LignoSat ดาวเทียมที่มีโครงสร้างจากไม้ดวงแรกของโลก ถูกปล่อยออกสู่อวกาศปฏิบัติภารกิจนอกอวกาศแล้ว เพื่อความเป็นไปได้ใหม่ของดาวเทียมที่รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2024 ที่ผ่านมา LignoSat ดาวเทียมที่มีโครงสร้างทำมาจากไม้ดวงแรกของโลกถูกปล่อยออกสู่ห้วงอวกาศผ่านทางสถานีอวกาศนานาชาติ ดาวเทียมดวงนี้เป็นดาวเทียมจาก JAXA ประเทศญี่ปุ่น สำหรับทดลองคุณสมบัติของโครงดาวเทียมเทียมที่ทำมาจากไม้เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ที่รักษ์โลกมากยิ่งขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์พบว่าเศษฝุ่นอะลูมิเนียมและโลหะประเภทต่าง ๆ ที่เกิดจากการเผาไหม้ของดาวเทียมหรือขยะอวกาศ ทำปฏิกิริยากับชั้นโอโซนในบรรยากาศของโลก ทำให้ชั้นโอโซนบางลง อีกทั้งฝุ่นจากโลหะนั้นยังสามารถลอยในชั้นบรรยากาศระดับสูงได้นานหลักเดือนถึงปี ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายกับชั้นบรรยากาศของโลกในระยะยาว
ดาวเทียม LignoSat นี้เกิดจากความต้องการหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของญี่ปุ่นในการแปรรูปอุตสาหกรรมไม้ในประเทศผนวกกับความต้องการปกป้องชั้นบรรยากาศของโลกจากการถูกทำลายโดยขยะอวกาศที่นับวันนั้นมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะเมื่อวัสดุของดาวเทียมที่ทำมาจากไม้ตกลงสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ไม้จะถูกเผาไหม้และเหลือเพียงแต่คาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น จึงเป็นมิตรกับชั้นโอโซนมากกว่าการใช้โลหะอย่างอะลูมิเนียม
ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองปล่อยวัสดุจากไม้ประเภทต่าง ๆ ไว้ภายนอกอวกาศนานถึง 1 ปี ซึ่งผลจากการทดลองพบว่าไม้ทั้งหมดนั้นอยู่ในสภาพที่ดี ไม่มีร่องรอยความเสียหายจากการอยู่ด้านนอกอวกาศเนื่องจากนอกอวกาศไม่ได้มีสิ่งมีชีวิตที่สามารถแทะทำลายเนื้อไม้ได้เหมือนกับบนโลก ซึ่งทาง JAXA ก็ได้เลือกไม้จากต้นฮิโนกิแมกโนเลีย (Hinoki Magnolia) มาใช้ในการสร้างดาวเทียม LignoSat ขึ้นมา
ดาวเทียม LignoSat เป็นดาวเทียม CubeSat ขนาด 1U ถูกกำหนดให้ออกสู่ห้วงอวกาศโดยผ่านการปล่อยโดยสถานีอวกาศนานาชาติ เป้าหมายหลักของดาวเทียมดวงนี้คือการสาธิตความเป็นไปได้ของการใช้งานไม้ในการเป็นโครงดาวเทียม อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ภายใน LignoSat นั้นจะทำงานในการตรวจจับระดับความเครียดทางฟิสิกส์ของเนื้อไม้ที่เป็นวัสดุหลักของดาวเทียม การตอบสนองความร้อนและรังสีในอวกาศ และประเมินว่าสนามแม่เหล็กของโลกสามารถทะลุผ่านตัวดาวเทียมและส่งผลกระทบกับระบบคอมพิวเตอร์ในดาวเทียมหรือไม่ ซึ่งการทดลองนี้จะนำไปสู่วัสดุใหม่ที่หาได้ง่ายและเป็นมิตรกับโลกมากยิ่งขึ้นสำหรับการสำรวจอวกาศ
เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล
พิสูจน์อักษร ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
ที่มาข้อมูล : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech