ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“กินเผ็ด” ทำไม ? น้ำมูกไหล


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

27 ม.ค. 68

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“กินเผ็ด” ทำไม ? น้ำมูกไหล

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2240

“กินเผ็ด” ทำไม ? น้ำมูกไหล
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

บางคนโปรดปรานการกินเผ็ด - อาหารรสจัด เพื่อเพิ่มรสชาติในการรับประทาน ก่อเกิดปฏิกิริยาต่าง ๆ กับตัวเอง เช่น ความรู้สึกอิ่มเอมใจ หัวใจเต้นแรง ลิ้นชา ท้องไส้ปั่นป่วน แต่นอกจากที่กล่าวมา กินเผ็ด – อาหารรสจัด ยังทำให้เราหลั่งน้ำตาแห่งความเผ็ด – ความสุข รวมถึง “น้ำมูกไหล” ได้ด้วย ซึ่งจะเพราะอะไรกันนะ Thai PBS Sci & Tech จะพาไปพบกับสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความเผ็ด & แสบสะท้านกระเพาะ

ทำไม ? กินเผ็ดแล้วน้ำมูกไหล

รู้ไหมว่าอาหารที่มี “รสเผ็ด” สามารถเรียกน้ำย่อยของเราได้เป็นอย่างดี เพราะอาหารรสเผ็ดร้อนส่วนใหญ่มีพริกเป็นส่วนประกอบ โดยมี “สารแคปไซซิน” (Capsaicin) ในเมล็ด บริเวณแก่นสีขาวใจกลางพริก และกระจายทั่วเนื้อพริก นอกจากนี้ ในพืชอื่น ๆ เช่น วาซาบิ และมัสตาร์ด มี “สารอัลลิล ไอโซไธโอไซยาเนต” (allyl isothiocyanates) เป็นสารประกอบระเหยง่าย ซึ่งสารดังกล่าวจะทำให้เรารู้สึกเผ็ดร้อน จนเกิดความระคายเคือง และยังทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทในเยื่อบุโพรงจมูก ร่างกายจึงตอบสนองกับอาการนี้ด้วยการปล่อยน้ำมูกที่ผลิตจากเยื่อผิวในช่องจมูกออกมา เพื่อไปจับกับสิ่งแปลกปลอมและขับออกไปจากระบบทางเดินหายใจ คือที่มาของอาการน้ำมูก - น้ำตาไหล เวลาที่เรารับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดนั่นเอง

จึงมีการนำประโยชน์ดังกล่าวจากสาร “แคปไซซิน” มาใช้ ในคนที่เป็นหวัด คัดจมูก เพราะเมื่อเรารับประทานอาหารที่มีรสเผ็ด และน้ำมูกไหล จะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น ระบบทางเดินหายใจโล่งขึ้น นอกจากนี้สารแคปไซซินยังสามารถช่วยป้องกันไข้หวัด ลดน้ำมูก ละลายเสมหะ ทำให้หลอดลมขยายตัวได้ดีอีกด้วย

ทำไม ? อาหารรสเผ็ดจึงให้ความรู้สึก “เผ็ด”

สารเคมีเหล่านี้ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกของร่างกาย เยื่อบุภายในของอวัยวะบางส่วนและโพรงในร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร ปอด ปาก ตา และจมูก การตอบสนองจากการระคายเคืองจะเกิดขึ้นจากสารเคมีที่ไปจับกับตัวรับบางชนิดในเยื่อเมือกซึ่งถูกกระตุ้นด้วยความเจ็บปวดและความร้อน ในกรณีของแคปไซซิน ตัวรับนี้คือตัวรับ TRPV1 (Transient Receptor Potential Vanilloid 1 : มีบทบาทในการรับความรู้สึก ทำหน้าที่เป็นเซนเซอร์ต่อความร้อนและสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย)

เมื่อร่างกายและสมองถูกทำให้เชื่อว่าเรากำลังตกอยู่ในอันตราย จึงสั่งให้เยื่อหุ้มเซลล์ขับเมือกออกมามากขึ้นเพื่อขับสิ่งแปลกปลอมออกไป จากนั้นเราจึงเริ่มมีน้ำลายไหล น้ำตาไหล และจมูกเริ่มมีน้ำมูกไหลออกมา

และแม้ว่าเราจะกิน - ไม่ได้สูดดมอาหารรสเผ็ด แต่จมูกก็อาจถูกกระตุ้นให้ตอบสนองได้ เนื่องจากเส้นประสาทรับความรู้สึกในปากและลำคอ มีเส้นทางร่วมกับเส้นประสาทในโพรงจมูกนั่นเอง

ทำไม ? หลายคนจึงชอบกินเผ็ด

ทั้งนี้ “ต้นพริก” ผลิตสาร “แคปไซซิน” เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์กินพริกเข้าไป แต่ที่น่าสนใจคือ “แคปไซซิน” จะระคายเคืองเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเท่านั้น ดังนั้น นกจึงสามารถกินพริกที่เผ็ดร้อนได้สบายหายห่วงโดยไม่ต้องกลัวเผ็ด เนื่องจากตัวรับ TRPV1 ของนกแตกต่างจากมนุษย์

ส่วนคำถามที่ว่าทำไม ? หลายคนจึงชอบกินเผ็ดนั้น เหตุผลอาจเป็นเพราะ “ความเผ็ด” ไปกระตุ้นตัวรับความเจ็บปวดให้เกิดการตอบสนองต่อ “ความเครียด” จนนำไปสู่การกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารเคมีที่ทำให้รู้สึกดี เช่น เอนดอร์ฟิน (Endorphin) และโดพามีน (Dopamine) เป็นต้น

ดังนั้น หากใครกำลัง “เครียด” อยู่ Thai PBS Sci & Tech ขอแนะนำกินเผ็ด – อาหารรสจัด เป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อช่วยในการขจัด “ความเครียด” ของคุณ

Did you know : มนุษย์และกระแตเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเพียง 2 ชนิดเท่านั้น ที่แสวงหาความเผ็ดร้อนของสารแคปไซซิน


อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ, iflscience

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

กินเผ็ดรสเผ็ดเผ็ดพริกเผ็ดน้ำมูกไหลวาซาบิมัสตาร์ดพริกแคปไซซินสารแคปไซซินCapsaicinวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด