียนข้อมูลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของทุกเคส ไว้ในเว็บไซต์ กรณีข้อมูลเรื่องมะละกอนี้ก็เช่นกัน สามารถคลิกอ่านเหตุผล ที่มาที่ไปของการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ ที่นี่

นั่นหมายความว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านใดที่มีโพสต์ข้อความดังกล่าว และไม่ว่าจะมีภาพประกอบใด ๆ หรือมีการแทรกลิงก์วิดีโอยูทูปจาก Thai PBS  ก็จะปรากฏข้อความเตือนจาก AFP เช่นกัน แต่เป็นการแจ้งเตือนในข้อความโพสต์ มิใช่ข้อผิดพลาดในเนื้อหาของคลิปหรือภาพประกอบแต่อย่างใด  ซึ่งถ้าได้ชมคลิปจากรายการคนสู้โรคชิ้นนี้ https://youtu.be/GRNgsdl41_A

ซึ่งออกอากาศเมื่อ เดือนมิถุนายน 2560 จะเห็นว่าคลิปนี้เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเคล็ดลับการเลือกมะละกอ เทคนิคการรับประทานให้มีประโยชน์ และคุณค่าของผลไม้ชนิดนี้จาก ศ.(วุฒิคุณ) ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ไม่ได้มีการกล่าวถึงกรณี องค์การอนามัยโลกได้คัดเลือกมะละกอเป็น “ผลไม้ที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากที่สุด” แต่อย่างใด

วิธีแก้ไขไม่ให้เกิดข้อความเตือน “ข้อมูลบางส่วนเป็นเท็จ” บนโพสต์ของเรา   

หากไม่ต้องการให้เพื่อนหรือผู้อ่านโพสต์ของเรามาเจอคำเตือนเช่นนี้ เราต้องทำการแก้ไขข้อความให้เป็นเนื้อหาที่ถูกต้อง หรือความหมายที่ถูกต้อง ที่สำคัญเราควรตรวจสอบข้อเท็จจริง หาแหล่งอ้างอิงโพสต์ที่น่าเชื่อถือ แล้วทำการแชร์โพสต์นั้น ๆ มา ดีกว่าที่จะใช้ข้อความที่ส่งต่อกันมาโพสต์เอง รวมถึงการใช้ภาพหรือวิดีโอประกอบ ก็ต้องมีการตรวจสอบจากแหล่งต้นทางว่าได้กล่าวถึงเรื่องเดียวกันกับเนื้อหาที่เราโพสต์หรือไม่

อีกหนึ่งการเท่าทันสื่อ ที่แชร์กันมาในโลกออนไลน์ แพลตฟอร์มมีเครื่องมือที่ไว้เตือน และเราต้องหมั่นให้ความสำคัญกับการดูรายละเอียดคำเตือนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Community StandardFake Newsข่าวปลอมรู้เท่าทันสื่อออนไลน์
กนกพร ประสิทธิ์ผล
ผู้เขียน: กนกพร ประสิทธิ์ผล

ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล / เว็บมาสเตอร์ไทยพีบีเอส

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด